สถานการณ์และราคาจำหน่ายน้ำมันพืชปาล์ม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 12, 2011 14:08 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงพาณิชย์รายงานสถานการณ์การผลิตผลปาล์ม ปริมาณสต็อคน้ำมันปาล์มดิบและราคาจำหน่ายน้ำมันพืชปาล์ม พบว่า ในช่วงปลายปี 2553 มีปัญหาทั้งด้านปริมาณและราคา ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว ดังนี้

1. สถานการณ์และราคาน้ำมันพืชปาล์ม

1.1 ราคาวัตถุดิบ ได้แก่ ผลปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มดิบมีปริมาณลดลง และราคาโน้มสูงขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2553 จาก กก. ละ 5.10 บาท และ 27.49 บาท เป็น กก. ละ 7.60 บาท และ 47.35 บาท ในเดือนธันวาคม 2553 เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูการผลิต ประกอบกับเกิดภาวะภัยแล้งในช่วงต้นปี 2553 และน้ำท่วมในช่วงปลายปี ทำให้ผลผลิตปาล์มลดลง ในขณะที่ความต้องการใช้ในภาคการบริโภค ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้ง การใช้ในภาคพลังงานทดแทนเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ สต็อคคงเหลือน้ำมันปาล์มดิบของเดือนธันวาคม 2553 ลดลงอยู่ที่ประมาณ 80,000 ตัน จากปกติ ที่ควรอยู่ในระดับ 120,000-150,000 ตัน

1.2 ราคาจำหน่ายน้ำมันพืชปาล์ม กระทรวงพาณิชย์ ได้กำหนดราคาจำหน่ายปลีกแนะนำน้ำมันพืชปาล์มไว้ที่ขวดลิตรละ 38.00 บาท ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551 โดยวิเคราะห์จากราคาผลปาล์มที่ กก. ละ 3.50 บาท และน้ำมันปาล์มดิบที่ กก. ละ 22.50 บาท แต่จากการที่ราคาวัตถุดิบในปัจจุบันสูงขึ้นดังกล่าวข้างต้น ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถจำหน่ายน้ำมันพืชปาล์มได้ในราคาที่กำหนดขวด ลิตรละ 38.00 บาท

2. การแก้ไขปัญหา

2.1 กระทรวงพาณิชย์ ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนหารือสถานการณ์ ปาล์มน้ำมันและแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านปริมาณและราคา เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2553 โดยที่ประชุมได้มีมติให้เสนอคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติพิจารณาให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นผู้นำเข้าน้ำมันปาล์มดิบใส (Crude Palm Olein) ปริมาณ 30,000-50,000 ตัน ภายใต้กรอบความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และจัดสรรให้สมาชิกสมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์มตามสัดส่วนการรับซื้อผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบในประเทศ ปี 2553 โดยจะต้องนำเข้าให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อราคาผลปาล์มในประเทศทั้งระบบ และให้มีการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาราคาน้ำมันพืชบริโภค เพื่อกำหนดราคาจำหน่ายที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหลังสิ้นสุดระยะเวลาการขอความร่วมมือตรึงราคาสินค้า (ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2553)

ในการนี้ คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ในคราวประชุมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม 2554 เห็นชอบให้นำเข้าน้ำมันปาล์มดิบใส (Crude Palm Olein) จำนวน 30,000 ตัน โดยให้องค์การคลังสินค้าเป็นผู้นำเข้า และให้นำเข้าให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมกราคม 2554

2.2 ได้มอบหมายให้ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ทำการตรวจสอบสต็อคน้ำมันปาล์ม พบว่า มีสต็อคน้ำมันพืชปาล์ม ที่ผลิตในช่วงก่อนเดือนตุลาคม 2553 (เป็นช่วงที่ราคาวัตถุดิบยังอยู่ในระดับปกติ) จึงได้แจ้งให้ผู้ประกอบการนำสต็อคสินค้าดังกล่าว ออกมาจำหน่าย ในราคาเดิมที่ขวดลิตรละ 38.00 บาท ซึ่งผู้ประกอบการได้นำน้ำมันพืชปาล์มออกจำหน่ายผ่าน ห้างธุรกิจค้าส่งค้าปลีกขนาดใหญ่ ตลาดสดดีเด่น 5 แห่ง และที่กระทรวงพาณิชย์ ปริมาณประมาณ 2,000,000 ขวด (1 ลิตร) เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้บริโภคทั่วประเทศในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่มีความต้องการใช้มาก

2.3 ได้จัดประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาราคาน้ำมันพืชบริโภค เมื่อวันศุกร์ที่ 7 มกราคม 2554 เพื่อพิจารณากำหนดราคาจำหน่ายน้ำมันพืชปาล์มที่เหมาะสม ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาเห็นว่าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นสถานการณ์ที่ผิดปกติทั้งในด้านปริมาณและราคา โดยวัตถุดิบน้ำมันปาล์มดิบถูกนำไปใช้ในส่วนของพลังงานทดแทนบางส่วน ซึ่งช่องทางนี้มีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดูแลและให้การอุดหนุนอยู่ ส่วนในด้านของการนำมาใช้เพื่อการบริโภคและอุตสาหกรรมอื่นไม่มีกองทุน ให้การสนับสนุน ทำให้ผู้ประกอบการต้องรับภาระเองทั้งหมด ดังนั้น การแก้ไขปัญหาในครั้งนี้จำเป็นต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณากำหนดราคาจำหน่ายที่เหมาะสม พร้อมมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหา ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้

2.3.1 การแก้ไขปัญหาระยะสั้น

(1) กำหนดราคาจำหน่ายน้ำมันพืชปาล์มที่ขวดลิตรละ 47.00 บาท โดยใช้ราคาน้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ตลาดมาเลเซีย ที่จะมีการนำเข้ามาเป็นฐานในการคำนวณที่ประมาณ กก.ละ 36.51 บาท รวมค่าใช้จ่ายในการนำเข้า กก.ละ 1.50 บาท โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2554 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกยังคงมีความผันผวนและอยู่ในระดับสูง โดยเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2554 ราคาได้สูงขึ้นเป็นกก.ละ 38.54 บาท ทำให้ผู้ประกอบการจึงยังคงต้องรับภาระอยู่อีกบางส่วน ทั้งนี้คาดว่าเมื่อมีการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 30,000 ตัน ดังกล่าวแล้ว และในช่วงเดือนมีนาคม 2554 ผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากขึ้น ราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศน่าจะอ่อนตัวลง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะพิจารณาทบทวนการกำหนดราคาจำหน่ายน้ำมันพืชปาล์มอีกครั้งในเดือนมีนาคม 2554

(2) การจำหน่ายน้ำมันพืชปาล์มในห้างค้าปลีก กระทรวงพาณิชย์เจรจากับห้างค้าส่งค้าปลีกขนาดใหญ่ พิจารณาลดค่าใช้จ่ายในการกระจายน้ำมันพืชปาล์มเพื่อให้สามารถจำหน่ายในราคาไม่เกินขวดลิตรละ 47.00 บาท ในกรณีที่มีการตรวจพบว่า มีการจำหน่ายเกินขวดลิตรละ 47.00 บาท ดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัดต่อไป

(3) เร่งรัดการนำเข้าตามมติคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติเร่งรัดให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) นำเข้าน้ำมันปาล์มดิบใสตามมติของคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติจำนวน 30,000 ตัน ภายในเดือนมกราคม 2554 และจัดสรรให้โรงสกัดโดยเร็ว เพื่อคลี่คลายปัญหาด้านปริมาณและราคาในปัจจุบัน

(4) กระทรวงพาณิชย์ ได้มีคำสั่งที่ 3/2554 ลงวันที่ 7 มกราคม 2554 แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบปริมาณ (สต็อค) สถานที่จัดเก็บ และกำกับดูแลการแก้ไขปัญหาน้ำมันปาล์ม โดยให้ พล.ต.ต. พูลทรัพย์ ประเสริฐศักดิ์ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปราบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ผบก.ปคบ.) เป็นประธานคณะทำงานฯ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นรองประธาน ทำหน้าที่ปฏิบัติงานออกตรวจสอบทั่วประเทศ เพื่อป้องปรามปัญหาการกักตุนและขายสินค้าเกินราคา กรณีพบการกระทำความผิดดังกล่าวจะดำเนินการตามกฎหมายทันที

2.3.2 การแก้ไขปัญหาระยะยาว

(1) การจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันพืชปาล์ม ที่ประชุมมีข้อเสนอให้จัดตั้งกองทุนเพื่อบริหารปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ เพื่อให้ราคาน้ำมันพืชปาล์ม มีเสถียรภาพเช่นเดียวกับการใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นกลไกในการรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะได้มีการหารือกับผู้เกี่ยวข้องในแนวทางการจัดตั้งกองทุนฯ พร้อมทั้ง ศึกษาวิธีปฏิบัติเพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบ มิให้เกิดปัญหาด้านราคาดังเช่นปัจจุบัน

(2) การจัดระเบียบการค้าผลปาล์มเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางการค้า เห็นควรให้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ พิจารณาจัดระเบียบผู้รับซื้อผลปาล์ม (ลานเท) ซึ่งมีจำนวนมากรายทำให้เกิดการแย่งซื้อผลปาล์มโดยให้ราคาสูงขึ้น รวมทั้ง มีพฤติกรรมในการใช้สารเคมี (ฟอร์มาลีน) ในการทำให้ผลปาล์มหลุดจากทะลาย ซึ่งเป็นสารที่มีอันตรายต่อผู้บริโภค โดยอาจจำเป็นต้องใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ในการกำหนดระเบียบให้ปฏิบัติ เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางการค้า และใช้อำนาจพระราชบัญญัติชั่งตวงวัด พ.ศ.2542 เข้มงวดในการตรวจสอบเครื่องชั่งของลานเท

(3) การบริหารปริมาณสินค้าคงคลังให้อยู่ในระดับที่คล่องตัว โดยกำหนดให้มีปริมาณในระดับที่ 150,000 ตัน (Buffer Stock) และให้กระทรวงพาณิชย์เป็นแกนในการติดตามสถานการณ์ด้านปริมาณและกำหนดแนวทางในการรักษาระดับปริมาณน้ำมันปาล์มให้มีเสถียรภาพอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันปัญหาการตึงตัวและราคาสูงผิดปกติ เนื่องจากสถานการณ์การผลิต และความต้องการใช้ของประเทศได้เปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยใช้เฉพาะการบริโภคอย่างเดียวมาใช้ในพลังงานทดแทนด้วย และเห็นว่าระดับสต็อคที่เหมาะสมควรเป็น 120,000 - 150,000 ตัน ในกรณีที่ปริมาณสต็อคน้ำมันปาล์มต่ำกว่าระดับ 120,000 ตัน ถือว่าสต็อคต่ำเข้าขั้นวิกฤต (Critical Stock) จำเป็นจะต้องให้มีการนำเข้าน้ำมันปาล์มอย่างเร่งด่วน และเห็นควรบริหารให้มีสต็อคปกติ (Buffer Stock) ที่ระดับ 150,000 ตัน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในระบบการจำหน่ายน้ำมันพืชปาล์ม ในประเทศ ทั้งในด้านการบริโภค ภาคอุตสาหกรรมและพลังงานทดแทน

16. เรื่อง รายงานการนำเข้าสินค้าที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (ประจำไตรมาสที่ 2 ของปี พ.ศ. 2553)

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานการนำเข้าสินค้าที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (ประจำไตรมาสที่ 2 ของ ปี พ.ศ. 2553) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการคลังรายงานว่า ในไตรมาสที่ 2 ปี พ.ศ. 2553 (เมษายน — มิถุนายน) มีการนำเข้าสินค้าที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรจากประเทศสมาชิกใหม่อาเซียน (ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสหภาพพม่า) โดยมีมูลค่าสินค้าที่ได้รับสิทธิพิเศษรวม 191,017 บาท แยกเป็นมูลค่าสินค้าที่ยกเว้นอากร 191,017 บาท และไม่พบมูลค่าสินค้าที่ลดหย่อนอากร ทั้งนี้ มีการนำเข้ารวมลดลงจากการเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 1 ปี พ.ศ. 2553 จำนวน 11,450,322 บาท

17. เรื่อง รายงานผลการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรออมทรัพย์ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 ครั้งที่ 2 ที่ครบกำหนดในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2553

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรออมทรัพย์ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 ครั้งที่ 2 ที่ครบกำหนดในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2553 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการคลังรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2553 มีพันธบัตรออมทรัพย์ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 ครั้งที่ 2 ครบกำหนดไถ่ถอน จำนวน 2,000 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ จำนวนดังกล่าวทั้งจำนวน โดยกู้เงินระยะยาวโดยตั๋วสัญญาใช้เงิน อายุ 5 ปี จำนวน 2,000 ล้านบาท จากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) อัตราดอกเบี้ยเท่ากับอัตราดอกเบี้ย BIBOR ลบ Spread ร้อยละ 0.02 ต่อปี ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ โดยตั๋วสัญญาใช้เงิน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ครั้งที่ 1 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2553 ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้นำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับประกาศและงานทั่วไป เล่มที่ 127 ตอนพิเศษ 132 ง เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2553 แล้ว

18. เรื่อง โครงการเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวงหมายเลข 2090 และเรื่อง รายงานผลกระทบความเสียหายกรณีการตัดไม้จากการดำเนินการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2090 (ถนนธนะรัชต์)

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณาของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการก่อสร้างขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2090 ตอนแยกทางหลวงหมายเลข 2 ต่อเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ระหว่าง กม. ที่ 2+000 — กม. 10+100 (ถนนธนะรัชต์) อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และผลกระทบจากการตัดต้นไม้บนไหล่ทาง เกี่ยวกับเรื่อง โครงการเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวงหมายเลข 2090 และเรื่อง รายงานผลกระทบความเสียหายกรณีการตัดไม้จากการดำเนินการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2090 (ถนนธนะรัชต์) ตามที่ประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ (นายวิเชียร กีรตินิจกาล) ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

ประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ฯ รายงานว่า

1. คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ในการประชุมครั้งที่ 4/2553 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2553 ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าว แล้วเห็นว่า ในการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2553 ครั้งที่ 2/2553 เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2553 และครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2553 คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงจนได้ข้อมูลพียงพอที่จะสรุปถึงผลกระทบจากการตัดต้นไม้บนไหล่ทางของกรมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2090 ตอนแยกทางหลวงหมายเลข 2 ต่อเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ระหว่าง กม. ที่ 2 ถึง กม. ที่ 10 (ถนนธนะรัชต์) พร้อมทั้งได้จัดทำข้อเสนอแนะในการฟื้นฟูพื้นที่ดังกล่าวแล้ว โดยในการพิจารณาตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ได้ดำเนินการด้วยความรอบคอบ โดยเฉพาะในประเด็นปัญหาว่าตามมติคณะรัฐมนตรี ( 8 มิถุนายน 2553) กระทรวงคมนาคม (กรมทางหลวง) ต้องยุติการดำเนินโครงการฯ ทั้งหมดทันทีหรือไม่ นั้น คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ได้พิจารณาตรวจสอบแล้วปรากฏข้อเท็จจริงว่า กระทรวงคมนาคม ได้มีหนังสือขอหารือมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2553 มายัง สลค. ซึ่ง สลค.ได้มีหนังสือตอบข้อหารือเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไปยัง คค.

2. ผู้แทนกรมทางหลวงได้แจ้งให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ทราบเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันนี้กรมทางหลวงได้ดำเนินการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2090 ตอนแยกทางหลวงหมายเลข 2 ต่อเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในช่วง กม. 2 + 000-กม. 10+100 (ถนนธนะรัชต์) เป็นถนน 4 ช่องจราจร พร้อมช่องทางรถจักรยานและไหล่ทางตามแผนฟื้นฟูสภาพภูมิทัศน์และระบบนิเวศที่ได้พิจารณาร่วมกับกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และจังหวัดนครราชสีมาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2553 ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ในการประชุมครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2553 เสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ในระหว่างดำเนินการปลูกต้นไม้ตามแผนฟื้นฟูต่อไป โดยในการดำเนินโครงการ ฯ ของกรมทางหลวงดังกล่าวประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ได้ให้การสนับสนุนการดำเนินการของกรมทางหลวงโดยไม่มีการต่อต้านแต่อย่างใด

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 มกราคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ