การถวายพระราชสมัญญา “พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน”

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 22, 2010 15:15 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การถวายพระราชสมัญญา “พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน” เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา

7 รอบ 5 ธันวาคม 2554

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการถวายพระราชสมัญญา “พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน” เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ ดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงศึกษาธิการรายงานว่า

1. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้วยพระวิริยะอุตสาหะ นำความเจริญรุ่งเรืองสู่ประเทศชาติ และประชาชนอย่างไพศาล โดยเฉพาะพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาการศึกษาไทย พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยเป็นพิเศษ ส่งผลให้การพัฒนาการศึกษาของชาติมีความเจริญก้าวหน้าแผ่ขยายครอบคลุมทั้งในเมืองและในชนบทโดยทั่วถึงในรัชสมัยของพระองค์การศึกษาของไทยพัฒนาก้าวหน้าครอบคลุมทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งเป็นคุณประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยและการศึกษาไทยที่สำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์การพัฒนาของประเทศไทย

2. พระราชกรณียกิจในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษาในระบบโรงเรียนนั้น เริ่มจากใน พ.ศ. 2498 ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนจิตรลดาขึ้นสำหรับพระราชโอรสพระราชธิดา บุตรข้าราชบริพารในพระราชวัง ตลอดจนเปิดโอกาสให้บุคคล ทั่วไปได้ร่วมเรียนด้วย ต่อมาเมื่อพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรบริเวณชายแดนทุรกันดาร ทำให้ทรงทราบถึงปัญหาการขาดแคลนที่เรียนของเด็กและเยาวชน จึงมีมีพระราชดำริให้จัดสร้างโรงเรียนให้แก่เด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนโอกาสทางการศึกษา ทั้งนี้ โรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริและอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ช่วยเหลือ ทรงอุปถัมภ์ หรือทรงให้คำแนะนำมีจำนวน 104 โรงเรียน จำแนกเป็นโรงเรียนประเภท ต่างๆ ได้แก่

2.1 โรงเรียนจิตรลดา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารชั้นเดียวในบริเวณสวนจิตรลดา และพระราชทานนามโรงเรียนว่า “โรงเรียนจิตรลดา” เปิดสอนนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนทั่วไปได้เข้าไปเรียน และยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นค่าใช้จ่ายของโรงเรียนจนถึงปัจจุบัน

2.2 กลุ่มโรงเรียนราชวินิต จัดตั้งตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยได้พระราชทานที่ดินสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อเป็นโรงเรียนสำหรับบุตรหลานของข้าราชการสำนักพระราชวังและประชาชนในท้องถิ่นใช้เป็นที่เล่าเรียน และได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบกับเงินที่มีผู้บริจาคเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง โรงเรียน

2.3 โรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจนในพระบรมราชานุเคราะห์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นในวัดและอาราธนาพระภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิมาช่วยสอนในโรงเรียน โดยพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนหนึ่งและทุนที่ได้รับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล

2.4 กลุ่มโรงเรียนร่มเกล้า เป็นโรงเรียนที่สร้างขึ้นสำหรับเด็กนักเรียนยากจนตามบริเวณชายแดนทุรกันดารห่างไกลการคมนาคม โดยทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์และได้พระราชทานนามโรงเรียนว่า “โรงเรียนร่มเกล้า”

2.5 โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริโดยพระราชทานพระราชทรัพย์ร่วมสร้าง โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อสอนหนังสือให้แก่ชาวเขาและประชาชนในถิ่นทุรกันดาร ทำให้เยาวชนไทยภูเขาได้มีโอกาสเรียนรู้หนังสือพระราชทานนามว่า “โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์”

2.6 โรงเรียนวังไกลกังวล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานอาคารที่พักกองรักษาการณ์วังไกลกังวลให้เป็นอาคารเรียนของโรงเรียน และในปีฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ได้มีการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ด้วยระบบทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อเป็นประโยชน์ในการทำให้นักเรียนในส่วนภูมิภาคหรือชนบทห่างไหลได้มีโอกาสรับประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีคุณภาพไม่ด้อยกว่าโรงเรียนที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน

2.7 โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เดิมคือ โรงเรียนราชวิทยาลัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามโรงเรียนว่า “โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย” และทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นโรงเรียนที่รับนักเรียนชายเปิดสอนสายสามัญศึกษา มีจุดมุ่งหมายอบรมนักเรียนให้มีศีลธรรมและวัฒนธรรมอันดีงามและให้ฝึกฝนการกีฬาเพื่อช่วยให้มีพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง

2.8 โรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริ และอยู่ในความดูแลของมูลนิธิ หรือองค์กรต่างๆ เช่น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริเพื่อให้โอกาสทางการศึกษาแก่บุตรหลานของผู้ประสบภัยธรรมชาติ ผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาในถิ่นทุรกันดาร และอยู่ในความดูแลของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์

2.9 โรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ เป็นโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้แก่ โรงเรียนรัชดาภิเษก จำนวน 10 โรงเรียน จัดตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 25 ปี เมื่อ พ.ศ. 2514 โรงเรียนนวมินทราชูทิศ จำนวน 5 โรงเรียน จัดตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสเจริญพระชนมพรรษา 60 ปี เมื่อ พ.ศ. 2530 โรงเรียนรัชมังคลาภิเษก จัดตั้งขึ้นเนื่องในวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก เมื่อ พ.ศ. 2531 และโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย จัดตั้งขึ้นเนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เมื่อ พ.ศ. 2539

3. พระราชกรณียกิจในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษานอกระบบโรงเรียนทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการ พระดาบสขึ้น ด้วยความห่วงใยต่อพสกนิกรที่ต้องการแสวงหาความรู้ แต่ขาดโอกาสในการศึกษาเรียนรู้ ทำให้พลาดโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง โดยโครงการพระดาบสได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2518 เปิดทำการสอนวิชาชีพแขนงต่างๆ เพื่อให้ผู้ผ่านหลักสูตรสามารถออกไปประกอบอาชีพได้ตามแนวพระราชดำริ

4. พระราชกรณียกิจในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นการพระราชทานความรู้และการศึกษาตามอัธยาศัยแก่ประชาชนผ่านศูนย์การพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ทรงตั้งขึ้น เพื่อเป็นแหล่งรวมสรรพวิชา วิชาการ การค้นคว้าทดลอง และการสาธิตด้านเกษตรกรรมเพื่อเผยแพร่ความรู้สำหรับนำไปสู่การปฏิบัติจริงของเกษตรกร

5. ในการส่งเสริมการศึกษาของชาติให้มีความเจริญก้าวหน้า ทรงริเริ่มโครงการที่ส่งเสริมการศึกษาและการจัดตั้งทุนการศึกษา โดยทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดตั้งกองทุนต่างๆ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาของชาติอย่างหลากหลาย อาทิ ทุนมูลนิธิ “อานันทมหิดล” ทุนเล่าเรียนหลวง ทุนพระราชทานแก่นักเรีวนชาวเขา ทุนปริญญาเอกกาญจาภิเษก โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน

6. เนื่องในโอกาสมหามงคลพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อการศึกษาของชาติ กระทรวงศึกษาธิการ โดยผู้บริการ ข้าราชการ ครู บุคลากร นิสิตนักศึกษา ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง เห็นสมควรถวายพระราชสมัญญา “พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน” เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 ธันวาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ