คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ครั้งที่ 12/2553 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2553 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยให้กระทรวงพาณิชย์รับข้อเสนอแนะของกระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงพาณชิย์ (พณ.) รายงานว่า
1. กรอบยุทธศาสตร์การระบายข้าวสารฯ ที่กขช. ได้ให้ความเห็นชอบและคณะรัฐมนตรีรับทราบแล้ว (มติคณะรัฐมนตรี 29 มิถุนายน 2553) ได้กำหนดแนวทางการระบายข้าวสารไว้ 5 วิธี คือ 1) การเจรจาขายแบบรัฐต่อรัฐ (G To G) 2) การขายในตลาดซื้อ-ขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (AFET) 3) การขายเป็นการทั่วไปให้กับผู้ประกอบการในประเทศ 4) การขายข้าวให้กับองค์กร/หน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อสาธารณะประโยชน์ และ 5) การบริจาคข้าวในกรณีที่เหมาะสมเพื่อเป็นการรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ ซึ่งในกรณีการเจรจาขายแบบรัฐต่อรัฐในส่วนของเกณฑ์ราคาได้กำหนดให้เจรจาขายเป็นราคา FOB (Free on Board) โดยอ้างอิงราคาส่งออก FOB เฉลี่ยของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและเทียบเคียงราคาส่งออกของประเทศคู่แข่งขัน โดยพิจารณาความแตกต่างเฉลี่ย (Spread) ของราคาส่งออกข้าวไทยกับประเทศคู่แข่งในอดีตที่ผ่านมา
2. พณ. โดยกรมการค้าต่างประเทศอยู่ในระหว่างการเจรจาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐกับรัฐบาลต่างประเทศ โดยได้ยึดตามหลักเกณฑ์และแนวทางตามกรอบยุทธศาสตร์การระบายข้าวสารฯ ในการเจรจาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐในราคาเทอม FOB แต่ในขณะนี้มีรัฐบาลหลายประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย บังคลาเทศ มาเลเซีย ไนจีเรีย เซเนกัล เป็นต้น ได้แสดงความประสงค์ขอเจรจาซื้อขายข้าวกับไทยในราคาเทอม CFR (Cost & Freight) เนื่องจากมีความสะดวกในการซื้อมากกว่าราคาเทอม FOB ดังนั้น การเจรจาเสนอราคาขายเทอม FOB ของไทยในบางครั้งจึงไม่สอดคล้องกับความประสงค์ของประเทศผู้ซื้อที่ต้องการซื้อข้าวในราคาเทอม CFR ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาให้เป็นผลสำเร็จได้
3. พณ. ได้นำเสนอเรื่องการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐในเทอม CFR ตามบัญชาของรองนายกรัฐมนตรี (นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี) ในฐานะรองประธาน กขช. ต่อที่ประชุม กขช. ครั้งที่ 12/2553 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2553 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบการกำหนดหลักการเพิ่มเติมในส่วนของเกณฑ์ราคาสำหรับกรณีการเจรจาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐว่าให้สามารถเจรจาขายได้ทั้งในราคาเทอม FOB หรือ CFR ดังนี้
3.1 ในอดีตที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ขายข้าวในราคาเทอม CFR ให้แก่รัฐบาลต่างประเทศ ได้แก่ เซเนกัล ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น ดังนั้น การขายในราคา CFR จึงเป็นแนวทางที่ไทยเคยดำเนินการ โดย พณ. ได้มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการจัดหาเรือขนส่งข้าวให้รัฐบาลต่างประเทศ ซึ่งมีรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นประธาน เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2527
3.2 หากรัฐบาลไทยสามารถสนองความต้องการของผู้ซื้อโดยเสนอขายข้าวในราคาเทอม CFR จะเป็นประโยชน์ต่อสถานการณ์การส่งออกข้าวโดยรวมของประเทศ ดังนี้
3.2.1 ขยายตลาดข้าวไทยของประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ของโลกในเอเชีย เช่น ฟิลิปปินส์ (นำเข้าข้าวเฉลี่ยปีละ 2.2 ล้านตัน) อินโดนีเซีย (นำเข้าข้าวเฉลี่ยปีละ 512,000 ตัน) และบังคลาเทศ (นำเข้าข้าวเฉลี่ยปีละ 740,000 ตัน) ซึ่งต้องการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐในเทอม CFR ทั้งนี้ ในช่วงปี 2550 — 2552 ปริมาณการส่งออกข้าวไทยไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียลดลงอย่างต่อเนื่อง
3.2.2 รักษาส่วนแบ่งตลาดข้าวของไทยในตลาดที่สำคัญ เช่น ภูมิภาคแอฟริกา ซึ่งเป็นตลาดข้าวที่ใหญ่ที่สุด โดยนำเข้าข้าวจากไทยเฉลี่ยปีละ 4.39 ล้านตัน โดยในขณะนี้หลายประเทศในแอฟริกาได้แสดงความสนใจนำเข้าข้าวจากไทยในรูปแบบรัฐต่อรัฐ เช่น ไนจีเรีย (นำเข้าข้าวเฉลี่ยปีละ 1.85 ล้านตัน) เซเนกัล (นำเข้าข้าวเฉลี่ยปีละ 740,000 ตัน)
3.2.3 เกิดความยืดหยุ่นในการเจรจาจากการที่ไทยสามารถเจรจาขายข้าวได้ ทั้งเทอม FOB และ CFR ทำให้สามารถแข่งขันกับประเทศผู้ส่งออกรายอื่นได้ เช่น เวียดนามและอินเดีย ที่มีการขายข้าวเทอม CFR เป็นปกติอยู่แล้ว นอกจากนี้ภาคเอกชนได้มีการขายข้าวเทอม CFR ให้กับลูกค้าต่างประเทศเช่นกัน
3.3 อย่างไรก็ตาม การขายข้าวในราคาเทอม CFR รัฐบาลไทยจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดหาเรือเพื่อขนส่งสินค้าไปยังประเทศผู้ซื้อ จึงอาจมีขั้นตอนในการดำเนินการและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ในการบริหารจัดการจะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบและเท่าทันต่อสถานการณ์การค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
3.4 กขช. ได้มีการประชุมครั้งที่ 12/2553 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2553 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี) เป็นประธาน และมีมติเห็นชอบการกำหนดหลักการเพิ่มเติมในส่วนของเกณฑ์ราคาสำหรับกรณีเจรจาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐตามกรอบยุทธศาสตร์การระบายข้าวสารฯ ให้สามารถเจรจาขายข้าวได้ทั้งในเทอม FOB และ CFR เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการเจรจาให้บรรลุผลสำเร็จ สำหรับการขายข้าวในราคาแบบ CFR ให้ขายให้กับรัฐบาลต่างประเทศในกรณีที่เป็นความประสงค์ของผู้ซื้อ ทั้งนี้ การขออนุมัติขายให้แยกเป็นราคา FOB และค่าระวางเรือ (Freight) ให้เห็นชัดเจนเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย ทั้งนี้ ให้กรมการค้าต่างประเทศนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป
3.5 พณ. ได้ปรับเพิ่มเติมข้อความในเกณฑ์ราคาของกรอบยุทธศาสตร์การระบายข้าวสารฯ ตามมติ กขช. แล้ว ดังนี้
“5.3 เกณฑ์ราคา
- กรณีขาย G To G ให้เจรจาขายเป็นราคา FOB โดยอ้างอิงราคาส่งออก FOB เฉลี่ยของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และเทียบเคียงราคาส่งออกของประเทศคู่แข่งขัน โดยให้พิจารณาความแตกต่างเฉลี่ย (spread) ของราคาส่งออกข้าวไทยกับประเทศคู่แข่งในอดีตที่ผ่านมา และให้เจรจาขายเป็นราคา CFR (Cost & Freight) ในกรณีที่เป็นความประสงค์ของประเทศผู้ซื้อ”
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 ธันวาคม 2553--จบ--