การจัดทำรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 22, 2010 15:57 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การจัดทำรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR)

ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

คณะรัฐมนตรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ทั้ง 3 ข้อดังนี้

1. รับทราบเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำและนำเสนอรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

2. มอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศในการจัดทำข้อมูลและ แต่งตั้งผู้แทนระดับสูงร่วมในคณะผู้แทนไทยเดินทางไปนครเจนีวา โดยใช้งบประมาณของต้นสังกัดเพื่อสนับสนุนการนำเสนอรายงานดังกล่าวอย่างเต็มที่

3. มอบหมายให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรายงานสถานะล่าสุด รวมทั้งประเด็นปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ 15 ประเด็น โดยเฉพาะการเร่งรัดคดีความต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวเพื่อมิให้ผู้กระทำผิดลอยนวลรอดพ้นจากกระบวนการยุติธรรม

ทั้งนี้ ให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีทราบและพิจารณาภายในวันที่ 15 มกราคม 2554 รวมทั้งให้จัดส่งข้อมูลให้กระทรวงการต่างประเทศเพื่อใช้ประกอบการจัดทำรายงานฯ อีกทางหนึ่งด้วยเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขภาพลักษณ์เชิงลบด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญของไทย

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า ประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องเสนอรายงานทบทวนสถานการณ์ สิทธิมนุษยชนของประเทศต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council — HRC) ภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) ในการประชุมคณะทำงาน UPR สมัยที่ 12 ระหว่างวันที่ 3-14 ตุลาคม 2554 ณ นครเจนีวา โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1. เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2549 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้รับรองข้อมติที่ 60/251 เรื่องการจัดตั้ง คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council — HRC) ขึ้นแทนคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Commission on Human Rights — CHR) โดยกำหนดให้ HRC ทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศสมาชิกสหประชาชาติทุกประเทศอย่างเท่าเทียมกันภายใต้กลไกที่เรียกว่า Universal Periodic Review หรือ UPR โดยให้เป็นรายงานภาพรวมสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในทุกด้านของประเทศ มีความยาวไม่เกิน 20 หน้า

2. HRC กำหนดให้กระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ ในรอบแรกใช้เวลาทั้งหมด 4 ปี (ปีละ 48 ประเทศ) โดยการทบทวนจะดำเนินการโดยคณะทำงาน UPR (Working Group on UPR) ประกอบด้วยประเทศสมาชิก HRC ทั้งหมด 47 ประเทศ ซึ่งคณะทำงาน UPR จะจัดประชุมเพื่อทบทวนสถานการณ์ในประเทศต่างๆ ปีละ 3 ครั้ง ครั้งละ 2 สัปดาห์ และในการประชุมแต่ละครั้ง จะมีการพิจารณาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ จำนวน 16 ประเทศ

3. การประชุมคณะทำงาน UPR สมัยที่ 1 เริ่มขึ้นในปี 2551 ที่นครเจนีวา และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ได้มีการจัดการประชุมคณะทำงาน UPR แล้วทั้งสิ้นจำนวน 9 ครั้ง โดยได้ทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ แล้วจำนวน 143 ประเทศ ทั้งนี้ ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศสุดท้ายที่มีกำหนดจะต้องนำเสนอรายงาน UPR และจะถูกทบทวนภายใต้กระบวนการ ดังกล่าวเป็นครั้งแรกในการประชุมคณะทำงาน UPR สมัยที่ 12 ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 3-14 ตุลาคม 2554 ที่นครเจนีวา เพื่อให้มีการรับรองโดย HRC ในเดือนมีนาคม 2555 โดยมีกำหนดส่งรายงานให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติภายในวันที่ 4 กรกฎาคม 2554 เพื่อจัดแปลเป็นภาษาทางการของสหประชาชาติทั้ง 6 ภาษาต่อไป

4. รายงานฯ จะแตกต่างจากรายงานประเทศฉบับอื่น ๆ ภายใต้ตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี เนื่องจากเป็นรายงานที่ต้องนำเสนอภาพรวมสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในทุกด้าน โดยเฉพาะการดำเนินงานภายใต้ตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนทั้ง 7 ฉบับ ที่ประเทศไทยเป็นภาคีทั้งหมดมารวมไว้ในรายงาน UPR ฉบับเดียวกัน และรายงาน UPR จะไม่ได้มีเพียงแต่รายงานของภาครัฐจำนวน 20 หน้าเท่านั้น แต่ยังมีรายงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนฯ 10 หน้า และรายงานของภาคประชาสังคมอีก 10 หน้า เสนอรวมกันเป็นรายงาน UPR ของประเทศไทย โดยการพิจารณารายงาน UPR ของประเทศไทย จะกระทำโดยประเทศสมาชิก HRC ในลักษณะ peer review ซึ่งจะมีความเข้มข้นกว่าการนำเสนอรายงานต่อคณะกรรมการประจำตราสารด้านสิทธิมนุษยชนแต่ละฉบับ ซึ่งการนำเสนอรายงานจะใช้เวลาทั้งสิ้น 3 ชั่วโมง โดยรัฐจะมีเวลานำเสนอรายงานเพียง 1 ชั่วโมง อีก 2 ชั่วโมงจะเป็นช่วงเวลาของการซักถามและตอบชี้แจง

5. เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการจัดทำรายงานดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะทำงานประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนให้เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักในการจัดทำรายงาน จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลการจัดทำรายงานประเทศภายใต้กลไก UPR โดยมีปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน รวมทั้งได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ จัดทำรายงาน UPR โดยมีปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน รวมทั้งได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำรายงานฯ และ คณะอนุกรรมการประสานงานและหารือกับภาคประชาสังคมในการจัดทำรายงานฯ โดยได้จัดการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2553 ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้ให้ความเห็นชอบต่อเค้าโครงรายงานฯ ของไทย โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการยกร่างฉบับแรกแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2553 จากนั้นจะนำไปขอรับฟังความเห็นจากประชาชนและภาคประชาสังคมต่อไป

6. นอกจากการเตรียมความพร้อมในการจัดทำรายงานแล้ว ประเทศไทยจะต้องเตรียมความพร้อมในการนำเสนอรายงานด้วย โดยเฉพาะในช่วงของการซักถามโดยสมาชิก HRC ซึ่งประเด็นที่จะถูกซักถามนั้นคาดว่าจะเป็นประเด็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนของไทยที่อยู่ในความสนใจของประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้รวบรวมมาทั้งหมด 15 ประเด็น ได้แก่ (1) ความคืบหน้าในการสอบสวนกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงในไทยเมื่อเดือน พ.ค. 2553 (2) กรณีการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ โดยเฉพาะคดีของนายสมชาย นีละไพจิตร (3) กรณีการซ้อมทรมาน โดยเฉพาะคดีของนายยะผา กาเซ็ง(4) กรณีปัญหา ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดต่อครูและเด็กนักเรียน (5) กรณีการเสียชีวิตของชาวมุสลิมในเหตุการณ์ยิงมัสยิดอัลฟูรกัน และกรณีกรือเซะ/ตากใบ (6) โทษประหารชีวิต (7) การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (8) การศึกษาความเป็นไปได้ที่ไทยจะเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของ แรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและครอบครัว (9) การถอนข้อสงวนต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนฉบับต่าง ๆ (10) การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ โดยเฉพาะฉบับที่ 87 และ 98 (11) การปฏิบัติต่อแรงงานต่างด้าว (12) กรณีฆ่าตัดตอนในสงครามยาเสพติด (13) เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพในการชุมนุม (14) การประกาศ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ (15) การปฏิบัติต่อผู้หนีภัยการสู้รบจากพม่าและผู้ลักลอบเข้าเมือง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 ธันวาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ