เอกสารสำคัญที่จะมีการรับรองในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 10

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 12, 2011 15:10 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ทก.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 10 และร่างแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอาเซียน

2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมรับรองร่างแถลงการณ์ฯ และร่างแผนแม่บทฯ ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 10 ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าว ที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ขอให้ ทก. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ทก.) รายงานว่า

1. มาเลเซียจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 10 (The 10th ASEAN Telecommunications and IT Ministers Meeting : The 10th TELMIN) ระหว่างวันที่ 13 — 14 มกราคม 2554 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยในระหว่างการประชุมดังกล่าวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จะร่วมให้การรับรองเอกสารสำคัญ จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่

1.1 ร่างแถลงการณ์การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 10

เป็นเอกสารสำคัญที่แสดงเจตนาในการดำเนินการความร่วมมือด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาระสำคัญเพื่อรับทราบความร่วมมือสาขาโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ในกรอบอาเซียนซึ่งได้ดำเนินการเป็นระยะเวลาสิบปีแล้ว ซึ่งไอซีทีมีส่วนสนับสนุนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมในภูมิภาคอาเซียน เป็นเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของสหประชาชาติ ตลอดจนเป็นเครื่องมือในการสร้างพลังและปรับบทบาทภาคประชาชนของอาเซียน เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย การเป็นประชาคมอาเซียน รวมถึงเพิ่มความพยายามเพื่อลดช่องว่างทางดิจิทัล การพัฒนาทักษะด้านไอซีที การเข้าถึงไอซีที และการใช้ไอซีทีในอาเซียนให้มากขึ้น รวมถึงการรับรองแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอาเซียนเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาไอซีทีในภูมิภาคและมอบหมายให้ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ และที่ประชุมสภาหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมอาเซียนดำเนินขั้นตอนที่จำเป็นในการปฏิบัติตามแผนแม่บทฯ

1.2 ร่างแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอาเซียน ค.ศ. 2015 เป็นเอกสารที่จัดทำขึ้นตามมติที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ครั้งที่ 8 เมื่อเดือนสิงหาคม 2551 ณ ประเทศอินโดนีเซีย ต่อมาในการประชุมฯ ครั้งที่ 9 ได้เห็นชอบร่างแผนแม่บทฯ และมอบหมายให้ที่ประชุมอาเซียนฯ ครั้งที่ 10 พิจารณาและรับรองต่อไป ซึ่งร่างแผนแม่บทฯ ดังกล่าวเสร็จแล้ว โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1.2.1 เป็นการกำหนดแผนการดำเนินงานความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในกรอบอาเซียน ในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2554 — 2558) โดยมีเป้าหมาย 4 ประการ คือ

1) ไอซีทีเป็นเครื่องมือในการผลักดันให้อาเซียนมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

2) อาเซียนได้รับการยอมรับในฐานะเป็นศูนย์กลางด้านไอซีทีของโลกแห่งหนึ่ง

3) ประชากรอาเซียนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

4) ไอซีทีมีส่วนช่วยส่งเสริมการรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียน และได้กำหนดวิสัยทัศน์ของแผนแม่บทฯ คือ “Towards an Empowering and Transformational ICT : Creating an Inclusive, Vibrant and Integrated ASEAN”

1.2.2 ยุทธศาสตร์การดำเนินงานตามแผนแม่บทฯ มี 6 ยุทธศาสตร์ คือ

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การปรับเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ (Economic transformation) อาเซียนจะสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อต่อการดึงดูดและส่งเสริมการค้า การลงทุน และการสร้างผู้ประกอบการในสาขาไอซีที โดยไอซีทียังเป็นเครื่องมือช่วยปรับเปลี่ยนสาขาอื่น ๆ ของภาคเศรษฐกิจด้วย

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างพลังอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน (People empowerment and engagement) : อาเซียนจะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยให้สามารถเข้าถึงไอซีทีอย่างเท่าเทียมกันและในราคาที่ประชาชนสามารถรับภาระได้

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างนวัตกรรม (Innovation): อาเซียนจะส่งเสริมให้สาขาไอซีทีมีความสร้างสรรค์ มีนวัตกรรม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infratructure development) : อาเซียนจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีเพื่อสนับสนุนการให้บริการต่างๆ แก่ทุกชุมชนอาเซียน

ยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนาทุนมนุษย์ (Human capital development): อาเซียนจะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความสามารถและทักษะในด้านไอซีที เพื่อสนับสนุนความเติบโตของสาขาไอซีทีและช่วยปรับเปลี่ยนสาขาอื่นๆ ในภาคเศรษฐกิจ

ยุทธศาสตร์ที่ 6 การลดความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล (Bridging the digital divide) : อาเซียนจะคำนึงถึงระดับการพัฒนาและการใช้ไอซีทีที่แตกต่างกันภายในประเทศสมาชิกแต่ละประเทศในระดับภูมิภาค อาเซียนจะให้ความสำคัญกับการลดช่องว่างด้านอื่นๆ ที่อยู่ในความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลเพื่อส่งเสริมให้เกิดการนำไอซีทีไปใช้มากขึ้น

1.2.3 ร่างแผนแม่บทฯ ได้ระบุกลไกการดำเนินงานเพื่อนำแผนไปสู่การปฏิบัติ การสนับสนุนด้านงบประมาณ และกำหนดเวลาการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในช่วงปี 2554 —2558

2. ร่างแถลงการณ์ฯ ครั้งที่ 10 เป็นการแสดงเจตนารมณ์ของรัฐมนตรีด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของรัฐสมาชิกอาเซียนที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมทั้งรับรองแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอาเซียน และสนับสนุนไปสู่การปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันของการเป็นประชาคมอาเซียน ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวไม่มีการลงนาม จึงไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชาอาณาจักรไทย

3. ทก. ได้นำเสนอร่างแผนแม่บทฯ ในการประชุมคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งชาติ (กทสช.) ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2553 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ที่ประชุมฯ ได้มีมติรับหลักการร่างแผนแม่บทดังกล่าว นอกจากนี้ ทก. ได้แจ้งความเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมบางประเด็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กระทรวงคมนาคม กระทรวงยุติธรรม บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) โดยสรุปเห็นว่าแผนแม่บทฯ จะสนับสนุนการรวมตัวของอาเซียน จึงไม่ขัดข้องกับร่างแผนแม่บทฯ และมีข้อเสนอแนะให้เพิ่มเติมบางประเด็น ซึ่ง ทก. ได้แจ้งข้อเสนอแนะต่างๆ ต่อสำนักเลขาธิการอาเซียนและสิงคโปร์ในฐานะผู้ประสานงานโครงการแล้ว

4. แผนแม่บทดังกล่าวจะเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันความร่วมมืออาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศให้มีความเข้มแข็งและกำหนดทิศทางการพัฒนาความร่วมมือที่ชัดเจนตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ซึ่งจะสนับสนุนและส่งเสริมการเป็นประชาคมอาเซียนภายในปี 2548 ทั้งนี้ แผนแม่บทฯ ยังมีความสอดคล้องกับแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552 — 2556 ของประเทศไทยอีกด้วย ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวไม่มีการลงนาม จึงไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 มกราคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ