ขอพระราชทานชื่อกองทุน (กองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 29, 2010 17:20 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขอพระราชทานชื่อกองทุน (กองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา) และการขอลดหย่อนภาษีเงินได้

สำหรับเงินบริจาค

คณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องการขอพระราชทานชื่อกองทุน (กองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา) และการขอลดหย่อนภาษีเงินได้สำหรับเงินบริจาค ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ แล้วมีมติ ดังนี้

1. รับทราบและเห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการจัดกิจกรรมระดมทุนรับบริจาคเพื่อเป็นทุนประเดิมการจัดตั้งกองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา โดยมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการรับไปดำเนินการขอความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และองค์กรต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุน เผยแพร่ รณรงค์ประชาสัมพันธ์การดำเนินงาน รวมทั้งการระดมทุนเพื่อสมทบทุนกองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ทั้งนี้

เงินหรือทรัพย์สินที่ได้จากการระดมทุน กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานของรัฐต้องถือปฏิบัติตามข้อ 20 (1) — (5) ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

2. เห็นชอบในหลักการการขอพระราชทานชื่อ “กองทุนครูของแผ่นดิน” สำหรับกองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ที่กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับทุนประเดิมที่มีผู้บริจาค โดยให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2541 (เรื่อง การขอพระราชทานนามอาคาร สิ่งปลูกสร้าง หรือสถานที่ และการก่อสร้างอาคารของทางราชการ) โดยอนุโลมตามความเห็นของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

3. การพิจารณาเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่ผู้ที่บริจาคเงินสมทบกองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทาง การศึกษา นั้น ให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ พ.ศ. 2538 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

4. ให้ผู้บริจาคเงินให้แก่กองทุนฯ ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีโดยสามารถนำเงินที่บริจาคหักเป็นค่าใช้จ่ายลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้เป็นจำนวนสองเท่าของรายจ่ายที่จ่ายไปแต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิหรือเงินได้สุทธิ แล้วแต่กรณี ตามความเห็นของกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ ให้กระทรวงศึกษาธิการรับความเห็นของกระทรวงวัฒนธรรมและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปพิจารณาดำเนินการด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รายงานว่า

1. ศธ. ได้ประกาศยุทธศาสตร์เชิงนโยบายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง “6 เดือน 6 คุณภาพ” ดังต่อไปนี้ คุณภาพที่ 1 คือ เรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ คุณภาพที่ 2 คือ การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน คุณภาพที่ 3 คือ คุณภาพการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับประชาชน คุณภาพที่ 4 คือ คุณภาพสถานศึกษายุคใหม่ คุณภาพที่ 5 คือ คุณภาพเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา คุณภาพที่ 6 คือ คุณภาพครู และ ศธ. มีโครงการประกาศนโยบาย เรื่อง คุณภาพครู ซึ่งเป็นคุณภาพที่ 6 โดยในปี พ.ศ. 2554 เป็นปีแห่งคุณภาพครู เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน”

2. ในระหว่างที่กฎหมายการจัดตั้งกองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษายังไม่แล้วเสร็จ ศธ.ได้มีการประกาศจัดตั้งกองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาเพื่อรองรับการจัดหาทุนประเดิมไปพลางก่อน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาอย่างมีคุณภาพ โดยจะขอพระราชทานชื่อ “กองทุนครูของแผ่นดิน” เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และจะมีการจัดกิจกรรมเพื่อระดมทุนรับบริจาคเป็นทุนประเดิมในการจัดตั้งกองทุน

ในส่วนของการจัดกิจกรรมระดมทุนเพื่อขอรับบริจาคเงินเป็นทุนประเดิมในการจัดตั้งกองทุนกำหนดให้มีการจัดงานตั้งแต่วันที่ 14 — 18 มกราคม 2554 โดยมีกิจกรรมหลักที่ต้องดำเนินการ ดังนี้

กิจกรรมที่ 1 : วันที่ 5 ธันวาคม 2553 — วันที่ 17 มกราคม 2554 เป็นกิจกรรมการประชาสัมพันธ์โครงการ และในช่วงวันที่ 14 — 17 มกราคม 2554 เป็นการเตรียมการเพื่อระดมทุนประเดิม

กิจกรรมที่ 2 : วันที่ 14 มกราคม 2554 เป็นวันประกาศนโยบายคุณภาพครู เพื่อให้เกิดความสอดคล้องต่อการจัดตั้งกองทุนครูของแผ่นดิน จึงสมควรเพิ่มกิจกรรมในการประกาศนโยบายคุณภาพครู เพื่อสร้างอุดมการณ์และจิตสำนึกร่วม ของครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งบุคคล องค์กร หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันแสดงพลังในการทดแทนพระคุณครู บูชาครู ในการเฉลิมฉลองปีแห่งมหามงคล และการขอถวายพระราชสมัญญา “พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน” โดยมีส่วนร่วมในการบริจาคเป็นทุนประเดิมในการจัดตั้ง “กองทุนครูของแผ่นดิน” ในครั้งนี้ด้วย

กิจกรรมที่ 3 : หลังจากการระดมทุนประเดิม วันที่ 18 มกราคม 2554 เป็นต้นไป กิจกรรมที่จะต้องดำเนินการต่อหลังจากการจัดรายการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ การร่วมบริจาคทุนประเดิมกองทุนครูของแผ่นดิน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนตามลำดับ กิจกรรมต่างๆ ที่ต้องดำเนินการต่อ ได้แก่ กิจกรรมการตรวจสอบ และการรายงานผลการดำเนินการต่อสาธารณะ กิจกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินการ กิจกรรมขอบคุณผู้มีอุปการะและมอบของที่ระลึก และกิจกรรมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากองทุนครูของแผ่นดิน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 ธันวาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ