รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 29, 2010 16:34 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่คณะกรรมการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน (กชก.) โดยสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการของ กชก. รายงานผลการดำเนินงานของกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน ในช่วง 6 เดือนหลังของปีงบประมาณ 2553 (เมษายน 2553 — กันยายน 2553) สรุปได้ดังนี้

1. การอนุมัติเงินกู้

1.1 การอนุมัติเงินกู้ในช่วง 6 เดือนหลังของปีงบประมาณ 2553 (เมษายน 2553 — กันยายน 2553) เปรียบเทียบกับปีงบประมาณ 2552

            ผลการอนุมัติช่วง 6 เดือนหลังของปีงบประมาณ 2553           ผลการอนุมัติช่วง 6 เดือนหลังของปีงบประมาณ 2552
          จำนวน (ราย)   จำนวนเงิน (บาท)   จำนวนที่ดิน (ไร่)    จำนวน (ราย)    จำนวนเงิน (บาท)     จำนวนที่ดิน (ไร่)
             685           190,935,984    5,331-0-09.9       578            169,703,147      5,783-2-28.0

1.2 ผลเปรียบเทียบการดำเนินการอนุมัติเงินกู้ในช่วง 6 เดือนหลังของปีงบประมาณ 2553 และปีงบประมาณ 2552 ปรากฏว่าผลการอนุมัติเงินกู้ในปีงบประมาณ 2553 จำนวนรายในการอนุมัติเงินกู้เพิ่มขึ้นจำนวน 107 ราย คิดเป็นร้อยละ 18.51 และจำนวนเงินที่อนุมัติเพิ่มขึ้นจำนวน 21.23 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.51 ของผลการอนุมัติในปีงบประมาณ 2552 เนื่องจากมีการแก้ไขระเบียบการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ได้แก่ การขยายเจ้าหนี้ จากเดิมเจ้าหนี้ที่เป็นบุคคลทั่วไป นิติบุคคลที่คณะกรรมการกำหนด และธนาคารพาณิชย์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธนาคารพาณิชย์ ขยายเป็นเจ้าหนี้ที่เป็นบุคคลทั่วไป นิติบุคคลที่คณะกรรมการกำหนด ธนาคารพาณิชย์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ รวมถึงเจ้าหนี้ที่เป็นสหกรณ์การเกษตรและสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนที่เกษตรกรและผู้ยากจนกู้ยืมไปประกอบอาชีพด้านการเกษตร นอกจากนี้ยังได้ขยายวงเงินที่ให้ความช่วยเหลือจากเดิมได้ไม่เกินรายละ 500,000 บาท เป็น ไม่เกินรายละ 2,500,000 บาท

1.3 การอนุมัติเงินกู้ตั้งแต่ปี 2534 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2553 กองทุนหมุนเวียนฯ ได้อนุมัติเงินกู้จำนวน 23,081 ราย จำนวนเงิน 3,440,312,949.63 บาท จำนวนที่ดินที่ขอไถ่ถอน/ซื้อคืน 239,611-0-07.1 ไร่

2. การรับชำระหนี้เงินกู้คืน

ณ วันที่ 30 กันยายน 2553 กองทุนหมุนเวียนฯ มียอดต้นเงินกู้คงเหลือจำนวน 1,587.05 ล้านบาท เป็นหนี้ปกติจำนวน 1,030.40 ล้านบาท และหนี้ค้างชำระจำนวน 556.65 ล้านบาท

3. สถานะการเงินของกองทุนหมุนเวียนฯ

ในช่วง 6 เดือนหลัง (เมษายน 2553 — กันยายน 2553) กองทุนฯ มีรายรับทั้งสิ้นจำนวน 109.42 ล้านบาท และรายจ่ายทั้งสิ้นจำนวน 240.54 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการจ่ายเงินกู้ให้เกษตรกรที่ได้รับอนุมัติจำนวน 190.94 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 79.38 ของรายจ่ายทั้งหมด และเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. จำนวน 43.07 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.90 ของรายจ่ายทั้งหมด

ณ วันที่ 30 กันยายน 2553 กองทุนหมุนเวียนฯ มียอดเงินคงเหลือรวมทั้งสิ้น 325,505,578.41 บาท

ปัญหาและอุปสรรค

1. เนื่องจากในการประชุม กชก. ครั้งที่ 2/2553 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2553 ที่ประชุมมีมติเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้คณะอนุกรรมการ (อชก.) ส่วนจังหวัดและส่วนอำเภอ ในเรื่องการติดตามและพัฒนาฟื้นฟูอาชีพลูกหนี้กองทุนหมุนเวียนฯ รวมทั้งมีการปรับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานฝ่ายเลขานุการฯ ของ อชก. ส่วนจังหวัดและส่วนอำเภอเพิ่มเติม ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานใหม่ ยังมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องระเบียบ หลักเกณฑ์ และวิธีปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกองทุนหมุนเวียนฯ ไม่ชัดเจน

2. สถานะการเงินของกองทุนหมุนเวียนฯ ณ วันที่ 30 กันยายน 2553 มียอดเงินคงเหลือจำนวน 325 ล้านบาท และได้รับงบประมาณเพิ่มเติมในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 จำนวน 50 ล้านบาท รวมเป็นเงินงบประมาณ พ.ศ. 2554 จำนวนทั้งสิ้น 375 ล้านบาท โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 มีการอนุมัติเงินกู้จำนวน 376 ล้านบาท ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 น่าจะมีงบประมาณเหลือเพียงพอในการให้ความช่วยเหลือ แต่จะไม่เพียงพอต่อการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555

แนวทางแก้ไข

1. จัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน ตามระเบียบกองทุนหมุนเวียนฯ เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องระเบียบ หลักเกณฑ์ และวิธีปฏิบัติงานให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

2. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ควรได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมจำนวนประมาณ 400 ล้านบาท

ขณะนี้ได้เกิดอุทกภัยในพื้นที่หลายจังหวัด ทำให้เกษตรกรลูกหนี้กองทุนหมุนเวียนฯ ประสบความเสียหายทางการเกษตรและที่อยู่อาศัย ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้กองทุนหมุนเวียนฯ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้ประสานงานกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อสำรวจความเสียหายของลูกหนี้ของกองทุนหมุนเวียนฯ เพื่อให้ความช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนผู้เป็นลูกหนี้กองทุนหมุนเวียนฯ กรณีประสบภัยธรรมชาติและภัยพิบัติต่อไปแล้ว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 ธันวาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ