ยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศในช่วงการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง พ.ศ. 2552—2561

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 22, 2010 16:07 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศในช่วงการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง พ.ศ. 2552 — 2561 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปจัดทำแผนปฏิบัติการให้เกิดผลในทางปฏิบัติต่อไป

สาระสำคัญของยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศในช่วงการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง พ.ศ. 2552 — 2561

1. มีการกำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “ระบบการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ มีความสอดคล้องกับความต้องการและมีประสิทธิภาพในการเสริมสร้างการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนสามารถแข่งขันได้กับนานาประเทศ โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วน”

2. มีการกำหนดเป้าหมายปี 2534 ไว้ดังนี้

1) มีกรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติ (National Qualifications Framework : NQF) และมีการพัฒนาระบบการผลิตและพัฒนากำลังคนตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ

2) การจัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อการรับรองสมรรถนะความรู้ ความสามารถในการปฏิบัติงานตามมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ

3) ขยายการศึกษาระบบทวิภาคี สหกิจศึกษา และการฝึกงานให้มากขึ้น โดยมีสัดส่วนผู้เรียนในระบบทวิภาคีและสหกิจศึกษา เป็นร้อยละ 30 ของผู้เรียนอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา

4) สัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้น โดยมีสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษา : สามัญศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็น 60 : 40

5) กำลังแรงงานที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาขึ้นไป เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 65 และมีสมรรถนะทางวิชาชีพตามมาตรฐาน

3. มีกรอบการดำเนินงาน พัฒนาการผลิตและพัฒนากำลังคน โดย

1) กำหนดทิศทางความต้องการกำลังคนและสร้างระบบความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งกลุ่มอาชีพ สมาคมวิชาชีพ สถานประกอบการ/องค์กรผู้ใช้ สถาบันการศึกษา ศูนย์ฝึกอาชีพ/ผู้ผลิต

2) พัฒนากรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติ เพื่อรับรองความรู้เชิงวิชาการ สมรรถนะวิชาชีพ ของผู้สำเร็จการศึกษาในทุกระดับ/ประเภทการศึกษา และคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมจัดตั้งองค์กรเพื่อรับรองสมรรถนะการปฏิบัติงานตามมาตรฐานอาชีพตลอดจนพัฒนามาตรฐานวิชาชีพครู อาจารย์ ผู้บริหาร และสถาบันการศึกษา

3) พัฒนาระบบการเตรียมความพร้อม การแนะแนวการศึกษาและอาชีพ เพื่อจูงใจให้ผู้เรียนเลือกเรียน ตามความถนัด ความสนใจ ความต้องการของตนเอง ตลาดแรงงาน และยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศ

4) พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเน้นการฝึกปฏิบัติจริง เพื่อเรียนรู้ในงานอาชีพ โดยขยายระบบทวิภาคี สหกิจศึกษา และการฝึกหัดงานอาชีพ รวมทั้งสนับสนุนการทำงานควบคู่การเรียน

4. เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ เป้าหมาย และกรอบการดำเนินงานดังกล่าว จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์และมาตรการ สรุปดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 : ปฏิรูปการเรียนรู้ด้านการศึกษาเพื่ออาชีพ ประกอบด้วย 10 มาตรการ เช่น จัดระบบการเรียนรู้ให้ยืดหยุ่น เข้าถึงง่าย เพื่อเปิดโอกาสให้กำลังคนเข้ามาเรียนรู้และออกไปประกอบอาชีพ จัดระบบรับรองประสบการณ์ของบุคคล และระบบสะสมหน่วยการเรียน (credit bank system) พัฒนาหลักสูตรเน้นฐานสมรรถนะ หลักสูตรเชิงกว้าง ให้มีการจัดการศึกษาและเรียนรู้ที่บูรณาการกับการทำงาน (Worked Integrated Learning : WIL) เป็นต้น

หน่วยงานรับผิดชอบ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงานฯ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย กระทรวงอุตสาหกรรม สถานประกอบการ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : พัฒนาคุณภาพกำลังคนทุกระดับ ประกอบด้วย 7 มาตรการ เช่น การพัฒนากำลังคนให้มีความรู้ ทักษะและคุณภาพเป็นแรงงานที่มีทักษะฝีมือ (skill intensive) พัฒนากำลังคนระดับสูงเพื่อวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้พัฒนาตนเอง ส่งเสริมความเป็นเลิศของเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษ (gifted & talented) เป็นต้น

หน่วยงานรับผิดชอบ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม สถานประกอบการ สภาวิจัยแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : เร่งผลิตและพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษา ประกอบด้วย 9 มาตรการ เช่น ปรับกระบวนทัศน์การศึกษา ให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่ออาชีพ และส่งเสริมค่านิยมด้านอาชีวศึกษา พัฒนาระบบมาตรฐานสมรรถนะ และระบบเทียบโอนตามความรู้และประสบการณ์ตามมาตรฐานสมรรถนะ จัดการศึกษาและเรียนรู้อาชีวศึกษา โดยเน้นการปฏิบัติใน สัดส่วนมากกว่าทฤษฎีและการเรียนรู้งานอาชีพ ขยายการจัดการศึกษาระบบทวิภาคี เป็นต้น

หน่วยงานรับผิดชอบ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถานประกอบการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย

ยุทธศาสตร์ที่ 4 : ผลิตและพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งสาขาขาดแคลนและจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ประกอบด้วย 8 มาตรการ เช่น ส่งเสริมให้นักเรียนเลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้น จัดทำฐานข้อมูลกำลังคน ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology : S&T) และสาขาอื่น ผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ รวมทั้งกำลังคนสาขาขาดแคลนและสาขาจำเป็นให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เป็นต้น

หน่วยงานรับผิดชอบ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม สถานประกอบการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย

ยุทธศาสตร์ที่ 5 : พัฒนาสมรรถนะและขีดความสามารถของกำลังแรงงาน ประกอบด้วย 11 มาตรการ เช่น พัฒนาและ ปรับปรุงหลักสูตรระยะสั้นร่วมกับผู้ประกอบการ จัดการฝึกอบรมอาชีพต่อยอดให้ผู้จบการศึกษาภาคบังคับ (9+1) หรือมัธยมศึกษาตอนปลาย (12+1) ที่ไม่ได้ศึกษาต่อ เสริมสร้างคุณลักษณะที่พึงประสงค์และสมรรถนะหลัก(core competencies) โดยสอดแทรกในหลักสูตรฝึกอบรมระหว่างปฏิบัติงาน เชื่อมโยงความรู้ของปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับสถานศึกษาในท้องถิ่น เป็นต้น

หน่วยงานรับผิดชอบ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม สถานประกอบการ สภาวิจัยแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย กรมประชาสัมพันธ์

ยุทธศาสตร์ที่ 6 : เสริมสร้างความยั่งยืนให้กับภาคการผลิตและบริการที่เชื่อมโยงกับการพัฒนากำลังคน ประกอบด้วย 7 มาตรการ เช่น ส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยี สร้างกลไกการวิจัยและถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีระหว่างภาคธุรกิจ เอกชน สถานประกอบการกับสถาบันอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา ส่งเสริมสถานศึกษาในกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมทั้งในกลุ่มจังหวัดหลักของแต่ละภูมิภาค ปรับรูปแบบขององค์กรและ/หรือกฎกติกาต่างๆ ที่เอื้ออำนวยให้นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย มีความก้าวหน้าในวิชาชีพ (career path) เป็นต้น

หน่วยงานรับผิดชอบ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สภาวิจัยแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ สภาหอการค้าไทย

ยุทธศาสตร์ที่ 7 : เสริมสร้างความเข้มแข็งของครู คณาจารย์ และผู้บริหาร ประกอบด้วย 10 มาตรการ เช่น พัฒนาระบบการผลิตครู - อาจารย์ สำหรับการศึกษาสายอาชีพ หรือผลิตครูช่างให้มีคุณภาพและพอเพียง พัฒนาครูประจำการและ ผู้บริหารอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ จัดทำมาตรฐานวิชาชีพครูและผู้บริหารสถาบันการศึกษาอาชีวศึกษา สร้างแรงจูงใจให้ผู้มีประสบการณ์ในอาชีพมาเป็นครู — อาจารย์ การศึกษาอาชีพ โดยให้ค่าตอบแทนตามความสามารถ (pay per performance) เป็นต้น

หน่วยงานรับผิดชอบ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม สถานประกอบการ

ยุทธศาสตร์ที่ 8 : พัฒนาระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย 10 มาตรการ เช่น จัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อกำหนดนโยบาย เป้าหมาย วางแผนผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พัฒนากรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (National Qualification Framework — NQF) พัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพ (Thai Vocational Qualification — TVQ) และจัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กำหนดศักยภาพและความเชี่ยวชาญของสถาบันการศึกษาอาชีวศึกษา และอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน (area of excellence และ center of excellence) สร้างกลไกในการประสานความร่วมมือระหว่างการพัฒนากำลังคนในระดับประเทศและการพัฒนากำลังคนในระดับกลุ่มจังหวัด/จังหวัด เป็นต้น

หน่วยงานรับผิดชอบ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม สถานประกอบการ สภาวิจัยแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย

ยุทธศาสตร์ที่ 9 : สร้างระบบความร่วมมือและเครือข่ายในการผลิตและพัฒนากำลังคน ประกอบด้วย 10 มาตรการ เช่น สนับสนุนสถานประกอบการให้เข้ามามีส่วนร่วมผลิตและพัฒนากำลังคน กำหนดทิศทางความต้องการกำลังคน และจัดตั้งเครือข่ายสถาบันการศึกษา องค์กรผู้ใช้กำลังคนทั้งในส่วนกลาง ภูมิภาค กลุ่มจังหวัด และจังหวัด ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความพร้อมให้เข้ามาร่วมจัดการศึกษามากขึ้น จัดตั้งคณะกรรมการซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนาระบบข้อมูลกำลังคนร่วมกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน (data exchange) เป็นต้น

หน่วยงานรับผิดชอบ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม สถานประกอบการ สภาวิจัยแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย และสำนักงานสถิติแห่งชาติ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 ธันวาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ