รายงานผลความคืบหน้าการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในงาน“6 วัน 63 ล้านความคิด”ร่วมเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทยตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ก.ค.53

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 12, 2011 14:43 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เสนอรายงานผลความคืบหน้าการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในงาน “6 วัน 63 ล้านความคิด” ร่วมเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2553 ดังนี้

เรื่องเดิม

คณะรัฐมนตรีได้มีมติในคราวการประชุมเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2553 รับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในงาน “6 วัน 63 ล้านความคิด” ร่วมเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ และมอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) รับไปจัดตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อพิจารณากลั่นกรองข้อมูลผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในงาน “6 วัน 63 ล้านความคิด” ร่วมเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย ก่อนส่งให้คณะกรรมการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการต่อไป ดังนี้

1. กรณีที่เป็นเรื่องราวร้องทุกข์ต่างๆ ให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาและจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการในการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยให้คณะทำงานมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และติดตามรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบ ทั้งนี้ ให้คณะทำงานกำหนดกรอบเวลาในการแก้ไขปัญหาด้วย

2. กรณีที่เป็นข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย ให้ส่งให้คณะกรรมการหรือหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

ข้อเท็จจริง

1. รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 216/2553 ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2553 แต่งตั้งคณะกรรมการวิเคราะห์และติดตามผลการรับฟังความคิดเห็นในโครงการ “6 วัน 63 ล้านความคิด” โดยให้มีอำนาจหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูล จำแนกและวิเคราะห์ประเภทของข้อมูลในเรื่องที่เป็นนโยบายและเรื่องที่เป็นเรื่องราวร้องทุกข์เพื่อดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2553

2. คณะกรรมการวิเคราะห์และติดตามผลการรับฟังความคิดเห็นในโครงการ “6 วัน 63 ล้านความคิด” ได้พิจารณากลั่นกรองข้อมูลการรับฟังความคิดเห็น จำนวนรวม 298 เรื่องแล้ว สามารถจำแนกได้เป็น 2 กรณี กล่าวคือเป็นกรณีเรื่องราวร้องทุกข์ จำนวน 120 เรื่อง และกรณีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย จำนวน 178 เรื่อง

3. คณะกรรมการวิเคราะห์และติดตามผลการรับฟังความคิดเห็นในโครงการ “6 วัน 63 ล้านความคิด” ได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีดำเนินการส่งเรื่องราวร้องทุกข์และข้อเสนอแนะ จำนวน 298 เรื่อง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 27 หน่วยงาน รับไปพิจารณาดำเนินการ ดังนี้

3.1 กรณีเรื่องราวร้องทุกข์ จำนวน 120 เรื่อง ซึ่งเกี่ยวข้องกับ 21 หน่วยงาน ให้หน่วยงานรับไปพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาแล้วรายงานผลการดำเนินงานให้ทราบภายใน 15 วัน หลังจากวันที่ได้รับเรื่อง เพื่อจะได้รวบรวมนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

3.2 กรณีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย จำนวน 178 เรื่อง เกี่ยวข้องกับ 24 หน่วยงาน ให้หน่วยงานรับไว้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

การดำเนินการ

สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการส่งเรื่องราวร้องทุกข์และข้อเสนอแนะ จำนวนรวม 298 เรื่อง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 27 หน่วยงาน รับไปพิจารณาดำเนินการ และเร่งรัดติดตามผลการดำเนินการ ปรากฏผลสรุปได้ดังนี้

1. กรณีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย จำนวน 178 เรื่อง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบไว้เป็นข้อมูลเพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แล้ว โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ว่า

1.1 ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ ปัญหาด้านการเงินที่ต้องเร่งปรับลดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้ประชาชนเข้าถึงได้มากขึ้นและการปราบปรามการให้สินเชื่อนอกระบบ โดยในส่วนสินเชื่อในระบบ ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารและบัตรเครดิต การผ่อนปรนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการค้ำประกันเงินกู้ของธนาคาร ปัญหาด้านค่าครองชีพฯ ควรเน้นการควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นปัญหาของครัวเรือนเกษตรกรที่ต้องเน้นการปฏิรูปที่ดินทำกินเพื่อจัดสรรให้แก่เกษตรกรที่ยากไร้ ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับทราบไว้เป็นข้อมูลเพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แล้ว

1.2 ด้านการเมืองและกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ ด้านการทุจริตคอรัปชั่นควรมีการบังคับใช้กฎหมายแก่ผู้กระทำความผิดอย่างจริงจังและรวดเร็ว รวมทั้งส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเสมอภาค ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงยุติธรรมได้รับทราบไว้เป็นข้อมูลเพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แล้ว

1.3 ด้านสวัสดิการสังคม ได้แก่ ด้านชุมชน สังคม สาธารณสุข ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ภาครัฐควรมีการส่งเสริมการประกอบอาชีพ และจัดหาที่ดินทำกินและเงินทุนในการประกอบอาชีพ ลดช่องว่างทางสังคม สร้างโอกาสทางสังคมให้กับคนระดับล่างมากขึ้นทั้งทางด้านที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพ การรักษาพยาบาล การศึกษา และการถูกเอารัดเอาเปรียบทางสังคม รวมทั้ง ปลูกฝังระบบคุณธรรมและจริยธรรมให้กับคนไทยในทุกระดับ ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้รับทราบไว้เป็นข้อมูลเพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แล้ว

1.4 ด้านการศึกษา ได้แก่ ควรปฏิรูปเรื่องการอ่านให้เป็นวาระแห่งชาติ การปฏิรูปการศึกษาต้องให้ความสำคัญกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอย่างแท้จริง ปรับปรุงโครงสร้างการศึกษาของเด็กในระดับประถมศึกษาให้เข้มข้นกว่าเดิม ปลูกจิตสำนึกให้นักเรียน/คนรุ่นใหม่มีความรักชาติ รักสถาบัน และรักความเป็นไทย ส่งเสริมเรื่องประชาธิปไตยและวัฒนธรรมไทย รวมทั้งโรงเรียนต้องมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเด็ก และควรมีนโยบายเรียนฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น และเพิ่มวงเงินค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการศึกษาในด้านอื่นๆ ให้มีความครอบคลุมและเพียงพอมากขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้รับทราบไว้เป็นข้อมูลเพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แล้ว

1.5 ด้านสาธารณูปโภค ได้แก่ รัฐบาลควรมีนโยบายที่ต่อเนื่องระยะยาว ในการจัดทำแผนพัฒนาการกระจายและปรับปรุงซ่อมแซมสาธารณูปโภคให้เพียงพอ เท่าเทียม และทั่วถึง ทุกจังหวัดทั้งในด้านน้ำ/ไฟฟ้า/ถนน ระบบขนส่งมวลชนควรพัฒนาและใส่ใจในเรื่องความปลอดภัยให้มากขึ้น ด้านเทคโนโลยีควรพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศให้ก้าวทันโลก และควรมีสื่อกลางที่ทำหน้าที่กระจายข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลอย่างทั่วถึง ถูกต้องและเป็นกลาง และมีข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้รับทราบเป็นข้อมูลเพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แล้ว

1.6 ด้านสิ่งแวดล้อมและการบริหารทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ ควรเร่งดำเนินการธนาคารต้นไม้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง รณรงค์ให้ปลูกป่าทดแทน และหลีกเลี่ยงการตัดถนนในพื้นที่อนุรักษ์ สำรวจแบ่งพื้นที่แสดงแนวเขตพื้นที่อนุรักษ์และที่ดินเอกชนให้ชัดเจน และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพิ่มบทลงโทษให้มากขึ้น เอาผิดแก่เจ้าหน้าที่รัฐที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ตรวจสอบการถือครองที่ดินของผู้มีอิทธิพล เพิ่มบทบาทของชุมชนในการร่วมดูแลรักษาป่าไม้ และคิดค้นวิธีกลั่นน้ำทะเลเป็นน้ำจืด ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับทราบไว้เป็นข้อมูลเพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แล้ว

1.7 ด้านสื่อและการสื่อสารมวลชน ได้แก่ ควรปฏิรูปสื่อให้มีความเป็นกลาง มีความรับผิดชอบและมีจรรยาบรรณในการนำเสนอข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาโดยใช้ภาษาที่เหมาะสม รวมทั้งเพิ่มบทลงโทษในกรณีที่มีการใช้สื่อในทางที่ผิด เพิ่มช่องการใช้สื่อในการแสดงความคิดเห็น การร้องทุกข์และการสร้างความเข้าใจระหว่างประชาชนและรัฐบาลด้วยช่องทางที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย และรวดเร็ว ทั้งนี้ กรมประชาสัมพันธ์ได้รับทราบไว้เป็นข้อมูลเพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แล้ว

1.8 ประเด็นอื่นๆ ได้แก่ รัฐบาลควรมีความเข้มแข็งและอดทนในการทำงาน เพื่อจัดให้มีการปฏิรูปประเทศไทย/แผนปรองดองอย่างจริงจัง โปร่งใส เป็นกลาง รับฟังทุกความคิดเห็นจากประชาชนเป็นหลัก นอกจากนี้ สนับสนุนให้มีการดำเนินโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศต่อไป รัฐบาลควรเร่งแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน และควรเร่งดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550

2. กรณีเรื่องราวร้องทุกข์ จำนวน 120 เรื่อง สามารถยุติเรื่องได้ทั้งหมด โดยจำแนกได้ดังนี้

2.1 ยุติเรื่องโดยมีผลการดำเนินการแล้ว จำนวน 28 เรื่อง จำแนกเป็นรายกระทรวงเรียงลำดับตามจำนวนเรื่องมากที่สุดได้ดังนี้

(1) กระทรวงการคลัง ได้แก่ ปัญหาการให้บริการด้านสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ และปัญหาการใช้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งกระทรวงการคลังได้แจ้งผลการดำเนินการและชี้แจงให้ผู้ร้องทราบเป็นที่เข้าใจแล้ว

(2) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ ปัญหาการจ่ายเงินชดเชยการเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างโครงการเขื่อนแควน้อย และการขอรับความช่วยเหลือตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน พ.ศ. 2546 ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แจ้งผลการดำเนินการและชี้แจงให้ผู้ร้องทราบเป็นที่เข้าใจแล้ว

(3) กระทรวงคมนาคม ได้แก่ ปัญหาการจัดการเดินรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และการรับเงินบำนาญของพนักงานรถไฟ ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้แจ้งผลการดำเนินการและชี้แจงให้ผู้ร้องทราบเป็นที่เข้าใจแล้ว

(4) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้แก่ ปัญหาการขอที่อยู่อาศัย และปัญหาการใช้สิทธิรับเบี้ยยังชีพผู้พิการ ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้แจ้งผลการดำเนินการและชี้แจงให้ผู้ร้องทราบเป็นที่เข้าใจแล้ว

(5) กระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ ปัญหาการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา และปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างภายในโรงเรียน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้แจ้งผลการดำเนินการและชี้แจงให้ผู้ร้องทราบเป็นที่เข้าใจแล้ว

2.2 ยุติเรื่องโดยอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการแก้ไขปัญหาของส่วนราชการจำนวน 83 เรื่อง จำแนกเป็นรายกระทรวงเรียงลำดับตามจำนวนเรื่องมากที่สุด 5 อันดับแรกได้ดังนี้

(1) กระทรวงการคลัง ได้แก่ ปัญหาหนี้นอกระบบและปัญหาการกู้เงินกับสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทยและศูนย์อำนวยการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชนพิจารณาดำเนินการแล้ว

(2) กระทรวงมหาดไทย ได้แก่ การขอความเป็นธรรมกรณีชาวบ้านถูกบุกรุกที่ดินทำกิน และการขอสัญชาติไทย ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้ศูนย์ดำรงธรรมประจำจังหวัดพิจารณาดำเนินการแล้ว

(3) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แก่ การร้องเรียนกรณีสัญญาณไฟจราจรทำให้เกิดปัญหารถติด และการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มอบหมายให้สำนักงานจเรตำรวจพิจารณาดำเนินการแล้ว

(4) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การขอเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกิน และการร้องเรียนการบุกรุกชายฝั่งทะเล ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มอบหมายให้กรมป่าไม้และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพิจารณาดำเนินการแล้ว

(5) กระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ การขอทุนการศึกษา และการขอกู้เงินเพื่อการซ่อมแซมบ้าน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาพิจารณาดำเนินการแล้ว

2.3 ยุติเรื่องเนื่องจากไม่สามารถดำเนินการได้ จำนวน 9 เรื่อง จำแนกเป็นรายกระทรวงเรียงลำดับตามจำนวนเรื่องมากที่สุด 5 อันดับแรกได้ดังนี้

(1) กระทรวงมหาดไทย ได้แก่ ปัญหาความเดือดร้อนในเรื่องที่ดินทำกิน ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากข้อมูลไม่ชัดเจนเพียงพอประกอบกับไม่สามารถติดต่อผู้ร้องได้

(2) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ การให้ออกเอกสารสิทธิ์ สปก. 4-01 ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ตรวจสอบแล้วพบว่าปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวยังคงเป็นที่สาธารณประโยชน์ประชาชนใช้ร่วมกัน จึงไม่สามารถออก สปก. 4-01 ให้กับผู้ร้องได้ ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แจ้งผลการดำเนินการและชี้แจงให้ผู้ร้องทราบเป็นที่เข้าใจแล้ว

(3) กระทรวงพาณิชย์ ได้แก่ การร้องเรียนกรณีการขอจดทะเบียนสิทธิบัตรดำเนินการมาแล้ว 3 ปียังไม่แล้วเสร็จ ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากข้อมูลไม่ชัดเจนเพียงพอประกอบกับ ไม่สามารถติดต่อผู้ร้องได้

(4) กระทรวงแรงงาน ได้แก่ การขอฝึกอาชีพเพื่อให้มีรายได้เสริม ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจาก เนื่องจากข้อมูลไม่ชัดเจนเพียงพอประกอบกับไม่สามารถติดต่อผู้ร้องได้

(5) กรุงเทพมหานคร ได้แก่ การขอเงินทุนเพื่อการประกอบอาชีพ ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากผู้ร้องขาดคุณสมบัติตามระเบียบในการช่วยเหลือ ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้แจ้งผลการดำเนินการและชี้แจงให้ผู้ร้องทราบเป็นที่เข้าใจแล้ว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 มกราคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ