คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงาน ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา แล้วเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดบทนิยามคำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ให้มีความหมายครอบคลุมเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภท รวมทั้งเจ้าหน้าที่ในส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่ยังไม่มีบัตรประจำตัวหรือมีเหตุผลความจำเป็นต้องมีบัตรประจำตัวสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ (ร่างมาตรา 3 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 4)
2. กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสมาชิกสภาท้องถิ่น มีสิทธิได้รับและใช้บัตรประจำตัวสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย (ร่างมาตรา 4 เพิ่มเติมมาตรา 4/1)
3. กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีบัตรประจำตัวตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งข้อยกเว้นไม่ใช้บังคับกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีกฎหมายกำหนดให้ออกบัตรประจำตัวให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ไม่ต้องมีบัตรประจำตัวสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัตินี้
กำหนดผู้มีอำนาจออกบัตรประจำตัวสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐให้สอดคล้องกับการแก้ไขบทนิยามคำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ”
กำหนดให้ผู้มีอำนาจออกบัตรฯ อาจมอบหมายให้ผู้ดำรงตำแหน่งรองปฏิบัติการแทนได้ (ร่างมาตรา 5 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 5 มาตรา 6 และมาตรา 7)
4. กำหนดให้บัตรประจำตัวสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้ออกตามพระราชบัญญัติบัตรประจำเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2542 ให้คงใช้ได้ต่อไปจนถึงวันที่บัตรนั้นหมดอายุ (ร่างมาตรา 6)
5. กำหนดให้หน่วยงานของรัฐออกบัตรประจำตัวสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งยังไม่เคยมีบัตรประจำตัวให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (ร่างมาตรา 7)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 มกราคม 2554--จบ--