ดัชนีราคาและผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนพฤศจิกายน 2553 และแนวโน้มเดือนธันวาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 22, 2010 16:09 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูล ดัชนีราคาและผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนพฤศจิกายน 2553 และแนวโน้มเดือนธันวาคม 2553 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สรุปได้ดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

1. ภาพรวมราคาสินค้าเกษตรของเดือนพฤศจิกายน 2553 เปรียบเทียบกับเดือนเดียวกัน ของปีที่ผ่านมาพบว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตร สูงขึ้น ร้อยละ 27.49 ซึ่งสูงขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว และปศุสัตว์ โดย ข้าวนาปี ราคาสูงขึ้น เนื่องจาก ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยกว่าที่ควรจะเป็นจากภาวะภัยแล้งในช่วงเพาะปลูก และอุทกภัยในช่วงการเจริญเติบโต และเก็บเกี่ยว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาสูงขึ้น เนื่องจาก ปริมาณธัญพืชของโลกลดลง มันสำปะหลัง ราคาสูงขึ้น เนื่องจาก ปัญหาขาดแคลนธัญพืชและพืชอาหาร ประกอบกับประเทศไทยผลิตได้น้อยลง จากปัญหาเพลี้ยแป้ง สับปะรดโรงงาน ราคาสูงขึ้น เนื่องจาก ผลผลิตออกสู่ตลาด ไม่เพียงพอต่อกำลังการผลิตของโรงงาน ยางพารา ราคาสูงขึ้น เนื่องจาก ความต้องการของตลาดยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้นทำให้ความต้องการ ยางธรรมชาติสูงขึ้นด้วย ปาล์มน้ำมัน ราคาสูงขึ้น เนื่องจาก ราคาน้ำมัน ในตลาดโลกสูงขึ้นจากความต้องการพลังงานในช่วงฤดูหนาว มะพร้าว ราคาสูงขึ้น เนื่องจาก มีการระบาดของแมลงดำหนาม หนอนหัวดำ และหนอนพาราซ่า ในแหล่งผลิตที่สำคัญ ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ขณะที่ปศุสัตว์ ราคาสูงขึ้น เนื่องจาก ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอาหารสัตว์และความต้องการของตลาดภายในและต่างประเทศยังคงมีมาก เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ดัชนีราคา สูงขึ้น ร้อยละ 3.62 โดยสินค้าที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว และไข่ไก่ ส่วนสินค้า ที่ราคาปรับตัวลดลงได้แก่ ข้าวนาปี และสุกร ในเดือนธันวาคม คาดว่าดัชนีราคาจะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจาก ราคาปาล์มน้ำมันและยางพารา มีแนวโน้มสูงขึ้น จากความต้องการพลังงานในช่วง ฤดูหนาวของต่างประเทศเพิ่มขึ้น และราคาธัญพืชที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลังมีแนวโน้มที่ราคาจะปรับตัวสูงขึ้น

2. ภาพรวมด้านการผลิตสินค้าเกษตร เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาดัชนีผลผลิต ลดลง คิดเป็นร้อยละ 4.20 สินค้าสำคัญที่ผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี และมันสำปะหลัง โดย ข้าวนาปี ผลผลิตลดลง เนื่องจาก ภาวะภัยแล้งในช่วงเพาะปลูก ทำให้รัฐมีนโยบายเลื่อนการปลูกข้าวและเกิดอุทกภัยในช่วงการเจริญเติบโตและเก็บเกี่ยว ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาด ลดลง ส่วนมันสำปะหลัง ผลผลิตลดลง เนื่องจาก มีการระบาดของเพลี้ยแป้ง และน้ำท่วมในแหล่งผลิต ทำให้เกษตรกรเลื่อนการเพาะปลูก ส่วนสินค้าที่ผลผลิต สูงขึ้น ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน สุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ดัชนีผลผลิตสูงขึ้น ร้อยละ 120.81 สินค้าสำคัญที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน สุกร และไก่เนื้อ โดยข้าวนาปี มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน และปาล์มน้ำมัน เป็นช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ส่วนสินค้าที่ผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา และไข่ไก่ ในเดือนธันวาคม คาดว่าดัชนีผลผลิตในภาพรวมจะยังคงสูงขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา เพราะมีผลผลิตสินค้าสำคัญหลายชนิดออกสู่ตลาดมากขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี อ้อยโรงงาน และสับปะรดโรงงาน

3. ผลผลิตออกสู่ตลาดมากในเดือนพฤศจิกายน ได้แก่ ข้าวนาปี และสับปะรดโรงงาน ในเดือนธันวาคม ผลผลิตที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดมาก ได้แก่ ข้าวนาปี อ้อยโรงงาน และสับปะรดโรงงาน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 ธันวาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ