มาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 — 28 กุมภาพันธ์ 2554)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 22, 2010 13:56 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ขยายระยะเวลาดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนออกไป โดยให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากมาตรการฯ ดังกล่าวต่อไปจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 ตามหลักการดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนเพื่อบรรเทาปัญหาค่าครองชีพของประชาชน และให้รัฐวิสาหกิจที่รับผิดชอบดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของ ประชาชน ได้แก่ กฟน. กฟภ. ขสมก. และ รฟท. กู้เงินเพื่อชดเชยรายได้จากการดำเนินการตามมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ในช่วงขยายระยะเวลา (ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 52- 30 ก.ย. 53) และให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อชำระคืนเงินต้น ดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าใช้จ่ายในการกู้เงินให้กับรัฐวิสาหกิจทั้ง 4 แห่งต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง/ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

1. ผลกระทบต่อรัฐวิสาหกิจ

การดำเนินงานตามมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนทำให้รัฐวิสาหกิจมีภาระหนี้สินจากการกู้เงินเพื่อชดเชยรายได้จากการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวเป็นจำนวนมาก เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถจัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยรายได้โดยทันที ซึ่งรัฐวิสาหกิจมีเงินกู้ยืมเพื่อชดเชยรายได้จำนวน 36,182.82 ล้านบาท ซึ่งได้รับการจัดสรรชดเชยจากสำนักงบประมาณแล้ว จำนวน 15,896.78 ล้านบาท หรือร้อยละ 44.92 ดังนั้น หากมีการขยายมาตรการฯ ต่อไป จะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องประสิทธิภาพการให้บริการและผลประกอบการของรัฐวิสาหกิจ ดังนี้

             รัฐวิสาหกิจ        เงินกู้ยืมเพื่อชดเชย         เงินที่ได้รับการชดเชย          ร้อยละของเงิน
                             รายได้ (ล้านบาท)                 (ล้านบาท)        ที่ได้รับการชดเชย
             กฟน.                  1,778.51                      962                54.09
             กฟภ.                 20,845.58                 6,735.15                32.31
             ขสมก.                 4,242.44                 1,202.64                28.35
             รฟท.                  1,676.87                    487.7                29.08
             กปน.                  2,691.76                 1,551.63                58.64
             กปภ.                  4,957.66                 4,957.66                  100
             รวม                  36,182.82                15,896.78                44.92

ทีมา: กฟน. กฟภ. ขสมก. รฟท. กปน. และ กปภ.

2. ผลกระทบต่อภาระทางการคลัง

การดำเนินการตามมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนในช่วง (ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552 — วันที่ 30 กันยายน 2553) ก่อให้เกิดภาระทางการคลังที่รัฐต้องชดเชยให้กับรัฐวิสาหกิจรวมทั้งสิ้นจำนวน 36,182.82 ล้านบาท หรือเฉลี่ยเดือนละ 1,809.64 ล้านบาท ซึ่งสำนักงบประมาณได้จัดสรรเงินชดเชยให้กับรัฐวิสาหกิจแล้วจำนวน 15,896.78 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 44.92 ของวงเงินชดเชยทั้งหมด

3. ขยายระยะเวลาการดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน

อย่างไรก็ดี การดำเนินมาตรการฯ ในช่วงที่ผ่านมา สามารถแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของประชาชนได้โดยตรง ประกอบกับมีประชาชนจำนวนมากที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการฯ กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว เห็นสมควรขยายระยะเวลาการดำเนินมาตรการฯ ดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญดังนี้

3.1 หลักการดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน

(1) มาตรการลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าของครัวเรือน ดำเนินการผ่าน กฟน. และ กฟภ. โดยภาครัฐรับภาระค่าใช้จ่ายการใช้ไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน และสำหรับผู้เช่าอาศัยในอาคารชุดหรือห้องเช่าที่ผู้ประกอบการถูกต้องตามกฎหมาย เป็นอาคารชุดหรือห้องเช่าที่มีระดับราคาเช่าไม่เกิน 3,000 บาท/ห้อง/เดือน และใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยไม่เกิน 90 หน่วย/เดือน/ห้อง และได้ลงทะเบียนไว้กับ กฟน. และ กฟภ.

(2) มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางรถโดยสารประจำทาง ดำเนินการผ่าน ขสมก. โดยภาครัฐรับภาระค่าใช้จ่ายการจัดรถโดยสารประจำทางธรรมดาจำนวน 800 คันต่อวัน ใน 73 เส้นทางให้บริการแก่ประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

(3) มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางโดยรถไฟชั้น 3 ดำเนินการผ่าน รฟท. โดยภาครัฐรับภาระค่าใช้จ่ายการจัดรถไฟชั้น 3 เชิงสังคม จำนวน 164 ขบวนต่อวัน และรถไฟชั้น 3 ระยะทางไกล ในขบวนรถเชิงพาณิชย์จำนวน 8 ขบวนต่อวัน ให้บริการแก่ประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

3.2 ระยะเวลาในการดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 — 28 กุมภาพันธ์ 2554

3.3 ค่าใช้จ่ายในการขยายการดำเนินมาตรการฯ ประมาณการวงเงินค่าใช้จ่ายรวม 3,085.88 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

                 มาตรการลดค่าใช้จ่าย            หน่วยงานที่รับผิดชอบ                ค่าใช้จ่าย

(ล้านบาท)

                 ไฟฟ้าของครัวเรือน              กฟน.                            261.78
                                             กฟภ.                          2,226.66
                                             รวม                           2,488.44
                 เดินทางรถโดยสารประจำทาง      ขสมก.                           419.78
                 เดินทางโดยรถไฟชั้น 3           รฟท.                            176.66

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ที่มา: กฟน. กฟภ. ขสมก. และ รฟท.

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 ธันวาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ