การดำเนินโครงการ “2554 ปีแห่งความปลอดภัย”

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 29, 2010 17:04 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ดังนี้

1. รับทราบผลการดำเนินการตามโครงการ “2553 ปีแห่งความปลอดภัย”

2. รับทราบแผนงาน/กิจกรรมการดำเนินการตามโครงการ “2554 ปีแห่งความปลอดภัย”

3. รับทราบการเตรียมการรองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2554 ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2553 - 4 มกราคม 2554 ตามแผน “คมนาคมปลอดภัย เทศกาลปีใหม่ 2554”

สาระสำคัญของเรื่อง

1. การดำเนินการตามโครงการ “2553 ปีแห่งความปลอดภัย”

1.1 แนวทางการดำเนินการ

กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานในสังกัดได้ดำเนินการตามโครงการ แผนงาน กิจกรรมต่างๆ ตลอดปี 2553 อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “2553 ปีแห่งความปลอดภัย” ในวันที่ 20 ธันวาคม 2552 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สรุปสาระสำคัญของการดำเนินงานแต่ละด้าน ดังนี้

1) การดำเนินงานด้านการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพโครงสร้างพื้นฐาน

  • แก้ไขจุดเสี่ยง จุดอันตราย รวมถึงโค้งอันตรายบนทางหลวง 501 แห่ง และทางหลวงชนบท 875 แห่ง
  • แก้ไขจุดตัดทางรถไฟกับถนนในส่วนของการรถไฟแห่งประเทศไทย 121 แห่ง
  • ตรวจสอบความปลอดภัยทางถนนบนทางหลวงชนบท 400 สายทาง
  • ก่อสร้างถนนไร้ฝุ่นกว่า 3,000 กิโลเมตร ฯลฯ

2) การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย

  • การติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยเพิ่มเติมบนทางหลวงและทางหลวงชนบท ได้แก่ เครื่องหมาย ป้ายจราจร สัญญาณไฟ ไฟฟ้าแสงสว่าง และราวกันอันตราย
  • การเข้มงวดในการออกใบอนุญาต การตรวจสภาพรถยนต์โดยสารสาธารณะ และรถโดยสารสาธารณะร่วมบริการ
  • การตรวจวัดระดับปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของพนักงานขับรถ โดยจะต้องมีแอลกอฮอล์ในเลือดเป็น “ศูนย์” มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ในระหว่างการให้บริการ ฯลฯ

3) การเพิ่มบริการเพื่อความปลอดภัย

  • การจัดหน่วยบริการเคลื่อนที่ และจัดตั้งศูนย์บริการและอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแก่ประชาชนในเส้นทางหลักและเส้นทางรองทั่วประเทศในช่วงเทศกาลต่างๆ
  • การกำหนดให้ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม โทรศัพท์สายด่วน 1356 เป็นศูนย์กลางการประสานงานกับศูนย์บริการต่างๆ ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ

4) การปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรมการเดินทางอย่างมีวินัย

  • การอบรมหลักสูตรพนักงานขับรถมืออาชีพ จัดโดยกรมการขนส่งทางบก ผู้เข้าอบรม ประกอบด้วย พนักงานขับรถลากจูงและพนักงานควบคุมรถเครื่องกลขนาดใหญ่ ประมาณ 2,000 คน ซึ่งได้ดำเนินการทั้งส่วนกลางและต่างจังหวัด
  • การอบรมเยาวชนในสถานศึกษาเกี่ยวกับวินัยจราจรประมาณ 80,000 คน
  • การอบรมพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ ทั้งพนักงานขับรถโดยสารประจำทางและไม่ประจำทาง เพื่อสร้างจิตสำนึกความปลอดภัยทางถนน ขับรถด้วยความไม่ประมาทและปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัดเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ดำเนินการโดยกรมการขนส่งทางบก บริษัท ขนส่ง จำกัด และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
  • การจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมด้านความปลอดภัย สร้างวินัยจราจร ฯลฯ ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งจัดทำคู่มือกระบวนการเรียนรู้สำหรับครูผู้สอน เพื่อเสริมในหลักสูตรวิชาต่างๆ ของนักเรียน/นักศึกษาทุกระดับ
  • การจัดประกวดคำขวัญรณรงค์เรื่องความปลอดภัย และนำมาใช้ในการรณรงค์อย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ โดยได้สุดยอดคำขวัญว่า “มือบังคับรถ กฎบังคับใจ ขับขี่ปลอดภัย ถ้าไม่ประมาท”ฯลฯ

1.2 ผลการดำเนินการ

จากการดำเนินการตามมาตรการเชิงรุกทั้ง 4 ด้านดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้สถิติจำนวนอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บลดลงตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างสถิติในปี พ.ศ. 2552 กับปี พ.ศ. 2553 ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้สรุปสถิติอุบัติเหตุในภาคการขนส่งรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบเป็นรายเดือน ดังนี้

1.2.1 สถิติจำนวนอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บทางถนน ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง ประมาณ 60,000 ถ และกรมทางหลวงชนบท ประมาณ 49,000 กิโลเมตรลดลง เมื่อเปรียบเทียบสถิติระหว่างปี 2552 และ 2553 ตามตารางที่ 1

ตารางที่ 1 การเปรียบเทียบจำนวนอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ

             จำนวน         ปี 2552    ปี 2553       ผลต่างปี           ร้อยละผลต่าง

(2553-2552) เมื่อเทียบกับปี 2552

             อุบัติเหตุ        11,987     6,810       -5,177                  -40
             ผู้เสียชีวิต        1,517     1,300         -217                  -14
             ผู้บาดเจ็บ       10,049     7,380       -2,669                  -30

จากสถิติเปรียบเทียบดังกล่าว เป็นเรื่องของถนนในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม แต่หากเปรียบเทียบสถิติอุบัติเหตุทางถนนทั่วประเทศแล้วจะพบว่าลดลงเช่นกัน ตามตารางที่ 2

ตารางที่ 2 การเปรียบเทียบจำนวนอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บทางถนนทั่วประเทศ

             จำนวน        ปี 2552    ปี 2553      ผลต่างปี          ร้อยละผลต่าง

(2553-2552) เมื่อเทียบกับปี 2552

             อุบัติเหตุ       84,806    63,300     -21,506                 -25
             ผู้เสียชีวิต      10,717     8,800      -1,917                 -20
             ผู้บาดเจ็บ      61,996    37,500     -24,496                 -40

โดยมีมูลค่าความเสียหายลดลงกว่า 2,000 ล้านบาท จากสถิติเดิมที่เสียหายเฉลี่ยปีละ 200,000 ล้านบาท

นอกจากสถิติเปรียบเทียบดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังสามารถระบุสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนได้ตามลำดับในตารางที่ 3

ตารางที่ 3 สาเหตุของอุบัติเหตุทางถนน มีสัดส่วนตามลำดับ ดังนี้

             ลำดับ    รายการ                                    ปี 2553 (ครั้ง)     ร้อยละ
             1       ขับรถเร็วเกินกำหนด                                  3,590      52.6
             2       ไม่รักษากฎและฝ่าฝืนวินัยจราจร (เช่น แซงใน               2,640      38.8

ที่คับขัน ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร ฯลฯ)

             3       เมาสุรา/ยาบ้า                                        190       2.8
             4       หลับใน                                              250       3.7
             5       อุปกรณ์รถบกพร่อง                                      140       2.1
             จำนวนรวม                                                 6,810       100

1.2.2 สถิติอุบัติเหตุทางน้ำ

มีจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุและจำนวนผู้เสียชีวิตลดลง แต่จำนวนผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้น ตามตารางที่ 4

ตารางที่ 4 ตารางการเปรียบเทียบจำนวนอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ

             จำนวน        ปี 2552   ปี 2553        ผลต่างปี           ร้อยละผลต่าง

(2553-2552) เมื่อเทียบกับปี 2552

             อุบัติเหตุ           35       25           -10                  -29
             ผู้เสียชีวิต          10        6            -4                  -40
             ผู้บาดเจ็บ          33       53            20                   61

1.2.3 สถิติอุบัติเหตุทางราง

มีจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุและจำนวนผู้เสียชีวิตลดลง แต่จำนวนผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ตามตารางที่ 5

ตารางที่ 5 ตารางการเปรียบเทียบจำนวนอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ

             จำนวน       ปี 2552   ปี 2553      ผลต่างปี           ร้อยละผลต่าง

(2553-2552) เมื่อเทียบกับปี 2552

             อุบัติเหตุ         125      115         -10                   -8
             ผู้เสียชีวิต         86       40         -46                  -53
             ผู้บาดเจ็บ        112      121           9                    8

1.2.4 สถิติอุบัติเหตุทางอากาศ (ไม่มี)

กระทรวงคมนาคมได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ทุกหน่วยงานในสังกัดได้ร่วมมือกันอย่างเต็มที่ในการดำเนินการตามโครงการ “2553 ปีแห่งความปลอดภัย” จนกระทั่งสัมฤทธิ์ผลดังกล่าวในข้อ 2. ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาและลดความสูญเสียได้ในระดับหนึ่ง กระทรวงคมนาคมจึงมุ่งมั่นดำเนินการต่อไปในปี พ.ศ. 2554 ตามโครงการ “2554 ปีแห่งความปลอดภัย” ภายใต้ยุทธศาสตร์ “คมนาคมปลอดภัย สังคมไทยเป็นสุข” ด้วยมาตรการเชิงรุก 4 ด้าน โดยกระทรวงคมนาคมได้นำเป้าหมายของวาระแห่งชาติที่คณะรัฐมนตรีเมื่อคราวประชุมเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2553 มีมติเห็นชอบให้ ปี พ.ศ. 2554-2463 เป็น “ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน” มาเป็นแนวทางการดำเนินงานอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้จัดทำแผนงาน/กิจกรรมที่จะดำเนินการตามโครงการ “2554 ปีแห่งความปลอดภัย” ไว้เรียบร้อยแล้ว และได้จัดทำแผน “คมนาคมปลอดภัย เทศกาลปีใหม่ 2554” เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2554 ดังนี้

1. แผน“คมนาคมปลอดภัย สังคมไทยเป็นสุข” ตามโครงการ “2554 ปีแห่งความปลอดภัย”

กระทรวงคมนาคมได้กำหนดเป้าประสงค์ของแผนงานตามโครงการ “2554 ปีแห่งความปลอดภัย”เพื่อลดความสูญเสีย และเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในการเดินทาง โดยได้จัดทำแผน“คมนาคมปลอดภัย สังคมไทยเป็นสุข”ขึ้น เพื่อให้หน่วยงานในสังกัดรับไปดำเนินงานอย่างจริงจัง ซึ่งมีสาระสำคัญ ประกอบด้วย

1.1 วิสัยทัศน์ “เดินทางปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม สู่คุณภาพชีวิตที่ดี”

1.2 เป้าประสงค์

1) เพื่อลดความสูญเสีย (Safety) มีกลยุทธ์การดำเนินงาน ดังนี้ การแก้ไข/ปรับปรุงจุดเสี่ยง จุดอันตราย ทางโค้งอันตราย ซ่อมแซม/ฟื้นฟู/บูรณะโครงสร้างพื้นฐาน ติดตั้งอุปกรณ์/เทคโนโลยีเสริมความปลอดภัยตรวจสอบและเตรียมพร้อม เพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมาย

2) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต (Quality) มีกลยุทธ์การดำเนินงาน ดังนี้ อำนวยความสะดวกและบริการอย่างเพียงพอ เสริมสร้างความเชื่อมั่นในระบบขนส่งสาธารณะ ปรับปรุงภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อม สร้างวัฒนธรรมการเดินทางที่ปลอดภัย ให้บริการและเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารอย่างฉับไว

อนึ่ง กระทรวงคมนาคมได้จัดทำโครงการ “ถนนสีขาว ถนนแห่งความปลอดภัย” เป็นกิจกรรมหลักที่สำคัญในแผน “คมนาคมปลอดภัย สังคมไทยเป็นสุข” โดยได้มอบหมายให้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1.3 วัตถุประสงค์

เพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุ ในสายทางหลักและสายรองทั่วประเทศ โดยการบริหารจัดการและปรับปรุงถนนตามหลักวิศวกรรมจราจรและงานทาง รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตในการเดินทางของประชาชนทั่วประเทศ บนถนนนำร่องในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ

1.4 แนวทางการดำเนินการ

1) การปรับปรุงเส้นทางให้ดีพร้อม ทั้งผิวทาง ไหล่ทาง เครื่องหมาย อุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย เกาะกลาง ทางเข้าออกของทางร่วมทางแยก เครื่องหมายเตือนบริเวณก่อสร้าง ฯลฯ พร้อมตรวจสอบความปลอดภัยของถนนทุก 3 เดือน

2) การสร้างความตระหนักรู้ถึงความปลอดภัย โดยการให้ความรู้ควบคู่การประชาสัมพันธ์แก่ผู้ใช้ทาง ประชาชนสองข้างทาง และชุมชนในพื้นที่

3) การรักษาวินัยจราจร หน่วยงานโดยเฉพาะตำรวจทางหลวงต้องเข้มงวดกับผู้ขับขี่ และประชาชนต้องเข้าใจ รักษาวินัย ปฏิบัติตามกฎและเครื่องหมายจราจรอย่างเคร่งครัด

1.5 เส้นทางนำร่องใน5 ภูมิภาค ทั่วประเทศ

ระยะแรก กระทรวงคมนาคมได้กำหนดเส้นทางนำร่อง 5 สายทาง ใน 5 ภูมิภาคทั่วประเทศให้เป็น “ถนนสีขาว ถนนแห่งความปลอดภัย” ดังนี้

          ภาค               ทางหลวงหมายเลข      ช่วงโครงการ                                    ช่วง กม.-กม.
          กลาง              305 และ 3428,3052   อำเภอองครักษ์-จังหวัดนครนายก (โรงเรียน จปร.)     44+300-68+000
          ตะวันออกเฉียงเหนือ   2 (ถนนมิตรภาพ)       อำเภอสีคิ้ว-อำเภอสูงเนิน                       105+000-116+000
          ตะวันออก           3 (ถนนสุขุมวิท)        อำเภอขลุง-จังหวัดตราด                        357+000-399+000
          เหนือ              12 (สาย East-West)  จังหวัดตาก-สุโขทัย (บ้านด่านลานหอย)             121+000-152+000
          ใต้                4 (ถนนเพชรเกษม)     อำเภอชะอำ-อำเภอหัวหิน                       204+000-228+000

ระยะต่อไป กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทจะพิจารณาแนวสายทางและช่วงกิโลเมตรที่จะกำหนดให้เป็น“ถนนสีขาว ถนนแห่งความปลอดภัย” จังหวัดละ 1 สายทาง เพื่อดำเนินโครงการฯ ตามแนวทางที่กำหนดไว้ข้างต้นต่อไป

2. แผน “คมนาคมปลอดภัย เทศกาลปีใหม่ 2554”

กระทรวงคมนาคมได้เตรียมการรองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2554 ตามแผน “คมนาคมปลอดภัย เทศกาลปีใหม่ 2554” ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2553-4 มกราคม 2554 โดยมีเป้าหมายที่จะลดจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการเดินทางของประชาชนในเทศกาลลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 และจะต้องไม่มีผู้โดยสารในระบบขนส่งสาธารณะเสียชีวิตจากการเดินทางในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2554 ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดเตรียมยานพาหนะ พื้นที่สถานีขนส่ง ชานชาลา และพื้นที่จอดรถสำรองให้เพียงพอกับความต้องการเดินทางของประชาชน รวมทั้งเพิ่มจำนวนตู้โดยสารรถไฟและเที่ยววิ่ง เพิ่มเที่ยวบินเสริมพิเศษ เพื่อรองรับปริมาณการเดินทาง ดังนี้

2.1 การจัดบริการขนส่งสาธารณะให้เพียงพอ

1) บริษัท ขนส่ง จำกัด เพิ่มจำนวนเที่ยวรถขาขึ้นและขาล่องระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2553—4 มกราคม 2554 รวม 42,230 เที่ยว สามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 1,303,887 คน

2) การรถไฟแห่งประเทศไทย จัดเดินขบวนรถไฟพิเศษเพิ่มในเส้นทางสายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ เที่ยวไปวันที่ 30 — 31 ธันวาคม 2553 จัดเพิ่ม 7 ขบวน สามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 29,000 คน และเที่ยวกลับ วันที่ 3 — 4 มกราคม 2554 จัดเพิ่ม 13 ขบวน สามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มเติมเฉลี่ยได้ประมาณ 30,000 คน

3) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เพิ่มจำนวนเที่ยววิ่งรถโดยสารตลอดเทศกาลประมาณ 20,000 เที่ยว เพื่อรับส่งผู้โดยสารตามสถานีขนส่งและสถานีรถไฟ

4) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพิ่มเที่ยวบินเสริมพิเศษ จำนวน 8 เที่ยวบิน ในเส้นทางบินกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ-กระบี่ (ไป-กลับ) ในวันที่ 30 ธันวาคม 2553 และวันที่ 2 มกราคม 2554

5) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เพิ่มความถี่ในการให้บริการและจัดขบวนรถเพิ่มในระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2553 — 1 มกราคม 2554

2.2 การอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย

1) การยกเว้นค่าผ่านทาง

1.1) กรมทางหลวง ยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ตั้งแต่เวลา 16.00 น. ของวันที่ 27 ธันวาคม 2553 ถึงเวลา 24.00 น. ของวันที่ 3 มกราคม 2554

1.2) การทางพิเศษแห่งประเทศไทยยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษสายบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) ตั้งแต่เวลาศูนย์นาฬิกาของวันที่ 28 ธันวาคม 2553 ถึงเวลา 24.00 น. ของวันที่ 3 มกราคม 2554

2) การจัดตั้ง “ศูนย์คมนาคมปลอดภัย สังคมไทยเป็นสุข” เพื่อเป็นจุดบริการร่วมของกระทรวงคมนาคม (กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมการขนส่งทางบก และบริษัท ขนส่ง จำกัด) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการอำนวยความสะดวก/บริการประชาชนระหว่างการเดินทาง ประกอบด้วย

2.1) จุดให้บริการ 12 จุด ณ ภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ดังนี้

(1) ศูนย์บริการทางหลวงชัยนาท จังหวัดชัยนาท (ช่วง กม. 133+504 ขาล่อง)

(2) ศูนย์บริการทางหลวง OTOP นครชากังราว จังหวัดกำแพงเพชร (ช่วง กม. 449+437 ขาล่อง)

(3) ศูนย์บริการทางหลวงขุนตาน จังหวัดลำปาง (ช่วง กม. 19+350 ขาขึ้น)

(4) สถานีบริการน้ำมัน ป.ต.ท. อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา (ช่วง กม. 92+200 ขาขึ้น และ ช่วง กม. 94+700 ขาล่อง)

(5) บริเวณพื้นที่หน้าป้อมตำรวจทางหลวง อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น (ช่วง กม. 291+128 ขาล่อง)

(6) บริเวณสี่แยกปราสาท อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ (ช่วง กม. 138+100 ขาขึ้น)

(7) บริเวณทางเลี่ยงเมืองอำเภอลำปลายมาศ (หนองผะองค์) จังหวัดบุรีรัมย์ (ช่วง กม. 91+012 ขาล่อง)

(8) หมวดการทางชะอำ จังหวัดเพชรบุรี (ช่วง กม. 185+947 ขาล่อง)

(9) ศูนย์บริการทางหลวงเขาโพธิ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ช่วง กม. 431+400 ขาขึ้น/ขาล่อง)

(10) บริเวณสี่แยกเวียงสระ อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี (ช่วง กม. 225+842 ขาล่อง)

(11) จุดตรวจสี่แยกควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา (ช่วง กม. 0+655 ขาขึ้น)

(12) บริเวณบ้านน้ำเค็ม อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา (ช่วง กม. 873+700 ขาล่อง)

โดยจุดให้บริการทั้ง 12 จุดจะเปิดบริการพร้อมกันในวันที่ 29 ธันวาคม 2553 ถึงวันที่ 4 มกราคม 2554 และให้บริการอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ ได้แก่ ให้เป็นจุดพักผ่อนหรือเปลี่ยนอิริยาบถระหว่างเดินทาง การรับแจ้งเหตุและแก้ไขปัญหาฉุกเฉิน แนะนำเส้นทางการเดินทาง ปฐมพยาบาลผู้ใช้เส้นทาง บริการสุขาเคลื่อนที่ ตรวจสอบสภาพรถผู้ใช้ทาง/รถเสียซ่อมได้ รวมทั้งการบริการน้ำดื่ม ผ้าเย็น และอาหารว่าง เป็นต้น

2.2) การจัดให้มีจุดพักรถโดยสารสาธารณะ บนทางหลวงสายหลัก 8 แห่ง ได้แก่ ทางหลวงหมายเลข 1 จังหวัดกำแพงเพชร ทางหลวงหมายเลข 11 จังหวัดพิษณุโลก ทางหลวงหมายเลข 2 จังหวัดนครราชสีมา ทางหลวงหมายเลข 226 จังหวัดบุรีรัมย์ ทางหลวงหมายเลข 4 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทางหลวงหมายเลข 41 จังหวัดนครศรีธรรมราช ทางหลวงหมายเลข 3 และหมายเลข 344 จังหวัดระยอง

2.3 ด้านความมั่นคง

มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดเข้มงวดและวางระบบการป้องกันพื้นที่ในความรับผิดชอบ โดยจัดเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบดูแลพื้นที่และบริเวณโดยรอบสถานที่ราชการและสถานีบริการสาธารณะทุกแห่ง ตรวจตรารถยนต์ที่เข้า-ออก ในอาคารจอดรถ เข้มงวดกวดขัน กำชับเจ้าหน้าที่ในการตรวจสังเกต เฝ้าระวังสิ่งผิดปกติ ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเพิ่มความถี่ในการตรวจตราถนน ทางพิเศษ สะพาน สนามบิน และท่าเรือในความรับผิดชอบให้มีความมั่นคงและปลอดภัยสูงสุดสำหรับประชาชน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 ธันวาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ