รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 5, 2011 14:12 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลรายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2553 ของกระทรวงพาณิชย์ สรุปได้ดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงพาณิชย์รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพฤศจิกายน2553 เท่ากับ 108.75 โดยเพิ่มสูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 2.8 เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่เท่ากับเดือนตุลาคมที่ผ่านมา (ซึ่งสูงขึ้นร้อยละ 2.8) ถือว่าเป็นการขยายตัวในระดับที่เหมาะสมกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทย โดยเฉลี่ย 11 เดือนแรกของปี 2553 นี้ เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 3.4 ซึ่งอยู่ในช่วงที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ต้นปี (โดยคาดว่าปีนี้จะเพิ่มขึ้นระหว่าง ร้อยละ 3.0 - 3.5)

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของโลกแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งและโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดีของไทย โดยอัตราการเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้บริโภคเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมาปรับตัวเข้าสู่ภาวะที่มีเสถียรภาพเป็นลำดับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2552 ระดับร้อยละ 3.5 ในเดือนพ.ค. สำหรับเดือน มิ.ย., ก.ค., ส.ค., ก.ย.และ ต.ค. ร้อยละ 3.3, 3.4, 3.3, 3.0, 2.8 จนถึงเดือน พ.ย. ร้อยละ2.8 แสดงให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจของไทยเติบโตมีเสถียรภาพดีอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าช่วงสัปดาห์ที่ 3 และ 4 ของเดือนตุลาคม เกิดอุทกภัยหลายแห่งทั่วประเทศไทย แต่เนื่องจากเศรษฐกิจของไทยมีเสถียรภาพดีและอยู่ในช่วงฤดูกาลของผลผลิตสินค้าการเกษตรโดยเฉพาะผักและผลไม้ ตลอดจนปัญหาอุทกภัยเริ่มคลี่คลายลงในหลายพื้นที่ของประเทศ ส่งผลให้ราคาสินค้าโดยเฉพาะกลุ่มอาหารสดในเดือนพฤศจิกายนปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ

ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนพฤศจิกายน 2553 เทียบกับเดือนตุลาคมที่ผ่านมาสูงขึ้นร้อยละ 0.21 โดยมีผลกระทบมาจากข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้น ร้อยละ 0.25 ผักสด ลดลงร้อยละ 2.03 ผลไม้สด ลดลงร้อยละ 0.31 ปลาและสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 0.77 เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 0.67 ขณะที่ของใช้ส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.18 เนื้อสัตว์ต่างๆ ลดลง ร้อยละ 0.09 ไข่ไก่ สูงขึ้นร้อยละ 1.22 นอกจากนี้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 1.97 และสินค้าในหมวดเคหสถาน ลดลง ร้อยละ 0.04

มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาลได้แก่ ค่าไฟฟ้า รถเมล์ฟรี การตรึงราคาแก๊สหุงต้ม และการช่วยเหลือค่าชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียน และการดูแลราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์อย่างใกล้ชิด ยังคงมีส่วนช่วยทำให้ค่าครองชีพของประชาชนให้อยู่ในภาวะที่แสดงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2553 โดยสรุปเป็นดังนี้

จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 417 รายการครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่ม มีแอลกอฮอล์ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ได้ผลดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2553

ใน ปี 2550 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนพฤศจิกายน 2553 เท่ากับ 108.75 (เดือน ตุลาคม 2553 คือ 108.52)

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2553 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนตุลาคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.21

2.2 เดือนพฤศจิกายน 2552 สูงขึ้นร้อยละ 2.8

2.3 เฉลี่ยช่วงระยะ 11 เดือน (มกราคม - พฤศจิกายน) ปี 2552 สูงขึ้นร้อยละ 3.4

3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2553 เทียบกับ เดือนตุลาคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.21 (เดือนตุลาคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.03) เป็นภาวะที่ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าอาหารสดและสินค้าอุปโภคที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวสารเหนียว ไข่ ไก่สด ปลาและสัตว์น้ำ เครื่องปรุงอาหาร เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ผักแปรรูปอื่นๆ น้ำมันเชื้อเพลิง วัสดุก่อสร้าง ผ้าและเสื้อผ้า ค่าของใช้ส่วนบุคคลและสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาดในขณะที่สินค้าราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ เนื้อสุกร ข้าวสารเจ้า ผักสดและผลไม้สด นมและผลิตภัณฑ์นม ค่าอุปกรณ์การบันเทิงและเครื่องบริภัณฑ์อื่นๆ

3.1 ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.22 (เดือนตุลาคม 2553 ลดลงร้อยละ 0.39) สาเหตุสำคัญเป็นผลจากราคาสินค้าอาหารสดบางรายการมีระดับราคาสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ประกอบด้วย ข้าวสารเหนียว ร้อยละ 1.52 ไข่ ร้อยละ 1.16 (ไข่ไก่ ไข่เป็ด ไข่เค็ม) จากภาวะผลผลิตไข่ไก่จากฟาร์มลดลงร้อยละ10-20 เนื่องจากแม่ไก่ให้ไข่น้อยลงเป็นผลกระทบจากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงฉับพลันซึ่งเกิดขึ้นในเขตภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไก่สด ร้อยละ 0.04 ปลาและสัตว์น้ำ ร้อยละ 0.77 (ปลาช่อน ปลาดุก ปลานิล ปลาทับทิม) ผลกระทบต่อเนื่องจากอุทกภัยทำให้ปลาและสัตว์น้ำที่จับได้ลดลง เครื่องปรุงอาหาร ร้อยละ 1.46 (น้ำมันพืช มะพร้าวขูด น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสหอยนางรม) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.02 (เครื่องดื่มรสชอกโกแลต น้ำผลไม้ กาแฟร้อน/เย็น กาแฟและชาสำเร็จรูปพร้อมดื่ม) ผักแปรรูปอื่นๆ ร้อยละ 14.38 (หัวหอมแดง กระเทียม ถั่วลิสง หน่อไม้ต้ม) สำหรับสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ เนื้อสุกร ร้อยละ 0.35 ข้าวสารเจ้า ร้อยละ 0.06 เป็นผลจากสต๊อกข้าวในประเทศของรัฐบาลและพ่อค้ายังมีเหลืออยู่ ทำให้พ่อค้าโรงสีชะลอราคารับซื้อ ผักสดและผลไม้สด ร้อยละ 2.03,0.31ได้แก่ กะหล่ำปลี แตงกวา ผักกาดขาว ผักคะน้า ผักชี มะนาว ต้นหอม กล้วยน้ำว้า ส้มเขียวหวาน ฝรั่ง เป็นผลจากภาวะอุทกภัยเริ่มคลี่คลายลงในหลายพื้นที่ของประเทศ การขนส่งผลผลิตสินค้าเกษตรจากแหล่งเพาะปลูกเริ่มดีขึ้นและเป็นช่วงฤดูกาลของผักและผลไม้บางชนิด ทำให้ผลผลิตเข้าสู่ตลาดมากขึ้น นมและผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 0.09 (นมเปรี้ยว ครีมเทียม)

3.2 ดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ0.20 (เดือนตุลาคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.28) สาเหตุสำคัญเป็นผลกระทบจากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศโดยเฉลี่ยปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ร้อยละ 1.97 วัสดุก่อสร้าง ร้อยละ 0.40 (ปูนซีเมนต์ อิฐ และค่าแรงช่างไฟฟ้า) จากภาวะอุทกภัยทำให้ความต้องการสินค้าวัสดุก่อสร้างมีมากกว่าภาวะปกติ ผ้าและเสื้อผ้า ร้อยละ 0.11 (เสื้อบุรุษ เสื้อสตรี เสื้อเด็ก) ของใช้ส่วนบุคคลและสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (ยาสีฟัน น้ำหอม ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว กระดาษชำระ ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน น้ำยารีดผ้า) สำหรับสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ค่าอุปกรณ์การบันเทิง ร้อยละ 0.02 (เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องเล่นเทป-ดิสก์ เครื่องคอมพิวเตอร์) ค่าเช่าบ้าน ร้อยละ 0.09 และเครื่องบริภัณฑ์อื่นๆ ร้อยละ 0.20 (พัดลม เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า)

4. ถ้าพิจารณาดัชนีเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2552 สูงขึ้นร้อยละ 2.8 เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 สาเหตุสำคัญมาจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น ร้อยละ 5.8 ได้รับผลกระทบมาจาก ดัชนีหมวด ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 10.9 เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ ร้อยละ 3.7 ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 3.4 ผักและผลไม้ ร้อยละ 24.5 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 4.0 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.1 และอาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 1.0 รวมทั้งผลกระทบจากดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ได้แก่ หมวดพาหนะการขนส่ง และการสื่อสาร ร้อยละ 0.9 (ยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิง) หมวดเคหสถาน ร้อยละ 2.0 (ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำประปา ) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 0.6 (ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าของใช้ส่วนบุคคล) หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ร้อยละ 0.5 (การบันเทิง การอ่านและการศึกษา)และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 0.1 (ผ้าและเสื้อผ้า)

5. ถ้าพิจารณาดัชนีเฉลี่ยเทียบกับช่วงระยะ11 เดือน (มกราคม - พฤศจิกายน) ปี 2552 สูงขึ้นร้อยละ 3.4 สาเหตุสำคัญมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ 14.7 ค่าน้ำประปา ร้อยละ 44.8 ค่ากระแสไฟฟ้า ร้อยละ1.2 ผลิตภัณฑ์ยาสูบ ร้อยละ 7.8 เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 3.4 และค่าเช่าบ้าน ร้อยละ 0.3 และจากดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและ เครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 2.1 ในขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 5.3 เป็นผลจากการสูงขึ้นของ ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 10.3 เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ร้อยละ 3.5 ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 3.2 ผักและผลไม้ ร้อยละ 24.4 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 2.7 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.2 และอาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 0.9 เป็นสำคัญ

6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 300 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 117 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2553 เท่ากับ 103.85 เมื่อเทียบกับ

6.1 เดือนตุลาคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.02

6.2 เดือนพฤศจิกายน 2552 สูงขึ้นร้อยละ 1.1

6.3 เฉลี่ยช่วงระยะ 11 เดือน (มกราคม - พฤศจิกายน) ปี 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.9

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือนพฤศจิกายน 2553 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2553 สูงขึ้น ร้อยละ 0.02 (เดือนตุลาคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.11)โดยมีผลกระทบมาจากราคาสินค้าหลายชนิดปรับตัวทั้งสูงขึ้นและลดลง สินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาดและค่าของใช้จ่ายส่วนบุคคล ขณะที่สินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ ค่าอุปกรณ์การบันเทิง ค่าเช่าบ้านและเครื่องบริภัณฑ์อื่นๆ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 มกราคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ