ผลการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 22

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 22, 2010 16:00 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 22 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

ตามที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 22 (The 22nd APEC Ministerial Meeting) เมื่อวันที่ 10-11 พฤศจิกายน 2553 ณ เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายอลงกรณ์ พลบุตร) เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว นั้น กระทรวงพาณิชย์ได้สรุปสาระสำคัญของการประชุมดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการหารือทวิภาคี ดังนี้

1. การประชุมเอเปค

1.1 การสนับสนุนการเจรจาการค้ารอบโดฮา และการต่อต้านการใช้มาตรการกีดกัน

นายปาสกาล ลามี ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก ซึ่งได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบเกี่ยวกับความคืบหน้าของการเจรจารอบโดฮาว่าขณะนี้รูปแบบการหารือเปลี่ยนไป กลายเป็นการหารือเฉพาะเรื่องแบบกลุ่มเล็กๆ ในระดับเอกอัครราชทูต ซึ่งสมาชิกองค์การการค้าโลกส่วนใหญ่เห็นว่าได้ผลดีเพราะเป็นการอภิปรายกันในประเด็นสาระไม่ใช่เรื่องกระบวนการ หลายประเทศเห็นว่า บรรยากาศกำลังเข้าสู่ช่วงสุดท้าย (end game) และตั้งความหวังไว้ว่าการเจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันอย่างแท้จริงจะเริ่มได้โดยเร็ว ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่าปี 2011 จะเป็นโอกาสที่สำคัญอย่างมาก (critically important window of opportunity) ที่จะสรุปผลการเจรจารอบโดฮา เพราะในช่วงปี 2012 — 2013 หลายเขตเศรษฐกิจจะมีการเลือกตั้งและการเปลี่ยแปลงทางการเมือง

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้กล่าวสนับสนุนและได้กล่าวถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างรวดเร็ว แต่การเจริญเติบโตได้ชะลอตัวลง หลายประเทศยังใช้มาตรการปกป้องทางการค้าซึ่งจะทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดการตอบโต้ทางการค้า จึงได้สนับสนุนเอเปคในการคัดค้านการไม่ใช้มาตรการปกป้องไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม

ในการนี้ ที่ประชุมได้ออกแถลงการณ์ของรัฐมนตรีเอเปคแยกต่างหาก (Stand — alone Statement) เรื่องการสนับสนุนการเจรจารอบโดฮาและการต่อต้านการใช้มาตรการกีดกัน เพื่อส่งสัญญาณการเมืองให้การเจรจารอบโดฮาสรุปผลได้ในปี 2011 และขยายเวลาการตกลงที่จะไม่ใช้มาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุนใหม่ ๆ ออกไปจนถึงปี 2013

1.2 เป้าหมายโบเกอร์

ที่ประชุมให้ความเห็นชอบรายงานการประเมินผลการบรรลุเป้าหมายการเปิดเสรีการค้า การลงทุนตามเป้าหมายโบเกอร์ในปี 2010 (ปี 2020 สำหรับเขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนา) ของสมาชิกพัฒนาแล้ว 5 เขตเศรษฐกิจ (แคนาดา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และสหรัฐฯ) และสมาชิกกำลังพัฒนาที่อาสาเข้าร่วมประเมินผลในปีนี้อีก 8 เขตเศรษฐกิจ (ชิลี เปรู เม็กซิโก ฮ่องกง จีน ไทเป เกาหลีใต้ สิงคโปร์และมาเลเซีย) โดยสรุปว่า การเปิดเสรีในประเทศเหล่านี้มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ (significant progress) แต่มีหลายเรื่องที่ยังเป็นปัญหาอยู่ เช่น อัตราภาษีสูงในสินค้าเกษตร สิ่งทอ เสื้อผ้า มีการใช้มาตรการที่มิใช่ภาษีอย่างแพร่หลาย การเปิดเสรีการค้าบริการยังไม่มากพอ เป็นต้น โดยเอเปคจะกำหนดกลไกทบทวนเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ในอนาคต

1.3 การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันมากขึ้นในภูมิภาค (Regional Economic Integration : REI) และการจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิค (Free Trade area of the Asia — Pacific : FTAAP)

ที่ประชุมเห็นพ้องว่าการจัดทำ FTAAP ควรใช้วิธีสร้าง building block จาก RTAs/FTAs ที่มีหรือกำลังดำเนินอยู่ เช่น ASEAN+3, Asean+6 และ TPP (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement) โดยเอเปคจะมีบทบาทเป็นที่บ่มเพาะทางความคิด (intellectual incubator) สำคัญของการเจรจาเหล่านี้และการเจรจา FTAAP (หากมีขึ้นในอนาคต) ทั้งนี้ FTAAP ควรเป็นความตกลงที่ครอบคลุมประเด็นอย่างกว้างขวาง (comprehensive) มีมาตรฐานและคุณภาพสูง (high quality) และรวมประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าการลงทุนในอนาคต (next generation trade and investment issues) เช่น โลจิสติกส์ การปฏิรูปโครงสร้าง ในการนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้เอเปคไปดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้ประสบผลในการทำ FTTAP ต่อไป

1.4 ประเด็นอื่น ๆ

ความมั่นคงทางอาหาร : ไทยได้กล่าวถ้อยแถลงเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารว่า เป็นเรื่องที่จะทวีความสำคัญมากขึ้นในอนาคตเพราะปัจจัยต่างๆ ในโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) กับภัยธรรมชาติต่าง ๆ ได้ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงทางอุปทานและการค้าอาหารในโลก ดังนั้น การประชุมเอเปคในปี 2011 ซึ่งสหรัฐฯ จะเป็นเจ้าภาพนั้น ควรยกระดับความสำคัญของเรื่องนี้เพิ่มขึ้น

การเจริญเติบโตอย่างสร้างสรรค์ (Innovative Growth) ภายใต้กลยุทธ์การเจริญเติบโตแบบใหม่ (New Growth Strategy) : ไทยได้ให้ความสำคัญกับนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เพราะเป็นแนวทางใหม่ในการสร้างเศรษฐกิจในอนาคต แต่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ก็ต้องมีการรองรับด้วยระบบทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) ที่เข้มแข็ง ซึ่งควรเน้นทั้งด้านการคุ้มครองและการบังคับใช้ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาส่งเสริมและการเพิ่มศักยภาพของประเทศกำลังพัฒนาด้วย

2. การหารือทวิภาคี

ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเอเปคครั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้มีการหารือทวิภาคีกับประเทศต่างๆ คือ แคนาดา เปรู ชิลี โคลอมเบีย และญี่ปุ่น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 ธันวาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ