ร่างพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 12, 2011 08:25 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. เพิ่มเติมนิยามคำว่า “กองทุน” คำว่า “สมาคมกีฬา” และคำว่า “สมาคมกีฬาจังหวัด”และได้แก้ไขนิยามคำว่า “พนักงาน” โดยตัดผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทยออก (ร่างมาตรา 3)

2. กำหนดให้การกีฬาแห่งประเทศไทยมีอำนาจในการจำหน่ายทรัพย์สินจากบัญชีเป็นสูญโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย (ร่างมาตรา 4)

3. กำหนดเพิ่มเติมองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย โดยเพิ่มปลัดกระทรวงการคลังเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และกำหนดให้คณะรัฐมนตรีสามารถแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้อีกไม่เกินห้าคน (ร่างมาตรา 5)

4. กำหนดเพิ่มเติมองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกีฬาจังหวัด โดยเพิ่มนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกสมาคมกีฬาจังหวัด และผู้แทนเขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัด เป็นกรรมการ และกรรมการอื่น ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าเจ็ดคนแต่ไม่เกินสิบเอ็ดคน โดยในจำนวนนั้นจะต้องเป็นผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มิใช่องค์การบริหารส่วนจังหวัดหนึ่งคนและผู้แทนองค์กรเอกชนภายในจังหวัดจำนวนสองคน และได้กำหนดให้ผู้อำนวยการสำนักงาน กกท. จังหวัด เป็นกรรมการและเลขานุการ และเลขาธิการสมาคมกีฬาจังหวัดเป็นกรรมการและ ผู้ช่วยเลขานุการ (ร่างมาตรา 8)

5. กำหนดให้จัดตั้งกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติขึ้นใน กกท. เพื่อเป็นทุนสำหรับการส่งเสริม การพัฒนา การ คุ้มครอง และสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับการกีฬารวมตลอดถึงเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการดำเนินงานของกองทุน (ร่างมาตรา 10)

6. กำหนดให้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับรองสมาคมกีฬา การขออนุญาต และการอนุญาตให้เป็นสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทยกำหนด และกำหนดให้ กกท. มีอำนาจเพิกถอนการรับรองที่ให้ไว้แก่สมาคมกีฬาได้ในกรณีที่สมาคมนั้นไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับที่คณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทยกำหนด (ร่างมาตรา 14)

7. กำหนดให้ความผิดในหมวด 9 เป็นความผิดอันยอมความได้ (ร่างมาตรา 21)

8. กำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อรองรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่มีตามกฎหมายเดิม และเพื่อความต่อเนื่องในการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งนี้ ได้กำหนดให้มีการเร่งรัดการออกกฎหมายลำดับรอง ซึ่งจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น (ร่างมาตรา 22- ร่างมาตรา 28)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 มกราคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ