ผลการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านโทรคมนาคมและอุตสาหกรรมสารสนเทศ ครั้งที่ 8

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 29, 2010 17:16 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านโทรคมนาคมและอุตสาหกรรมสารสนเทศ ครั้งที่ 8 ตามที่ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เป็นเจ้าของเครือข่าย (เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณ เป็นต้น) พิจารณาปรับปรุงยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงาน รวมถึงสนับสนุนด้านงบประมาณ เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย บรอดแบนด์แห่งชาติอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นการสนับสนุนประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายของเอเปคต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ทก.) เสนอว่า

1. การประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านโทรคมนาคมและอุตสาหกรรมสารสนเทศ (APEC TELMIN) เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศของสมาชิกเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม แคนาดา ชิลี สาธารณรัฐประชาชนจีน เขตบริหารพิเศษฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม จัดขึ้นทุกๆ 2-3 ปี เพื่อผลักดันการขับเคลื่อนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนและยั่งยืนและนำผลการประชุมในหัวข้อต่างๆ เสนอต่อที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ที่ผ่านมาการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านโทรคมนาคมและอุตสาหกรรมสารสนเทศแล้ว จำนวน 7 ครั้ง

2. การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมมีรัฐมนตรีเอเปคหรือผู้แทนทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ และมีผู้แทนจากสำนักเลขาธิการเอเปคและผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมประชุม โดยมีนาย Yoshihiro Katayama รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร และนาย Tadahiro Matsushita รัฐมนตรีช่วยอาวุโสกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ของญี่ปุ่น ทำหน้าที่ประธานร่วมของการประชุม

3. ที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปคได้รับรอง “ปฏิญญาโอกินาวา” (Okinawa Declaration) ซึ่งเน้นย้ำความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจในระดับโลก ส่งเสริมนวัตกรรมทางเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็ง และเป็นปัจจัยสำคัญในการจัดทำยุทธศาสตร์ความเจริญเติบโต (Growth Strategy) ของเอเปค ตลอดจนส่งเสริมสภาพแวดล้อมการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและสารสนเทศ และที่ประชุมได้รับรอง “แผนปฏิบัติการเชิงกลยุทธ์ของคณะทำงานเอเปคด้านโทรคมนาคมและสารสนเทศ” ปี 2553-2558 (APEC TEL Strategy Action Plan: 2010-2015) โดยเป็นส่วนหนึ่งของปฏิญญาฯ แผนดังกล่าวเป็นแผนการดำเนินงานในระยะ 5 ปี

ทั้งนี้ ปฏิญญาโอกินาวาจะมีการนำเสนอต่อที่ประชุมผู้นำเอเปค ครั้งที่ 18 ซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนพฤศจิกายน 2553

4. การประชุม APEC TELMIN ครั้งที่ 8 ได้กำหนดหัวข้อ (Theme) ของการประชุม คือ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในฐานะกลไกขับเคลื่อนสู่ความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมรูปแบบใหม่ (ICT as an Engine for New Socio-Economic Growth) และมีการกำหนดหัวข้อย่อยเพื่อให้รัฐมนตรี เขตเศรษฐกิจต่างๆ ได้นำเสนอวิสัยทัศน์ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้นำเสนอวิสัยทัศน์เรื่องการพัฒนาบรอดแบนด์ในประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ “การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อส่งเสริมความเจริญรูปแบบใหม่” (Develop ICT to Promote New Growth) ประกอบด้วย การจัดทำกรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT 2020) เพื่อนำไปสู่สังคมอุดมปัญญา (Smart Thailand) การจัดทำนโยบายยุทธศาสตร์บรอดแบนด์ เพื่อพัฒนาบริการ บรอดแบนด์ให้เป็นบริการขั้นพื้นฐานให้ทั่วถึง เพียงพอ ราคาที่เหมาะสม ภายใต้การแข่งขันเสรีและเป็นธรรม รวมถึงการนำเสนอโครงการที่ใช้ประโยชน์จากบรอดแบนด์อย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ โครงการด้านสาธารณสุข, ด้านการศึกษา, การจัดการภัยพิบัติ ฯลฯ และมีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ได้แก่ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจบริการบรอดแบนด์ของประเทศไทย

5. การประชุมรัฐมนตรีเอเปค ฯ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงปลอดภัยบนไซเบอร์ (Cybersecurity) เพื่อปกป้องภัยคุกคามออนไลน์ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่เป็นเด็กและเยาวชน โดยเน้นการกำหนดนโยบายที่มีประสิทธิภาพ และแลกเปลี่ยนข้อมูลและเสริมสร้างความร่วมมืออย่างกว้างขวาง ตลอดจนสร้างความตระหนักเรื่อง Cybersecurity ในภูมิภาคเอเปคให้มากขึ้น นอกจากนั้น ที่ประชุมดัวกล่าวได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาในสาขาที่สำคัญ ได้แก่ การศึกษา สาธารณสุข พลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการเข้าถึงบรอดแบนด์อย่างทั่วถึงภายในปี 2548 และกำหนดเป้าหมายท้าทายในการเข้าถึง บรอดแบนด์ความเร็วสูงยุคหน้า ภายในปี 2563

6. เนื่องจากเป้าหมายการพัฒนาบรอดแบนต์ของเอเปคสอดคล้องกับนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ โดยมุ่งพัฒนาบริการบรอดแบนด์ของประเทศไทยให้เป็นบริการขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมและเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ จึงควรเสนอให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่เป็นเจ้าของโครงข่าย พิจารณาปรับปรุงยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงาน รวมถึงสนับสนุนงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นการสนับสนุนประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายของเอเปคต่อไป

7. นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของไทยยังได้หารือทวิภาคีกับนาย Yoshihiro Katayama รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารญี่ปุ่นเกี่ยวกับการประสานความร่วมมือด้านไอซีทีระหว่างสองฝ่าย การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องของ Disaster Recovery System การเลือกตั้งระดับท้องถิ่น และโอกาสในการร่วมทุนระหว่างผู้ประกอบการโทรคมนาคมของ สองฝ่าย เป็นต้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 ธันวาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ