รายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2552 และแนวโน้ม ปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 29, 2010 16:36 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2552 และแนวโน้ม ปี 2553 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) รายงานว่าสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ศึกษาและจัดทำรายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตั้งแต่ ปี 2544 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน โดยรายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมปี 2552 และแนวโน้มปี 2553 มีสาระสำคัญโดยสรุปดังนี้

1. โครงสร้างรายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2552 และแนวโน้ม ปี 2553

รายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ประกอบไปด้วย 4 ส่วนด้วยกัน คือ

ส่วนที่ 1 สถานการณ์และตัวชี้วัดเชิงเศรษฐกิจของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2552 และแนวโน้ม ปี 2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรายงานบทบาทที่มีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในระดับมหภาค โดยมีตัวชี้วัดที่สำคัญ ได้แก่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ การนำเข้าและส่งออก และตัวชี้วัดเชิงเศรษฐกิจ ปี 2552 และแนวโน้ม ปี 2553

ส่วนที่ 2 สถานการณ์และตัวชี้วัดเชิงโครงสร้างของวิสาหกิจขาดกลางและขนาดย่อม ปี 2552 วัตถุประสงค์เพื่อ รายงานโครงสร้างและเปลี่ยนแปลงในประเด็นที่สำคัญ คือ จำนวนกิจการ การจ้างงาน การจัดตั้งและยกเลิกกิจการที่เป็นนิติบุคคล รวมถึงสถานะผู้ประกอบการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ส่วนที่ 3 ประเด็นที่น่าสนใจของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในประเทศไทย ได้แก่ การรายงานเชิงวิเคราะห์ข้อมูลของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และศักยภาพและลู่ทางของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการเข้าสู่ตลาดอาเซียนใหม่ รวมถึงบทบาทและการเติบโตของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในเชิงสังคมและ วัฒนธรรม ในประเทศไทย

ส่วนที่ 4 มาตรการและผลการดำเนินงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นการรายงานผลการดำเนินงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และผลการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตามยุทธศาสตร์แผนแม่บทฉบับที่ 2 ปี 2550-2554 ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และสรุปมาตรการแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม

2. จำนวนและการจ้างงานในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2552

จำนวนวิสาหกิจรวมทั้งประเทศในปี 2552 มีจำนวนทั้งสิ้น 2,900,759 ราย เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จำนวน 2,896,106 ราย สามารถจำแนกเป็นวิสาหกิจขนาดย่อม จำนวน 2,884,041 ราย วิสาหกิจขนาดกลางจำนวน 12,065 ราย และเป็นวิสาหกิจขนาดใหญ่ จำนวน 4,653 ราย การจ้างงานในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมนั้น ในปี 2552 มีการจ้างงานในกิจการทุกขนาดรวมทั้งสิ้น 12,405,597 คน โดยเป็นการจ้างงานในวิสาหกิจขนาดใหญ่ 2,704,243 คน และเป็นการจ้างงานในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จำนวน 9,701,354 คน หรือร้อยละ 78.20 ของการจ้างงานรวมทั้งหมด

3. ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี 2552 มีการหดตัวร้อยละ 2.2 ลดลงเมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวร้อยละ 2.5 ในปีก่อนหน้า โดยมูลค่า GDP ในปี 2552 เท่ากับ 9,050,715.0 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 24,788 ล้านบาท สำหรับ GDP ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในปี 2552 มีมูลค่า 3,417,860.7 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 37.8 ของ GDP รวมทั้งประเทศ โดยมูลค่า GDP ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หดตัวลงร้อยละ 2.4 ต่อปี ชะลอลงจากร้อยละ 2.0 ในปีก่อน

มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสแรก และไตรมาสที่สองของปี 2553 มีมูลค่า 2,565,205 ล้านบาท และ 2,494,376 ล้านบาท ซึ่งขยายตัวร้อยละ 12.0 และ 9.1 ตามลำดับ ส่วนสถานการณ์ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีทิศทางเดียวกันกับประเทศ โดยในไตรมาสแรกและไตรมาสที่สอง ปี 2553 มีมูลค่า 955,703.7 ล้านบาทและ 914,292.2 ล้านบาท และมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 11.2 และ 8.1 ตามลำดับ

4. การค้าระหว่างประเทศของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

ในปี 2552 ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกโดยรวมทั้งสิ้น 5,199,912.37 ล้านบาท หดตัวลดลงจากปี 2551 ร้อยละ 11.17 โดยเป็นการส่งออกของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 1,589,199.87 ล้านบาท หดตัวลดลงร้อยละ 6.03 จากปี 2551 โดย วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีการส่งออกไปยังตลาดหลักที่สำคัญของประเทศ คือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง จีน เช่นกัน ในสัดส่วนที่น้อยกว่ารายใหญ่ แต่มีการกระจายสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ มากกว่า

สำหรับสินค้าในกลุ่มที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีการส่งออกในสัดส่วนที่สูงที่สุดคือ อัญมณีและเครื่องประดับ (พิกัดศุลกากร 71) พลาสติกและของทำด้วยพลาสติก (พิกัดศุลกากร 39) และ ยางและของทำด้วยยาง (พิกัดศุลกากร 40) ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 17.15 6.63 และ 5.84 ตามลำดับ

ภาพรวมการส่งออกของประเทศ ใน 6 เดือนแรกของปี 2553 มีมูลค่ารวม 3,020,593.2 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 27.29 ด้านการส่งออกของ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ใน 6 เดือนแรกของปี 2553 มีมูลค่ารวม 891,207.6 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 14.65

5. เครื่องชี้ที่สำคัญและการเคลื่อนไหว

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในปี 2552 มีอัตราการเติบโตสูงขึ้น โดยมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลก และความเชื่อมั่นในศักยภาพของแรงงานทักษะของไทย ทำให้มีคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าเพิ่มมากขึ้น อัตราการใช้กำลังการผลิตของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าภาพรวมของประเทศพอสมควร

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 มีอัตราการเติบโตสูงขึ้น โดยมีทิศทางด้านบวก อยู่ในระดับเฉลี่ยระหว่างร้อยละ 2.50 — 8.00 เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลก และความเชื่อมั่นในศักยภาพของแรงงานทักษะของไทย ทำให้มีกำลังการสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในช่วงเดือน เมษายน 2553 เป็นช่วงที่มีการขยายตัวสูงที่สุด คิดเป็น ร้อยละ 17.44 สำหรับอัตราการขยายตัว เดือนมิถุนายน 2553 เท่ากับร้อยละ 3.32 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกัน

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการด้านยอดจำหน่ายของกิจการ พบว่า ความเชื่อมั่นโดยรวมด้านยอดจำหน่ายของผู้ประกอบการในปี 2552 อยู่ในเกณฑ์ไม่ดีนัก เนื่องจากผู้ประกอบการไม่มีความเชื่อมั่นด้านยอดขายของตน อย่างไรก็ตามในช่วงปลายปี 2552 ที่ใกล้เทศกาลปีใหม่ ดัชนีความเชื่อมั่นด้านยอดจำหน่ายปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงตามการบริโภคของประชาชนทั้งในส่วนของภาคการค้าและภาคการบริการที่เพิ่มขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการด้านยอดจำหน่ายในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปี 2552 ดัชนีชี้วัดด้านยอดจำหน่ายและกำไรมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น ยกเว้นในเดือนพฤษภาคม 2553 ที่ดัชนีลดลงรุนแรงเนื่องจากเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามหลังสถานการณ์คลี่คลาย ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการกลับสู่ภาวะปกติ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 ธันวาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ