คณะรัฐมนตรีทราบรายงานผลการดำเนินงานสนับสนุนการจัดตั้งคณะทำงานสืบสวนอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะรองประธานกรรมการและรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน คนที่หนึ่ง ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานกรรมการและผู้อำนวยการความปลอดภัยทางถนน [รองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ)] เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะรองประธานกรรมการและรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน คนที่หนึ่ง ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานกรรมการและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน รายงานว่า
1. มหาวิทยาลัยนเรศวรโดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) ได้มีโครงการสนับสนุนการสืบสวนอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัดเป็นโครงการนำร่องใน 10 จังหวัด ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวรจัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการขยายผลการดำเนินงานให้จังหวัดอื่น ๆ และให้มีความต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพในการเป็นกลไกสนับสนุนการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่ต่อไป
2. ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้มีคำสั่งที่ 004/2553 ลงวันที่ 22 กันยายน 2553 แต่งตั้งคณะทำงานการสืบสวนอุบัติเหตุทางถนน โดยมีนายพิชัย ธานีรณานนท์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธานคณะทำงาน ผู้แทนส่วนราชการต่าง ๆ เป็นคณะทำงาน และนายทวีศักดิ์ แตะกระโทก มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นคณะทำงานและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอแนะทิศทางการพัฒนาแนวทางการสืบสวนอุบัติเหตุทางถนนให้เป็นมาตรฐานและสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย เป็นต้น
3. ในคราวประชุมศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 2/2553 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2553 ณ กระทรวงมหาดไทย ที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางการดำเนินงานของคณะทำงานการสืบสวนอุบัติเหตุทางถนนเพื่อให้การขยายผลการดำเนินงานมีความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพในการใช้เป็นกลไกแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนระดับพื้นที่ ดังนี้
3.1 ให้มีการจัดตั้งทีมสืบสวนอุบัติเหตุระดับจังหวัด 25 จังหวัด ตามที่ได้เสนอแนวทางให้คณะรัฐมนตรีทราบเป็นข้อมูลเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2553 ประกอบด้วยจังหวัดนำร่องที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. และ กปถ. 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย อุตรดิตถ์ สระบุรี ราชบุรี ชลบุรี อุดรธานี สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครศรีธรรมราช และตรัง และขยายผลในจังหวัดที่มีสถิติอุบัติเหตุสูงในช่วงเทศกาลสงกรานต์อีก 15 จังหวัด ได้ เชียงใหม่ พิษณุโลก สุพรรณบุรี ลำพูน ขอนแก่น ลพบุรี เพชรบูรณ์ จันทบุรี นครปฐม นครสวรรค์ ลำปาง นครราชสีมา สงขลา สุราษฎร์ธานี และภูเก็ต
3.2 มอบหมายให้ส่วนราชการหลักที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการสืบสวนสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม (คค.) กรมควบคุมโรค สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีหนังสือสั่งการเพื่อให้หน่วยงานในระดับพื้นที่ทั้ง 25 จังหวัดให้การสนับสนุนการทำงานดังกล่าวและมอบหมายให้ 25 จังหวัดมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานการสืบสวนอุบัติเหตุระดับจังหวัด
3.3 ขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการดังกล่าวจากงบกลางสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 และจัดทำคำขอจากงบประมาณปกติสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 นอกจากนี้ได้มอบหมายให้ สสส. และ กปถ. ให้การสนับสนุนการทำงานด้านการสืบสวนอุบัติเหตุตามความจำเป็นอื่น ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดอัตราการเสียชีวิตในจังหวัดที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงต่อไป
3.4 ให้มีการทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการพัฒนางานด้านการสืบสวนสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุระหว่างศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สสส. กปถ. และมหาวิทยาลัยที่ดำเนินงานด้านการสืบสวนอุบัติเหตุ 6 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทั้งนี้ เห็นควรมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเป็นผู้ประสานงานในการดำเนินการต่อไป
3.5 ให้เพิ่มผู้แทน สธ. เข้าร่วมเป็นคณะทำงานการสืบสวนอุบัติเหตุทางถนน โดยมอบหมายให้ สธ. แจ้งรายชื่อผู้แทนเพื่อให้ฝ่ายเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจัดทำคำสั่งแต่งตั้งเพิ่มเติมต่อไป
3.6 การทำแผนที่นำทางของคณะทำงานการสืบสวนอุบัติเหตุทางถนน โดยเห็นชอบในหลักการให้มีการทำแผนนำทางของการพัฒนางานด้านการสืบสวนอุบัติเหตุใน 10 ปี ข้างหน้าเพื่อให้สอดคล้องกับทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 ธันวาคม 2553--จบ--