การรายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง โครงการการจัดการเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 29, 2010 16:38 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง โครงการการจัดการเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) รายงานว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2552 บัดนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวสรุปได้ ดังนี้

1. โครงการการจัดการเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการระบาดของเพลียแป้งมันสำปะหลังไม่ให้ทำความเสียหายกับผลผลิตและท่อนพันธุ์มันสำปะหลังและป้องกันการแพร่กระจายของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังไปยังแหล่งปลูกมันสำปะหลังแหล่งอื่นพื้นที่ 600,000 ไร่ ประกอบด้วย 2 มาตรการ คือ มาตรการเร่งด่วน ดำเนินการในพื้นที่ 20 จังหวัด ที่มีการระบาดมากและมาตรการเฝ้าระวังการระบาด ดำเนินการในพื้นที่ 45 จังหวัดที่เป็นแหล่งปลูกมันสำปะหลัง ระยะเวลาดำเนินการระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2552 ถึงกันยายน 2553 ซึ่งโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนกันยายน 2553 สรุปผลการดำเนินงาน ดังนี้

1.1 ควบคุมการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังไม่ให้ทำความเสียหายกับผลผลิตและท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง โดยดำเนินการตามมาตรการเร่งด่วนใน พื้นที่ 20 จังหวัด ประกอบด้วยกิจกรรมการประชุมชี้แจงให้ความรู้ในการจัดการเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังและสนับสนุนสารเคมีในการฉีดพ่นเพื่อเป็นการลดประชากรของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง จากการดำเนินงานโครงการที่ผ่านมาได้ถ่ายทอดความรู้เรื่องเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังและการจัดการเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังให้กับเกษตรกรและสามารถควบคุมการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังได้โดยในพื้นที่ดำเนินการไม่พบการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง

1.2 ป้องกันการแพร่กระจายของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังไปยังแหล่งปลูกมันสำปะหลังอื่นโดยดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวัง ในพื้นที่ 45 จังหวัด ประกอบด้วยกิจกรรมการถ่ายทอดความรู้เรื่อง การแช่ท่อนพันธุ์ การผลิต แมลงช้างปีกใสควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง การตั้งศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนและการประชาสัมพันธ์ให้เจ้าหน้าที่และเกษตรกร จากการดำเนินงานโครงการที่ผ่านมาเกษตรกรได้ตระหนักถึงพิษภัยของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังและมีความร่วมมือ ในการป้องกันกำจัดกันมากขึ้นสามารถป้องกันการแพร่กระจายของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังได้ แต่อย่างไรก็ตามจากการติดตามสถานการณ์การระบาดตัดยอดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2553 พบว่ามีพื้นที่ที่พบเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังกระจายอยู่ทั่วไปประมาณ 23,630 ไร่ ในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศ ประกอบกับเป็นช่วงฤดูฝนจึงไม่พบการระบาดทำความเสียหายให้กับมันสำปะหลัง

2. สำหรับความเห็นของ สศช. ที่ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชควรใช้อย่างถูกวิธีและใช้ในกรณีที่จำเป็นเร่งด่วน กรมส่งเสริมการเกษตรได้ตระหนักถึงพิษภัยของสารเคมีเช่นกันโดยแนะนำให้เกษตรกรใช้สารเคมีอย่างถูกต้องเฉพาะในช่วงแรกที่ต้องการลดประชากรของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังและการแช่ท่อนพันธุ์ในการป้องกันการแพร่กระจายของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่องเท่านั้น ส่วนในการควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่องนั้นได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ใช้ศัตรูธรรมชาติคือ แมลงช้างปีกใสเป็นหลัก รวมทั้งการติดตามและเฝ้าระวังการระบาดโดยมีศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนเป็นผู้ดำเนินการ

3. ในการดำเนินการตามข้อ 1 ได้ใช้งบประมาณจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 65,409,267.13 บาท จากงบประมาณที่ได้รับจริงจำนวน 65,660,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 99.62

4. ผลกระทบจากการดำเนินการ เกษตรกรในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง 45 จังหวัด ได้ตระหนักถึงพิษภัยของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังและมีการตื่นตัวในการควบคุมป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังและมีความรู้เกี่ยวกับการจัดการเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นโดยได้นำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติในไร่มันสำปะหลังของตนเองไม่ให้ได้รับความเสียหายจากการทำลายของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง

5. ปัญหาและอุปสรรคมีดังนี้

5.1 เพลี้ยแป้งมันสำปะหลังเป็นศัตรูพืชที่สำคัญต่อเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง โดยเฉพาะในสภาพอากาศแห้งแล้งจะสามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว

5.2 เพลี้ยแป้งมันสำปะหลังชนิดสีชมพูเป็นศัตรูพืชชนิดใหม่ที่ทำความเสียหายให้กับเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังในปี 2552 ดังนั้น เทคโนโลยีและวิธีการควบคุมยังต้องมีการศึกษา วิจัย ทดสอบ เพื่อหาวิธีที่เหมาะสมและได้ผลที่จะกำจัดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาการระบาด

6. แนวทางแก้ไขมีดังนี้

6.1 ให้ความรู้ กระตุ้นเตือนให้เกษตรกรมีการตื่นตัวและตรวจสอบแปลงของตนเองอย่างต่อเนื่อง

6.2 ให้มีการติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่องในฤดูกาลเข้าสู่สภาพอากาศแห้งแล้งจะเหมาะสมกับการขยายพันธุ์ของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังอาจจะส่งผลให้เกิดการระบาดและแพร่กระจายของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังขึ้นใหม่ได้

6.3 สนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการศึกษา วิจัย ทดสอบเกี่ยวกับพันธุ์ที่ทนทานต่อการทำลายของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง การจัดทำแปลงสะอาด การใช้ศัตรูธรรมชาติควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังอย่างมีประสิทธิภาพ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 ธันวาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ