ผลกระทบจากการปรับค่าแรงงานขั้นต่ำและราคาปัจจัยการผลิตต่อราคาสินค้า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 22, 2010 14:30 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลกระทบจากการปรับค่าแรงงานขั้นต่ำและราคาปัจจัยการผลิตต่อราคาสินค้า ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

สรุปสาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงพาณิชย์ รายงานผลกระทบของการปรับค่าแรงงานขั้นต่ำต่อราคาสินค้า ดังนี้

1. ข้อเท็จจริง

1.1 โครงสร้างต้นทุนสินค้า โดยทั่วไปสินค้าที่เป็นสินค้าควบคุมและสินค้าที่อยู่ในข่ายการกำกับดูแลจะประกอบด้วย ต้นทุนวัตถุดิบ ค่าแรงงาน ค่าใช้จ่ายในการผลิต ค่าใช้จ่ายขายบริหารและการเงิน โดยต้นทุนวัตถุดิบจะเป็นปัจจัยการผลิตหลักซึ่งมีสัดส่วนในโครงสร้างต้นทุนร้อยละ 30 - 90 ขึ้นกับชนิดของสินค้าในแต่ละอุตสาหกรรม โดยในส่วนของวัตถุดิบมีทั้งที่ผลิตได้เองในประเทศและที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

1.2 การปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ตามมติคณะกรรมการค่าจ้างกลางที่ให้ปรับค่าแรงงานขั้นต่ำสูงขึ้นวันละ 8.00 - 17.00 บาท ทั่วประเทศ เป็นวันละ 159.00 - 221.00 บาท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 เป็นต้นไปนั้น จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรกลุ่มพืชอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภค

1.3 การปรับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าพลังงาน ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งสินค้าเพิ่มสูงขึ้น โดยในช่วงปลายปี 2552 (ช่วงตรึงราคาสินค้า) น้ำมันดีเซลราคาลิตรละ 27.63 บาท และปัจจุบัน (เดือนธันวาคม 2553) ราคาปรับสูงขึ้นเป็นลิตรละ 29.99 บาท สูงขึ้นจากช่วงตรึงราคาร้อยละ 8.54

1.4 การตรึงราคาสินค้า กระทรวงพาณิชย์ได้มีนโยบายให้ผู้ประกอบการสินค้าอุปโภคบริโภคตรึงราคาจำหน่ายสินค้าตั้งแต่ปลายปี 2552 ถึงสิ้นปี 2553 โดยในช่วงดังกล่าวต้นทุนสินค้าได้มีการปรับตัวสูงขึ้นไปแล้วหลายรายการ เช่น เหล็ก ทองแดง ปุ๋ยเคมี น้ำมันปาล์มดิบ และยางแผ่นดิบ เป็นต้น

2. ผลกระทบต่อต้นทุนและราคาสินค้า

จากข้อเท็จจริงข้างต้น ได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนและราคาสินค้า ดังนี้

2.1 ผลกระทบต่อต้นทุนและราคาสินค้าอุปโภคบริโภค

2.2.1 การปรับค่าแรงงานขั้นต่ำทั่วประเทศวันละ 8.00 - 17.00 บาท (หรือสูงขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 6.35) จะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 0.023 - 1.794 โดยสินค้าเครื่องแบบนักเรียนได้รับผลกระทบสูงสุดร้อยละ 1.794 โดยเสื้อนักเรียนชายเบอร์ 38 ต้นทุนสูงขึ้นตัวละ 2.16 บาท

2.2.2 การปรับสูงขึ้นของน้ำมันดีเซลจากช่วงปลายปี 2552 ถึงปัจจุบัน สูงขึ้นจากช่วงตรึงราคาลิตรละ 2.36 บาท หรือร้อยละ 8.54 ทำให้ต้นทุนสินค้าอุปโภคบริโภคในส่วนของค่าใช้จ่ายผลิตและค่าขนส่งสูงขึ้นร้อยละ 0.0038 - 0.7475 โดยสินค้าปูนซีเมนต์ได้รับผลกระทบสูงสุดร้อยละ 0.7475 หรือถุงละ (50 กก.) 0.81 บาท

2.2.3 การปรับสูงขึ้นของราคาวัตถุดิบในช่วงตรึงราคาสินค้า ราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งส่วนที่นำเข้าและผลิตในประเทศมีราคาสูงขึ้น โดยในส่วนที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาสูงขึ้น ได้แก่ เหล็กแท่งยาว สูงขึ้นร้อยละ 22.31 เหล็กกล้าแผ่นไม่เป็นสนิมรีดร้อน สูงขึ้นร้อยละ 26.05 ทองแดง สูงขึ้นร้อยละ 48.16 และแม่ปุ๋ยยูเรีย สูงขึ้นร้อยละ 37.17 สำหรับวัตถุดิบที่ผลิตได้ในประเทศ มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ยางแผ่นดิบ สูงขึ้นร้อยละ 99.81 น้ำมันปาล์มดิบ สูงขึ้นร้อยละ 49.80 น้ำนมดิบ สูงขึ้นร้อยละ 3.03 มะพร้าวผลแก่ สูงขึ้นร้อยละ 115.56 ส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตสินค้ามีราคาสูงขึ้นร้อยละ 1.33 - 49.80 โดยสินค้าที่มีต้นทุนเพิ่มขึ้นสูงสุด ได้แก่ น้ำมันพืชปาล์ม

2.2.4 จากการปรับเพิ่มของค่าแรงงาน ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และวัตถุดิบ จะมีผลให้ต้นทุนรวมสินค้าปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.46 - 49.95 โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบสูงสุด ได้แก่ น้ำมันปาล์ม

จากการติดตามและวิเคราะห์สภาพตลาดในปัจจุบันแม้ว่าภาระต้นทุนการผลิตสินค้าจะปรับเพิ่มขึ้น แต่สินค้าอุปโภคบริโภคประมาณร้อยละ 90 จะยังสามารถคงราคาที่ระดับเดิมต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง เนื่องจากตลาดมีการแข่งขันสูง เศรษฐกิจชะลอตัว ประชาชนมีกำลังซื้อน้อย ยกเว้นสินค้าที่ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้นมาก ได้แก่ น้ำมันปาล์มดิบ ยางรถยนต์ และปุ๋ยเคมี ซึ่งจะได้มีการพิจารณาเป็นรายสินค้าตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป

2.2 ผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร

ผลจากการปรับสูงขึ้นของค่าแรงงานขั้นต่ำและราคาน้ำมันดีเซลตามข้อเท็จจริงในข้อ 1 จะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรในส่วนของค่าไถพรวน ค่าวิดน้ำเข้านา ค่ารถเกี่ยว ค่าอบลดความชื้น ตลอดจนค่าขนส่งเพิ่มสูงขึ้น ทั้งสินค้าพืชไร่ (ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง) พืชผักและผลไม้ ตลอดจนปศุสัตว์ (หมู ไก่ ไข่) โดยต้นทุนข้าวเปลือกสูงขึ้นร้อยละ 3.07 หรือสูงขึ้นตันละ 234.00 บาท ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ต้นทุนสูงขึ้นร้อยละ 2.93 หรือสูงขึ้นตันละ 160.00 บาท มันสำปะหลัง ต้นทุนสูงขึ้นร้อยละ 3.42 หรือสูงขึ้นตันละ 40.00 บาท ต้นทุนการเลี้ยงหมูสูงขึ้นตัวละ 9.40 บาท สูงขึ้น กก.ละ 0.08 บาท หรือสูงขึ้นร้อยละ 0.14

3. การช่วยเหลือประชาชน

กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำแผนรองรับในการกำกับดูแลราคาสินค้าและช่วยเหลือประชาชนทั้งในส่วนของเกษตรกรและผู้บริโภค ดังนี้

3.1 การช่วยเหลือเกษตรกร

3.1.1 จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังปัจจัยการผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะปุ๋ยเคมีและยากำจัดศัตรูพืชหรือโรคพืช

3.1.2 กำกับดูแลให้ความเป็นธรรมในการขายผลิตผลทางการเกษตร โดยให้มีการปิดป้ายแสดงราคารับซื้ออย่างเปิดเผยและชัดเจน รวมทั้งให้มีการตรวจสอบเครื่องชั่งน้ำหนัก เครื่องตรวจวัดความชื้น และเครื่องวัดเปอร์เซ็นต์แป้ง ให้มีความเที่ยงตรงและถูกต้อง

3.1.3 มาตรการเชื่อมโยงตลาดและส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าเกษตร โดยเฉพาะสินค้าพืชผัก ผลไม้ ไข่ และหมู เป็นต้น เพื่อเสริมกลไกตลาดปกติและเพิ่มช่องทางการกระจายสินค้า ลดการกระจุกตัวของสินค้าในแหล่งผลิต เพิ่มปริมาณการจำหน่ายสินค้าในช่วงปลายทาง เพื่อป้องกันการกดราคารับซื้อสินค้าเกษตรจากเกษตรกรและมิให้มีการกำหนดราคาปลายทางสูงเกินควร เช่น ช่วงเทศกาลกินเจ หรือช่วงที่มีปัญหาผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาด และในกรณีที่สินค้าเกษตรมีปัญหาด้านคุณภาพไม่สามารถจำหน่ายในตลาดปกติได้ จะประสานเชื่อมโยงผู้ผลิตสินค้าในการช่วยรับซื้อเป็นกรณีๆ ไปด้วย

3.1.4 มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรหลัก เพื่อเสริมโครงการประกันรายได้ของรัฐบาล เช่น แทรกแซงการรับซื้อสินค้าเกษตร การจัดตลาดนัด ส่งเสริมตลาดกลางและท่าข้าว

3.1.5 การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารราคาตลาด และจุดแทรกแซงรับซื้อสินค้าเกษตรตลอดจนราคาอ้างอิงเพื่อให้เกษตรกรได้รับทราบอย่างทั่วถึงเป็นระบบ

3.1.6 ตั้งคณะทำงานลดภาระค่าครองชีพและเพิ่มรายได้เกษตรกร เพื่อดูแลเกษตรกรอย่างเป็นระบบ รวมทั้งสร้างแนวร่วมเครือข่ายการดูแลเกษตรกร โดยเชื่อมโยงกับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ชมรม และสถาบันต่างๆ ที่มีเกษตรกรเป็นสมาชิก ร่วมเป็นอาสาเฝ้าระวังปัจจัยการผลิตสินค้าเกษตร

3.2 การช่วยเหลือผู้บริโภค โดยการกำกับดูแลราคาสินค้าต้นทางถึงปลายทาง (ผู้ผลิต/ผู้นำเข้าถึงร้านจำหน่าย) ดังนี้

3.2.1 ต้นทาง ให้ผู้ประกอบการแจ้งขอความเห็นชอบก่อนขึ้นราคา รวมทั้งติดตามและประเมินสถานการณ์ราคาวัตถุดิบอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบน้ำหนัก ปริมาณบรรจุและหีบห่อ ของสินค้าให้มีปริมาณน้ำหนักครบถ้วนถูกต้อง

3.2.2 ปลายทาง ตรวจสอบการปิดป้ายแสดงราคาสินค้าตลอดจนความเคลื่อนไหวของราคาจำหน่ายและปริมาณสินค้าที่จำเป็น เพื่อป้องกันการกักตุน รวมทั้งติดตามพฤติกรรมการเอารัดเอาเปรียบของผู้ประกอบการในแต่ละช่วงการค้า

3.3 การลดค่าครองชีพของประชาชน

3.3.1 เชิญผู้ประกอบการสินค้าอุปโภคบริโภคที่เกี่ยวข้อง หารือแนวทางการดูแลราคาสินค้าให้เกิดความเป็นธรรมทั้งระบบ และไม่ให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งมีสินค้าหลายหมวดที่จะยังสามารถตรึงราคาต่อไปได้ เช่น หมวดของใช้ประจำวัน หมวดอาหารและเครื่องดื่ม (ยกเว้นน้ำมันพืชปาล์ม) หมวดวัสดุก่อสร้าง หมวดปัจจัยทางการเกษตร (ยกเว้นปุ๋ยเคมี) เนื่องจากตลาดมีการแข่งขันสูง

3.3.2 การดูแลสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชน

(1) อาหารปรุงสำเร็จ ร่วมมือกับผู้ประกอบการค้าและจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จ ในสถานที่ต่างๆ ที่เป็นแหล่งชุมชนกระจายทั่วประเทศ ได้แก่ สถานีบริการน้ำมันในกรุงเทพและต่างจังหวัด ศูนย์อาหารในห้างสรรพสินค้า ศูนย์ราชการ ร้านอาหารทั่วไป เช่น สมาชิกสมาคม ภัตตาคารร้านอาหาร ชมรมร้านอาหาร ร้านอาหารมิตรธงฟ้า จัดเมนูจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จ อย่างน้อย 1 รายการ ในราคาจาน/ชามละ 25 บาท และจัดน้ำดื่มฟรีให้กับลูกค้า เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะสถานที่บริการประชาชนจำเป็นต้องใช้บริการจำนวนมาก เช่น สถานีขนส่ง เป็นต้น

ในส่วนของร้านอาหารธงฟ้าที่มีอยู่เดิมจำนวน 256 ร้าน ให้คงราคาจำหน่ายจาน/ชามละ 20.00 บาท ต่อไป สำหรับร้านอาหารมิตรธงฟ้าที่จำหน่ายในราคาจาน/ชามละ 25.00 — 30.00 บาท และปัจจุบันมีอยู่แล้วจำนวน 4,200 ร้าน จะขยายเพิ่มให้มากขึ้นเป็นจำนวน 6,000 ร้าน ในปี 2554

(2) สินค้าอุปโภคบริโภค

1) จัดจำหน่ายสินค้าราคาประหยัด โดยร่วมมือกับส่วนราชการ ภาคเอกชน สภาอุตสาหกรรม และอื่นๆ จัด Factory Outlet และ Farm Outlet จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเกษตร สินค้าชุมชน (OTOP) และสินค้าจากผู้ประกอบการ SMEs ในราคาประหยัด เพื่อเพิ่มรายได้ ขยายโอกาสการจำหน่ายสินค้า และประชาชนมีช่องทางเพิ่มขึ้นในการซื้อสินค้า ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศ และสินค้าคุณภาพส่งออก โดยกระจายการจัดงานทั่วประเทศ ทั้งนี้ ในปี 2554 กระทรวงพาณิชย์จะได้รณรงค์กินของไทย ใช้ของไทย เพื่อให้เศรษฐกิจภายในประเทศเข้มแข็งและลดการพึ่งพาการส่งออกตามนโยบายรัฐบาล

2) ร่วมมือกับห้างค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่ ลดราคาสินค้าในเทศกาลต่างๆ รวมทั้งเชื่อมโยงการกระจายสินค้าเกษตรจากแหล่งผลิตสู่ผู้บริโภค ภายใต้โครงการ 12 เดือน 12 โครงการ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและลดภาระค่าครองชีพประชาชน รวมทั้งเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรด้วย เบื้องต้นห้างสรรพสินค้าให้ความร่วมมือลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคต้อนรับปีใหม่ เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2553

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 ธันวาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ