การประชุม International Forum on Tiger Conservation

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 5, 2011 12:04 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุม International Forum on Tiger Conservation และเห็นชอบมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งของโลกและปฏิญญาเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กที่ประเทศไทยได้ร่วมให้การรับรองในการประชุมดังกล่าว ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รายงานว่า

1. ตามมติคณะรัฐมนตรี (2 พฤศจิกายน 2553) นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุม International Forum on Tiger Conservation ระหว่างวันที่ 21 — 24 พฤศจิกายน 2553 ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สหพันธ์รัฐรัสเซีย สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1.1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมสุดยอดผู้นำด้านการอนุรักษ์เสือโคร่งในครั้งนี้ โดยได้รับเกียรติอย่างสูงจากสหพันธรัฐรัสเซีย และธนาคารโลกให้เป็นประธานกล่าวนำสรุปความเป็นมาและเชิญรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของประเทศต่างๆ ขึ้นรายงานข้อมูลของแต่ละประเทศ

1.2 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนายกรัฐมนตรีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ประเทศจีน ลาว เนปาล และบังคลาเทศ โดยเฉพาะเรื่องแนวทางการสร้างความร่วมมือให้ชุมชนรอบป่ามีส่วนร่วมอนุรักษ์เสือโคร่ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีแห่งสหพันธรัฐรัสเซียได้เชิญชวนทุกประเทศร่วมให้การรับรองปฏิญญาเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ที่มีสาระสำคัญหลัก ดังนี้

1.2.1 เพื่อร่วมมือกันเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งในป่าของประเทศที่เป็นแหล่งอาศัยของเสือโคร่งเป็นสองเท่าภายในปี 2565 (12 ปีข้างหน้า)

1.2.2 เพื่อป้องกันและคุ้มครองพื้นที่อาศัยของเสือโคร่งและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมีประสิทธิภาพ

1.2.3 เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการลักลอบล่าและค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย โดยสร้างความเข้มแข็งให้กับกฎหมายระดับชาติ ความร่วมมือทวิภาคี และความร่วมมือพหุภาคี เช่น เครือข่ายการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันการลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายของอาเซียน (ASEAN-WEN) เครือข่ายการบังคับใช้กฎหมายฯ ของเอเชียใต้ (SA-WEN)

1.2.4 การสร้างความเข้มแข็งในเวทีนานาชาติเกี่ยวกับความร่วมมือ การประสานงานเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง

1.3 สำหรับประเทศจีนที่ทุกประเทศจับตามอง เนื่องจากเคยมีรายงานจากองค์การป้องกันการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ หรือ TRAFFIC ว่าเป็นแหล่งค้าเสือโคร่งที่ผิดกฎหมาย นายกรัฐมนตรีจีนได้ให้คำมั่นว่าจีนได้ออกกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2536 ห้ามใช้ชิ้นส่วนและอวัยวะจากเสือโคร่งโดยเด็ดขาดแล้วและได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันการค้าเสือโคร่งระหว่างประเทศอย่างจริงจังด้วย

2. ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ดังนี้

2.1 ได้รับการชื่นชมและยกย่องในเวทีโลกว่าเป็นประเทศผู้นำที่สำคัญในการอนุรักษ์เสือโคร่ง

2.2 มีแผนการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งที่มีมาตรฐานระดับสากลและแผนดังกล่าวได้รับความเห็นชอบแล้วตามมติคณะรัฐมนตรี (16 พฤศจิกายน 2553)

2.3 ได้แลกเปลี่ยนและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการจัดการ การอนุรักษ์ และการวิจัยสัตว์ป่าในการใช้ ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในการวางแผนการบริหารจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์และติดตามประชากรเสือโคร่ง จนเป็นที่ยอมรับในระดับสากลกับนักบริหารและนักอนุรักษ์ระดับโลก

2.4 ได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง และสัตว์ป่าที่สำคัญชนิดอื่นๆ ตามแผนปฏิบัติการฯ ที่จัดทำไว้ จากธนาคารโลกและองค์กรอนุรักษ์ระดับโลก

2.5 เป็นที่ตั้งของศูนย์วิจัยและอนุรักษ์เสือโคร่งระดับภูมิภาคเพื่อเป็นศูนย์กลางในการวิจัยฝึกอบรมและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์และวิจัยด้านเสือโคร่งในภูมิภาคเอเชีย

2.6 มีการหารือทวิภาคีระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในการสร้างความร่วมมือการอนุรักษ์พื้นที่ป่าระหว่างประเทศตามแนวชายแดน โดยเฉพาะโครงการอนุรักษ์พื้นที่ป่าบริเวณสามเหลี่ยมมรกต ชายแดนไทย ลาว และกัมพูชา ชายแดนไทย-เมียนม่าร์ และชายแดนไทย-มาเลเซีย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 มกราคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ