การขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 29, 2010 16:28 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และ

1. อนุมัติหลักการ

1.1 ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และ

1.2 ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้

2. เห็นชอบในหลักการ

2.1 ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและ นิติกรรมเป็นพิเศษ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน สำหรับกรณีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และ

2.2 ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นพิเศษ ตามประมวลว่าด้วยอาคารชุด สำหรับกรณีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด รวม 4 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญ

ให้สิทธิประโยชน์ภาษีอากรและค่าธรรมเนียมในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ดังนี้

1. ด้านภาษีอากร

(1) ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงิน สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการปลดหนี้ของสถาบันการเงิน

(2) ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินและสถาบันการเงิน สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้าหรือบริการให้บริการ และสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากปรับปรุงโครงสร้างหนี้

(3) ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่น สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการปลดหนี้ของเจ้าหนี้อื่น

(4) ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ให้แก่ลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่นและเจ้าหนี้อื่น สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้าหรือการให้บริการ และสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่อง มาจากการปรับปรุงโครงสร้างนี้

(5) ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงิน สำหรับเงินได้ที่รับจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินนำมาจำนองเป็นประกันหนี้ของสถาบันการเงินให้แก่ผู้อื่นซึ่งมิใช่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน และสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องจากจากโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว โดยลูกหนี้ของสถาบันการเงินต้องนำเงินได้นั้นไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน

2. ด้านค่าธรรมเนียมการโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์

ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการโอนอสังหาริมทรัพย์และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายที่ดินและตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ร้อยละ 0.01 ในส่วนที่เกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) กรณีลูกหนี้ของสถาบันการเงินโอนอสังหาริมทรัพย์เพื่อชำระหนี้ให้แก่สถาบันการเงิน หรือลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่นโอนอสังหาริมทรัพย์เพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อื่น

(2) กรณีสถาบันการเงินหรือเจ้าหนี้โอนอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับโอนมาตาม (1) ให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินหรือลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่น

(3) กรณีการจำนองอสังหาริมทรัพย์ ระหว่างลูกหนี้ของสถาบันการเงินกับเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน หรือระหว่างลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่นกับเจ้าหนี้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียนจำนองอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นหลักประกันอยู่เดิม หรืออสังหาริมทรัพย์ซึ่งนำมาเป็นหลักประกันใหม่

(4) กรณีลูกหนี้ของสถาบันการเงินโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินนำมาจำนองเป็นประกันหนี้ของสถาบันการเงินให้แก่ผู้อื่นซึ่งไม่ใช่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน เพื่อนำเงินที่ได้จากการโอนอสังหาริมทรัพย์นั้นไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน

ทั้งนี้ ให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ร้อยละ 0.01 ของราคาประเมินทุนทรัพย์ตาม (4) สำหรับเงินที่นำไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เป็นสถาบันการเงิน และให้เรียกเก็บตามอัตราปกติสำหรับราคาประเมินทุนทรัพย์ส่วนที่เกินจำนวนเงินที่นำไปชำระหนี้ดังกล่าว

3. ขอบเขตของหนี้ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์

หนี้ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ ฯ ข้างต้นเป็นหนี้ที่ถูกจัดชั้นเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ตามหลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด และให้รวมถึงหนี้ที่ถูกจัดชั้นเป็นสินทรัพย์ จัดชั้นสงสับจะสูญที่กันสำรองครบร้อยละ 100 และตัดออกจากบัญชีแล้ว แต่ยังไม่ได้บันทึกกลับเข้ามาในบัญชี และได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามแนวนโยบายการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ทั้งนี้ ไม่ว่าบัญชีลูกหนี้จะได้รับการจัดชั้นดังกล่าวก่อนปี พ.ศ. 2554 หรือภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554

4. ระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 ธันวาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ