การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 22, 2010 15:52 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 และความตกลงเกี่ยวกับ

การอนุวัติ ภาค 11 ของอนุสัญญาฯ

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 และภาคยานุวัติความตกลงเกี่ยวกับการอนุวัติภาค 11 ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ฉบับลงวันที่ 10 ธันวาคม 2525 และนำเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ก่อนดำเนินการให้มีผลผูกพัน

2. เห็นชอบคำประกาศตามข้อ 298 และคำประกาศตามข้อ 310 ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 รวม 2 ฉบับ และนำเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ก่อนดำเนินการให้มีผลผูกพัน

3. มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาตรวจสอบบทบัญญัติของอนุสัญญาฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของตนว่าจำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่ตนรับผิดชอบหรือไม่ เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของอนุสัญญาฯ

4. มอบหมายให้คณะกรรมการกฎหมายทะเลและเขตทางทะเลของประเทศไทยเป็นกลไกประสานงานเพื่อการ บูรณาการการพัฒนากฎหมายให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับบทบัญญัติของอนุสัญญาฯ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982

มีบทบัญญัติ 320 ข้อ และ 9 ภาคผนวก ครอบคลุมระบอบกฎหมายทะเลเดิม กล่าวคือ อนุสัญญากรุงเจนีวา ค.ศ. 1958 ซึ่งไทยเป็นภาคีทั้ง 4 ฉบับ นอกจากนี้ยังเป็นการประมวล (codify) ระบอบกฎหมายทะเลที่มีขึ้นใหม่ภายหลังอนุสัญญากรุงเจนีวาฯ เช่น เขตเศรษฐกิจจำเพาะ ขอบเขตใหม่ของไหล่ทวีป การสำรวจและการแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติใน “บริเวณพื้นที่ (The Area)” การคุ้มครองและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล การค้นคว้าวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล การพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีทางทะเล การระงับข้อพิพาท และในส่วนภาคผนวกต่างๆ ก็เป็นการกำหนดธรรมนูญขององค์กรตามอนุสัญญาฯ ประเภทต่าง ๆ อาทิ คณะกรรมาธิการกำหนดขอบเขตของไหล่ทวีป ธรรมนูญของวิสาหกิจ ธรรมนูญของศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ และยังกำหนดรายละเอียดขั้นตอนของกลไกระงับข้อพิพาทตามอนุสัญญาฯ อาทิ การประนอม และการตั้งอนุญาโตตุลาการ

2. ความตกลงเกี่ยวกับการอนุวัติภาค 11 ของอนุสัญญาฯ

ประกอบด้วยภาคผนวก ที่กำหนดเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของรัฐภาคีและการจัดระเบียบสถาบันที่เกี่ยวกับองค์กรพื้นดินท้องทะเลระหว่างประเทศ ซึ่งทำหน้าที่บริหารทรัพยากรในบริเวณพื้นที่ วิสาหกิจซึ่งสำนักเลขาธิการขององค์กรฯ จะปฏิบัติหน้าที่ของวิสาหกิจไปก่อน หลักการในการกำหนดนโยบายการผลิต นโยบายขององค์กรในการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาซึ่งได้รับผลเสียอย่างร้ายแรงต่อรายได้ทางเศรษฐกิจอันเกิดจากการลดราคาของแร่หลักการในการพิจารณาวางหลักเกณฑ์ ข้อบังคับ และวิธีดำเนินการสำหรับข้อกำหนดทางการเงินของสัญญาฯ

3. คำประกาศตามข้อ 298 ของอนุสัญญาฯ

คงไว้ซึ่งสิทธิในการใช้ดุลยพินิจ เลือกวิธีดำเนินการระงับข้อพิพาทและการยกเว้นการนำข้อพิพาทบางประเภทโดยเฉพาะข้อพิพาททางทะเลเข้าสู่กลไกระงับข้อพิพาทภาคบังคับซึ่งมีคำวินิจฉัยที่มีผลบังคับ

4. คำประกาศตามข้อ 310 ของอนุสัญญาฯ

4.1 ไทยจะทบทวนกฎหมายและข้อบังคับภายในให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฯ

4.2 ไทยไม่ผูกพันโดยคำประกาศหรือการแสดงท่าทีที่มีวัตถุประสงค์เป็นการตัด หรือเปลี่ยนแปลงขอบเขตทางกฎหมายของบทบัญญัติแห่งอนุสัญญาฯ และไม่ผูกพันโดยกฎหมายภายในใดที่ไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศและอนุสัญญาฯ

4.3 การให้สัตยาบันของไทยไม่เป็นการรับรองหรือยอมรับการอ้างสิทธิเหนือพื้นที่โดยรัฐภาคีใด ๆ

4.4 ไทยสงวนสิทธิที่จะทำคำประกาศตามข้อ 287 เกี่ยวกับการเลือกกลไกการระงับข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการใช้ และการตีความอนุสัญญาฯ เมื่อเวลาเหมาะสม

4.5 การฝึกหรือปฏิบัติการทางทหารในเขตเศรษฐกิจจำเพาะจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐชายฝั่ง

5. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อ 3 ประกอบด้วย กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม (กองทัพเรือ) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และสำนักงานศาลยุติธรรม

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 ธันวาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ