คณะรัฐมนตรีรับทราบและอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ดังนี้
1. รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงาน ตลอดจนปัญหา อุปสรรค และแนวทางการแก้ไขปัญหาของโครงการระบบขนส่งมวลชนทางราง
2. มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเสนอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เพื่อพิจารณาเรื่องการบริหารจัดการในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ และแบริ่ง-สมุทรปราการ ให้เกิดความชัดเจนเพื่อดำเนินการต่อไป
3. อนุมัติให้ รฟม. โอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2552 ของโครงการศึกษาและออกแบบโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายวงแหวนรอบในตามแนวถนนรัชดาภิเษก จำนวน 400 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจากค่าจ้างที่ปรึกษาฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี จำนวน 34.154 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในการจัดจ้างที่ปรึกษาดำเนินงานช่วงก่อนการก่อสร้าง โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ จำนวน 140 ล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี จำนวน 210 ล้านบาท
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงคมนาคม รายงานว่า โครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประกอบด้วย โครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการ และโครงการที่อยู่ระหว่างจัดเตรียมโครงการเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยสรุปสถานะโครงการต่างๆ ดังนี้
1. โครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการ
1.1 โครงการที่เปิดให้บริการแล้ว จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการระบบรถไฟขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (Airport Rail Link) ซึ่งเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2553 โดยเก็บค่าโดยสารในอัตราพิเศษ 15 บาทต่อเที่ยวสำหรับรถไฟฟ้าธรรมดาสุวรรณภูมิ (City Line) และ 100 บาทต่อเที่ยวสำหรับรถไฟฟ้าด่วนสุวรรรรณภูมิ (Express Line) พบว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นถึงระดับ 43,000 คนต่อวัน แบ่งเป็นผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าธรรมดาสุวรรณภูมิ 42,200 คนต่อวัน และผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าด่วนสุวรรรรณภูมิ 800 คนต่อวัน ทำให้จำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยในช่วงวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์จนถึงปัจจุบันเฉลี่ยประมาณ 35,400 คนต่อวัน และ 27,900 คนต่อวันในช่วงวันหยุด ซึ่งเป็นปริมาณผู้โดยสารที่ใกล้เคียงกับประมาณการ ทั้งนี้ เมื่อระบบ Check-in สำหรับผู้โดยสารสายการบินที่สถานีมักกะสันเปิดให้บริการในเดือนมกราคม 2554 แล้ว จะเก็บค่าโดยสารในอัตราปกติ คือ รถไฟฟ้าธรรมดาสุวรรณภูมิ 15-45 บาทต่อเที่ยวตามระยะทาง และรถไฟฟ้าด่วนสุวรรณภูมิ 150 บาทต่อเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะทำให้บริมาณผู้โดยสารโดยเฉพาะผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าด่วนสุวรรณภูมิเพิ่มขึ้น ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการจัดตั้งบริษัทลูก เพื่อบริหารจัดการเดินรถ Airport Link แล้ว
1.2 โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างงานโยธาและประกวดราคา จำนวน 4 โครงการ ดังนี้
1) โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน อยู่ระหว่างการก่อสร้างงานโยธา คืบหน้าร้อยละ 36.00 (ช้ากว่าแผนร้อยละ 8.68) (สิ้นเดือนกันยายน 2553) คาดว่าเปิดให้บริการ พ.ศ. 2558
2) โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต อยู่ระหว่างการประกวดราคา โดยมีกำหนดยื่นข้อเสนอในเดือนธันวาคม 2553 คาดว่าเปิดให้บริการ พ.ศ. 2558
3) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ อยู่ระหว่างการก่อสร้างงานโยธา คืบหน้าร้อยละ 7.31 (แผนร้อยละ 7.93) (สิ้นเดือนกันยายน 2553) และ รฟม. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและรับจ้างดำเนินกิจการโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาจัดทำร่างประกาศเชิญชวนและขอบเขตการดำเนินงาน คาดว่าเปิดให้บริการ พ.ศ. 2559
4) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และช่วงหัวลำโพง-บางแค อยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้รับจ้างงานโยธา ซึ่งคณะกรรมการ รฟม. ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2553 มีมติอนุมัติให้ รฟม. ว่าจ้างผู้รับจ้างสัญญาที่ 1-5 วงเงินรวม 51,747.62 ล้านบาท โดยได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2553 มีมติรับทราบผลการประกวดราคางานโยธา สัญญาที่ 1-5 และให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาดำเนินการตรวจสอบและกำกับติดตามการดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ตามข้อกฏหมาย ระเบียบหลักเกณฑ์ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีข้อสังเกตว่า ปัจจุบันค่าเงินบาท ได้มีอัตราที่แข็งขึ้นกว่าช่วงเวลาที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติกรอบวงเงินโครงการฯ ไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 กระทรวงคมนาคมจึงควรรับไปพิจารณาความเป็นไปได้ในการเจรจาต่อรองกับผู้ประกอบการในขั้นการจัดทำสัญญาให้สะท้อนกับค่าเงินบาทในปัจจุบันด้วย สำหรับงานคัดเลือกผู้รับจ้างงานระบบรถไฟฟ้ากระทรวงคมนาคมได้นำเสนอ สศช. พิจารณารายงานการศึกษารูปแบบการลงทุนและการเดินรถในลักษณะ PPP-Gross Cost ตามขั้นตอนของ พ.ร.บ. ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 คาดว่าเปิดให้บริการ พ.ศ. 2559
1.3 โครงการที่เตรียมเปิดการประกวดราคา รวม 2 โครงการ ประกอบด้วย
1) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ อยู่ระหว่างเตรียมการประกวดราคางานโยธา โดย รฟม. อยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน สำหรับงานคัดเลือกผู้รับจ้างงานระบบรถไฟฟ้า กระทรวงคมนาคมเตรียมนำเสนอ สศช. พิจารณารายงานศึกษารูปแบบการลงทุนและการเดินรถในลักษณะ PPP-Gross Cost ตามขั้นตอนว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 คาดว่าเปิดให้บริการ พ.ศ. 2558
2) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ อยู่ระหว่างเตรียมการประกวดราคา สำหรับงานคัดเลือกผู้รับจ้างงานระบบรถไฟฟ้า กระทรวงคมนาคมเตรียมนำเสนอ สศช. พิจารณารายงานศึกษารูปแบบการลงทุนและการเดินรถในลักษณะ PPP-Gross Cost ตามขั้นตอนของ พ.ร.บ. ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 คาดว่าเปิดให้บริการ พ.ศ. 2558
2. โครงการที่อยู่ระหว่างจัดเตรียมโครงการเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา
เพื่อดำเนินการเตรียมความพร้อมของโครงการฯ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2553 ที่เห็นชอบแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการในระยะ 10 ปีแรก (เปิดให้บริการภายในปี พ.ศ. 2562) ประกอบด้วยโครงการที่ต้องเร่งจัดเตรียม รวม 7 โครงการ ดังนี้
1) โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต อยู่ระหว่างสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าเปิดให้บริการ พ.ศ. 2558
2) โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน ออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างปรับปรุงรายงาน EIA ตามข้อเสนอของ สผ. คาดว่าเปิดให้บริการ พ.ศ. 2559
3) โครงการระบบรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ท่าอากาศยานกรุงเทพ (Airport Rail Link ส่วนต่อขยาย) ช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง ออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ สนข. อยู่ระหว่างปรับปรุงรายงาน EIA ตามข้อเสนอของ สผ.
4) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงสะพานใหม่-คูคต ออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จอยู่ระหว่าง สผ. พิจารณารายงาน EIA ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติก่อสร้างโครงการต่อไป
5) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้นแล้วเสร็จ โดยสำนักงบประมาณได้อนุมัติให้ รฟม. โอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2552 ของโครงการศึกษาและออกแบบฯ โครงข่ายระบบรถไฟฟ้าสายวงแหวนรอบในตามแนวถนนรัชดาภิเษก จำนวน 400 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นค่าจ้างที่ปรึกษาฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ จำนวน 34.154 ล้านบาท
6) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ แบ่งแผนดำเนินงานเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ช่วงเตาปูน-อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ (1.5 กิโลเมตร) โดย รฟม. ได้วางแผนก่อสร้างให้แล้วเสร็จพร้อมกับการเปิดใช้อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ในปี พ.ศ. 2557 ระยะที่ 2 ช่วงอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ - วังบูรพา เพื่อความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุด ในการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค ระยะที่ 3 ช่วงวังบูรพา-ราษฎร์บูรณะ
โดยคณะกรรมการ รฟม. ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2553 มีมติเห็นชอบในหลักการกรอบวงเงินค่าจ้างที่ปรึกษา เพื่อดำเนินงานช่วงก่อนการก่อสร้างโครงการฯ จำนวน 140 ล้านบาท (ทบทวนความเหมาะสม ออกแบบรายละเอียด (Detailed Design) ในส่วนโครงสร้างยกระดับ และออกแบบกรอบรายละเอียด (Definitive Design) ในส่วนโครงสร้างใต้ดิน จัดทำเอกสารประกวดราคา และดำเนินงานตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535)
7) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี แบ่งแผนดำเนินงานเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางกะปิ ระยะที่ 2 ช่วงบางกะปิ- มีนบุรี ระยะที่ 3 ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม
โดยคณะกรรมการ รฟม. ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2553 มีมติเห็นชอบในหลักการกรอบวงเงินค่าจ้างที่ปรึกษา เพื่อดำเนินงานช่วงก่อนการก่อสร้างโครงการฯ จำนวน 210 ล้านบาท (ศึกษา/ทบทวนความเหมาะสม ออกแบบรายละเอียด (Detailed Design) สำหรับโครงสร้างยกระดับ และออกแบบกรอบรายละเอียด (Definitive Design) สำหรับโครงสร้างใต้ดิน จัดทำเอกสารประกวดราคา และดำเนินงานตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535)
3. ปัญหาอุปสรรคและแนวทางการแก้ไข
3.1 โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่
การปรับแบบเพื่อเป็นสถานีร่วมระหว่างสถานีวัดพระศรีมหาธาตุของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ กับสถานีอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี
สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และ รฟม. ได้ร่วมกันพิจารณาแก้ไขปัญหาการใช้พื้นที่สำนักงานเขตบางเขนเพื่อก่อสร้างโครงการ เนื่องจาก กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้แจ้ง รฟม. ว่าไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ จึงได้พิจารณาปรับปรุงการออกแบบสถานีวัดพระศรีมหาธาตุของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวฯ กับสถานีอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ ให้เป็นสถานีร่วม (Interchange Station) บริเวณอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เพื่อให้อำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น โดยได้ดำเนินการปรับแบบสถานีร่วมดังกล่าวแล้วเสร็จ ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงรายงาน EIA เสนอ สผ. พิจารณาต่อไป
2) หน่วยงานเจ้าของโครงการตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535
มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2553 เห็นชอบในหลักการของการต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม จากช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ ระยะทาง 11.4 กิโลเมตร เป็น 18.4 กิโลเมตร และยกเลิกศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) บริเวณด้านทิศใต้ของสนามบินดอนเมือง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2551 และให้มีศูนย์ซ่อมบำรุงบริเวณตำบลคูคตแทน โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม (รฟม.) ดำเนินการให้ส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป และเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาความเหมาะสมการบริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และสายสีเขียวส่วนต่อขยาย โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) เป็นประธานอนุกรรมการ เพื่อพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการ การเดินรถ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายให้เกิดประสิทธิภาพเหมาะสม และเป็นประโยชน์สูงสุด ในการให้บริการต่อประชาชนโดยรวม ซึ่งในคราวประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2553 มีมติมอบหมายให้ สนข. ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ รายงานความเห็นของที่ประชุม และจัดทำข้อมูลเปรียบเทียบ ข้อดีและข้อเสีย ในเรื่องการดำเนินการตามข้อเสนอของ กทม. เสนอประธานอนุกรรมการฯ ทราบ เพื่อประกอบการพิจารณาเสนอ คจร. ต่อไป โดยที่ประชุมได้พิจารณาในประเด็นเรื่องความเป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการตามข้อเสนอของ กทม. ซึ่งต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ ที่มีรายละเอียดกำหนดไว้ชัดเจน โดยมีประเด็นพิจารณา ดังนี้
1) กทม. อ้างสิทธิการบริหารจัดการในฐานะเจ้าของโครงการ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2547 ที่เห็นชอบให้ กทม. รับผิดชอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ และช่วงอ่อนนุช-สำโรง
2) ในขณะที่ รฟม. ได้ดำเนินการตามมาตรา 6 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเสนอผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
- มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2549 เห็นชอบในหลักการให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนระบบรถไฟฟ้า อาณัติสัญญาณ ระบบตัวรถ และให้บริการ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการตามขั้นตอนของพ.ร.บ. ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 อย่างเคร่งครัด และให้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (สายสีเขียว) ช่วงแบริ่ง-สำโรง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ โดยให้กระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานประสานเพื่อดำเนินการศึกษาออกแบบรายละเอียด และจัดทำเอกสารประกวดราคา สำหรับเตรียมการก่อสร้างต่อไป
- มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2551 รับทราบมติคณะกรรมการพัฒนาระบบขนส่งทางรางและระบบขนส่งมวลชน ครั้งที่ 1/2551 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2551 ซึ่งมีมติมอบหมายให้ รฟม. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งสองช่วงดังกล่าว
1) มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2551 อนุมัติให้ รฟม. ดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ กรอบวงเงินรวมประมาณ 40,322 ล้านบาท
2) รฟม. อยู่ระหว่างนำเสนอรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เพื่อเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณานำเสนอสศช. ตามขั้นตอนต่อไป
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความรอบคอบและชัดเจนในเรื่องหน่วยงานเจ้าของโครงการตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 จึงเห็นสมควรเสนอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาเรื่องหน่วยงานเจ้าของโครงการให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการต่อไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 มกราคม 2554--จบ--