การเตรียมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 22, 2010 13:49 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกับความเห็นของ ก.พ.ร. เพื่อสำนักงบประมาณจะได้ใช้เป็นแนวทางในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2555 ต่อไป ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ ดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

สำนักงาน ก.พ.ร. รายงานว่า ก.พ.ร. พิจารณาแล้วมีความเห็นในเรื่องการเตรียมการจัดทำงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ดังนี้

1. โดยที่มาตรา 76 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 บัญญัติว่า “คณะรัฐมนตรีต้องจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อแสดงมาตรการและรายละเอียดของแนวทางในการปฏิบัติราชการในแต่ละปีของการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ” ประกอบกับในเรื่องการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดินได้บัญญัติไว้ในมาตรา 13 มาตรา 14 และมาตรา 16 แห่งพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ซึ่งมาตรา 13 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีจัดให้มีแผนการบริหารราชการแผ่นดินตลอดระยะเวลาการบริหารราชการของคณะรัฐมนตรี ซึ่งจากบทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่า ในการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดินให้ครอบคลุมตลอดระยะเวลาการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีเท่านั้น คณะรัฐมนตรีจึงไม่อาจจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดินเกินกว่าระยะเวลาการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีได้แต่อย่างใด

2. ส่วนมาตรา 14 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ที่กำหนดให้จัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดินเป็นแผนสี่ปี โดยนำนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภามาพิจารณาดำเนินการให้สอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และแผนพัฒนาประเทศด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ อย่างน้อยจะต้องมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ของงาน ส่วนราชการหรือบุคคลที่จะรับผิดชอบในแต่ละภารกิจ ประมาณการรายได้และรายจ่ายและทรัพยากรต่างๆ ที่จะต้องใช้ระยะเวลาการดำเนินการ และการติดตามประเมินผลนั้น ก.พ.ร. เห็นว่า การที่กำหนดให้จัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดินเป็นแผนสี่ปีนั้นเป็นเพียงการกำหนดกรอบระยะเวลาในการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของคณะรัฐมนตรีตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉะนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันได้เข้าดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2551 และแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551 โดยจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 22 ธันวาคม 2554 ซึ่งมีระยะเวลาประมาณ 3 ปี ฉะนั้น ในการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดินก็จะต้องจัดทำเท่ากับระยะเวลาการบริหารราชการแผ่นดินดังกล่าวข้างต้น ด้วยเหตุนี้ การจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2552—2554 ของคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันจึงถูกต้องและเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 76 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

3. ส่วนมาตรา 16 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ที่กำหนดให้ส่วนราชการจัดทำแผนปฏิบัติราชการของส่วนราชการนั้น โดยจัดทำเป็นแผนสี่ปี ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับแผนการบริหารราชการแผ่นดิน และในแต่ละปีงบประมาณ ให้ส่วนราชการจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปี โดยให้ระบุสาระสำคัญเกี่ยวกับนโยบายการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ เป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ของงาน รวมทั้งประมาณการรายได้และรายจ่ายและทรัพยากรอื่นที่จะต้องใช้ เสนอต่อรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ เมื่อรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติราชการของส่วนราชการใดตามวรรคสองแล้ว ให้สำนักงบประมาณดำเนินการจัดสรรงบประมาณเพื่อปฏิบัติงานให้บรรลุผลสำเร็จในแต่ละภารกิจตามแผนปฏิบัติราชการดังกล่าว และในกรณีที่ส่วนราชการมิได้เสนอแผนปฏิบัติราชการในภารกิจใดหรือภารกิจใดไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี มิให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณสำหรับภารกิจนั้น ซึ่งการที่บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดไว้เช่นนั้นก็เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีของส่วนราชการต่างๆ ต้องถือปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวด้วย

4. อย่างไรก็ดี โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มิได้บัญญัติให้การจัดทำงบประมาณเชื่อมโยงกับการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดินแต่อย่างใด และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า แผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 — 2554 ของคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน ครอบคลุมตลอดวาระการดำรงตำแหน่งของคณะรัฐมนตรี แม้ว่าในหน้า 138 ได้ประมาณการรายได้และรายจ่ายไว้ถึงปีงบประมาณ 2554 ก็ตาม แต่เมื่อเป็นกรณีที่ไม่อาจดำเนินการตามมาตรา 16 ดังกล่าว เนื่องจากระยะเวลาตามแผนบริหารราชการแผ่นดินสิ้นสุดลงก่อนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 จะแล้วเสร็จ และการกำหนดขั้นตอนดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลของฝ่ายบริหารในการจัดทำงบประมาณ กรณีจึงมิใช่เป็นเหตุที่จะทำให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่อาจกระทำได้ไปด้วย เพราะการจัดทำงบประมาณรายจ่ายต้องตราเป็นพระราชบัญญัติซึ่งมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมาย และเป็นการดำเนินการที่จำเป็นต้องจัดให้มีขึ้นเพื่อเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สำนักงบประมาณจึงมีหน้าที่ดำเนินการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ต่อไป โดยคำนึงถึงแผนบริหารราชการแผ่นดินและแผนปฏิบัติราชการที่มีอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของคณะรัฐมนตรีได้โดยไม่ต้องดำเนินการตามมาตรา 16 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

5. ก.พ.ร. มีข้อสังเกตเพิ่มเติมด้วยว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว จึงเห็นควรที่สำนักงาน ก.พ.ร. จะได้นำคำวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้น ไปเขียนเพิ่มเติมในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไปด้วย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 ธันวาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ