แนวทางการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในประเทศไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 29, 2010 16:00 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกรอบการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ ดังนี้

1. แนวทางการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ

  • การจัดตั้งโรงงานนำร่อง (pilot plants) ที่สามารถดำเนินการผลิตภายใน 3 ปี (พ.ศ. 2554 — 2556)
  • การดำเนินการตามแผนที่นำทางแห่งชาติการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2554 - 2558) ซึ่งปรับจากแผนที่นำทางแห่งชาติการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ (พ.ศ. 2551 - 2555) เพื่อให้สามารถรองรับการลงทุนเชิงพาณิชย์ภายในปี 2558
  • มาตรการเสริม 5 ด้าน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุน เชิงพาณิชย์ ภายในปี 2558 สำหรับงบประมาณเพื่อดำเนินการตามแผนที่นำทางแห่งชาติฯ ให้ขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณในรายละเอียดต่อไป

2. มอบหมายหน่วยงานที่กำหนดไว้ตามแผนที่นำทางแห่งชาติฯ ดำเนินการทำความตกลงในรายละเอียดกับ สำนักงบประมาณ และดำเนินการให้เกิดผลทางปฏิบัติต่อไป

3. มอบหมายสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) เป็นหน่วยงานหลักในการประสานภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแปลงแนวทางการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในประเทศไทยไปสู่การปฏิบัติและสรุปผลรายงานต่อคณะรัฐมนตรีเป็นระยะ

ทั้งนี้ ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรับข้อสังเกตของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับมาตรการทางภาษีสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ไปประกอบการพิจารณาด้วย และให้ดำเนินการตามข้อกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) รายงานว่า ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแนวทางการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในประเทศ และคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (กรอ.วท.) มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2553 โดยให้ปรับแผนที่นำทางแห่งชาติฯ ระยะที่ 2 เป็นช่วงปี 2554 - 2558 พร้อมจัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนโครงการต้นแบบอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2556 และการลงทุนเชิงพาณิชย์ภายในปี 2558 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. แนวทางการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในประเทศไทย

1.1 จัดตั้งโรงงานนำร่อง (pilot plants) ขนาดกำลังผลิต 1,000 - 10,000 ตัน/ปี ให้สามารถดำเนินการผลิตได้ภายใน 3 ปี (2554 - 2556) โดยเห็นควรให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณจำนวน 300 ล้านบาท ภายใต้กรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีเคยอนุมัติไว้เดิม 1,800 ล้านบาท เพื่อร่วมลงทุนในสัดส่วนเอกชนร้อยละ 70 และภาครัฐร้อยละ 30 (งบประมาณเอกชนสนับสนุนโครงการนำร่อง 3 ปี เป็นเงิน 1,700 ล้านบาท)

1.2 เร่งดำเนินการตามแผนที่นำทางแห่งชาติฯ ควบคู่กันไปเพื่อให้เกิดการลงทุนเชิงพาณิชย์ในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2554 - 2558) โดยมีโครงการต่างๆ ที่ดำเนินการรวม 20 โครงการ และดำเนินการโดยภาครัฐและเอกชนรวม 33 หน่วยงาน (งบประมาณเอกชนเพื่อการลงทุนเชิงพาณิชย์ เป็นเงินรวม 10,000 ล้านบาท และงบประมาณภาครัฐรวม 600 ล้านบาท)

1.3 ดำเนินมาตรการเสริมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเชิงพาณิชย์ในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2554-2558) ประกอบด้วย 1) มาตรการด้านความพร้อมของวัตถุดิบชีวมวล 2) มาตรการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา 3) มาตรการด้านการจัดทำมาตรฐานพลาสติกชีวภาพในระดับสากล 4) มาตรการสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนและการประกอบธุรกิจ 5) มาตรการด้านการส่งเสริมตลาดและจัดการสิ่งแวดล้อม

2. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

2.1 ด้านเศรษฐกิจ : เกิดการพัฒนาธุรกิจการผลิตสารตั้งต้น (bioplastic momomer) ขึ้นในปัจจุบัน เกิดการพัฒนาธุรกิจและพัฒนาต้นแบบระบบการผลิตเรซิ่นพลาสติกชีวภาพชนิดพอลิแล็กติกแอซิด (PLA) ในปี 2556 และในระดับอุตสาหกรรม (commercial scale) ด้วยกำลังการผลิต 100,000 ตันต่อปี ในปี 2558 ซึ่งจะมีมูลค่าการลงทุน 10,000 ล้านบาท ตลอดจนเกิดโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ ซึ่งก่อให้เกิดการจ้างงานทั้งอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพและธุรกิจเกี่ยวข้องประมาณ 200,000 คน สร้างรายได้ให้ภาครัฐ 6,260 ล้านบาท

2.2 ด้านสังคม : ประชาชนใน 4 กลุ่มหลัก จะได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง กลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลและแป้งมันสำปะหลัง กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก และกลุ่มนักศึกษาและนักวิจัย

2.3 ด้านเทคโนโลยี : การพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ของการวิจัยและพัฒนาของนักวิจัยไทย เพื่อสร้างเทคโนโลยีด้านพลาสติกชีวภาพของประเทศให้มีความก้าวหน้าได้ในระดับนานาชาติ และเกิดทรัพย์สินทางปัญญาจากการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกิดจากโรงงานนำร่องในรูปของสิทธิบัตร

2.4 ด้านสิ่งแวดล้อม : การพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการจัดการแก้ไขปัญหาขยะอย่างมีประสิทธิภาพ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 ธันวาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ