การค้าระหว่างประเทศของไทยในระยะ 11 เดือนของปี 2553 (มกราคม-พฤศจิกายน)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 12, 2011 15:13 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของไทยในระยะ 11 เดือนของปี 2553 (มกราคม-พฤศจิกายน) ของกระทรวงพาณิชย์สรุปได้ดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

1. การส่งออก

1.1 การส่งออกเดือนพฤศจิกายน 2553

1.1.1 การส่งออก มีมูลค่า 17,699.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 28.4 ขยายตัวในอัตราสูงอย่างต่อเนื่อง ในรูปเงินบาทการส่งออกมีมูลค่า 524,800.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.7

1.1.2 สินค้าส่งออก ส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกหมวดสินค้า ดังนี้

(1) สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตร เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25.7 เนื่องจากการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่าถึงร้อยละ 38.4 และ 53.1 ตามลำดับ รวมทั้ง สินค้าอาหาร ประเภท อาหารทะเล กุ้งแช่แข็งและแปรรูป ผักผลไม้ และ ไก่แช่แข็งและแปรรูป ที่ยังส่งออกเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า ขณะที่ ยางพารา มันสำปะหลัง มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณส่งออกลดลง เนื่องจากผลผลิตในประเทศลดลงและราคาส่งออกสูงขึ้น สำหรับ น้ำตาล ส่งออกลดลงทั้งปริมาณและมูลค่า เนื่องจาก ผลผลิตในประเทศลดลงและความต้องการใช้ในประเทศเพิ่มขึ้น

(2) สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ สินค้าส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ส่งออกเพิ่มขึ้น

  • สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 20 ได้แก่ ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งพิมพ์ เครื่องสำอาง เครื่องเดินทางและเครื่องหนัง เลนส์ เครื่องใช้เครื่องประดับตกแต่ง ผลิตภัณฑ์เภสัช/เครื่องมือแพทย์ นาฬิกา เครื่องกีฬาและเครื่องเล่นเกมส์ โดยเฉพาะ อัญมณีที่ส่งออกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 89.7 เนื่องจากการส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 215.6 ขณะที่อัญมณีที่หักทองคำออกแล้วส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.8
  • สินค้าที่ส่งออกลดลง ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง ลดลงร้อยละ 1.4 เป็นการลดลงของการส่งออกโครงก่อสร้างทำด้วยเหล็กและเหล็กกล้าไปออสเตรเลียที่ลดลงถึงร้อยละ 98.0 เนื่องจากปี 2552 มีการส่งออกไปเพื่อก่อสร้างโรงแยกก๊าซ

1.1.3 ตลาดส่งออก ส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุกตลาด

(1) ตลาดหลัก ส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สิบสามร้อยละ 22.5 เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราสูงในทุกตลาด โดยเฉพาะ ญี่ปุ่นที่ยังเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25.1 ขณะที่สหภาพยุโรปและสหรัฐฯก็ขยายตัวถึงร้อยละ 22.6 และ 19.9 ตามลำดับ

(2) ตลาดศักยภาพสูง ส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สิบห้า ร้อยละ 30.3 เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราสูงในทุกตลาด โดยเฉพาะ ไต้หวัน ฮ่องกง และ เกาหลีใต้ที่ขยายตัวในอัตราสูงถึงร้อยละ 70.3 , 55.8 และ 41.8 ตามลำดับ ขณะที่ อาเซียน(5) จีน อินโดจีนและพม่า และ อินเดีย ก็ขยายตัวสูงกว่าร้อยละ 20

(3) ตลาดศักยภาพระดับรอง ส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สิบห้า เป็นการขยายตัวเกือบทุกตลาด ยกเว้นออสเตรเลียที่ส่งออกลดลงร้อยละ 0.3 ขณะที่การส่งออกไปรัสเซียและ CIS แอฟริกา และ แคนาดาขยายตัวในอัตราสูงถึงร้อยละ 122.9 , 46.3 และ 35.6 ตามลำดับ สำหรับตะวันออกลางและประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่เหลือ 12 ประเทศ ขยายตัวในอัตราที่ไม่สูงมากนัก ส่วนออสเตรเลีย ลดลงร้อยละ 4.1 สินค้าที่ลดลงได้แก่ โครงก่อสร้างทำด้วยเหล็กและเหล็กกล้า(ลดลงร้อยละ 84.8)

1.1.4 ปัจจัยที่ส่งผลทำให้การส่งออกขยายตัว ได้แก่

1) ความต้องการในตลาดโลกที่ฟื้นตัวมากขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าของตลาดส่งออกสำคัญ โดยเฉพาะ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และประเทศในแถบเอเซีย คือ จีน อินเดีย เอเซียตะวันออกและอาเซียน

2) สต็อกของผู้นำเข้าในต่างประเทศที่ลดลง ทำให้ผู้ซื้อในต่างประเทศเริ่มกลับมาซื้อมากขึ้น ทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม

3) ผลสำเร็จจากข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ ทำให้การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราสูง โดยเฉพาะ จีน อินเดีย และ อาเซียน รวมทั้งความสำเร็จจากการดำเนินมาตรการเร่งรัดผลักดันการส่งออกร่วมกันระหว่างภาครัฐและ เอกชนที่ดำเนินการมาโดยตลอดและต่อเนื่อง

1.2 การส่งออกในระยะ 11 เดือนของปี 2553 (ม.ค.-พ.ย.)

1.2.1 การส่งออก ส่งออกมีมูลค่า 177,977.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.1 ในรูปเงินบาทการส่งออกมีมูลค่า 5,661,023.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.1

1.2.2 สินค้าส่งออก เพิ่มขึ้นทุกหมวดสินค้า ดังนี้

(1) สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรสำคัญส่งออกเพิ่มขึ้นเกือบทุกรายการ เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า โดยเฉพาะ ยางพารา มันสำปะหลัง และสินค้าอาหาร ประเภท อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป กุ้งแช่แข็งและแปรรูป และ ไก่แช่แข็งและแปรรูป ขณะที่ ผักและผลไม้ และ น้ำตาลมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นแต่ปริมาณส่ง ออกลดลงเล็กน้อย เนื่องจาก ผลผลิตในประเทศลดลงและความต้องการใช้ในประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้ง ข้าว ที่มูลค่าส่งออกกลับมาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 แต่ปริมาณลดลงร้อยละ 1.0 จากปัญหาการแข่งขันด้านราคากับเวียดนาม ปากีสถานและอินเดียและการแข็งค่าของเงินบาท

(2) สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ ส่งออกเพิ่มขึ้นทุกรายการ

  • สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 20 ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องสำอาง เลนส์ นาฬิกา และ อัญมณีที่หักทองคำออกแล้วส่งออกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 24.8 (การส่งออกอัญมณีเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.2 และการส่งออกทองคำเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0)

1.2.3 ตลาดส่งออก เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในทุกตลาดดังนี้

(1) ตลาดหลัก ส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องร้อยละ 24.1 มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 30.6 ของการส่งออกรวม เป็นการเพิ่มขึ้นในทุกตลาด ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป(15) เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.8 , 22.2 และ 20.6 ตามลำดับ

(2) ตลาดศักยภาพสูง ส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอัตราสูงถึงร้อยละ 37.2 มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 47.2 ของการส่งออกรวม และเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ค่อนข้างสูงในทุกตลาด ทั้ง อาเซียน(5) จีน อินโดจีนและพม่า ฮ่องกง อินเดีย ไต้หวันและเกาหลีใต้

(3) ตลาดศักยภาพระดับรอง ส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องร้อยละ 20.2 มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 19.5 ของการส่งออกรวม เป็นการขยายตัวในทุกตลาด โดยเฉพาะ ลาตินอเมริกา และ รัสเซียและ CIS ที่ขยายตัวในอัตราสูง ต่อเนื่อง ขณะที่ทวีปออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง แอฟริกาและประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่เหลือ 12 ประเทศ ขยายตัวในอัตราที่ไม่สูงมากนัก

2. การนำเข้า

2.1 การนำเข้าเดือนพฤศจิกายน 2553

2.1.1 การนำเข้า มีมูลค่า 17,292.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.30 คิดในรูปเงินบาทมีมูลค่า 519,277.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.05

2.1.2 สินค้านำเข้า สินค้านำเข้าสำคัญมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นเกือบทุกหมวดดังนี้

(1) สินค้าเชื้อเพลิง นำเข้ามูลค่า 3,738.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 61.1การนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 72.5 ในเชิงปริมาณมีจำนวน 36.7 ล้านบาร์เรล (1,222,375 บาร์เรลต่อวัน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 59.2

(2) สินค้าทุน นำเข้ามูลค่า 4,216.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.6 สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจของประเทศที่เริ่มขยายตัว และการลงทุนในภาคการผลิตภายในประเทศและเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้น การนำเข้าสินค้าทุนที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.0 เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.1 เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.97

(3) สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป นำเข้ามูลค่า 6,918.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.1 สอดคล้องกับการส่งออกและการบริโภคในประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปสำคัญ ได้แก่ อุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.1 เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ นำเข้าปริมาณลดลงร้อยละ 2.4 มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.6 เป็นการนำเข้าตามความต้องการบริโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ภาคก่อสร้าง และการผลิตภาชนะบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น เคมีภัณฑ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.2 ทองคำ ปริมาณ 13.1 ตัน มูลค่า 566.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเชิงปริมาณ เพิ่มขึ้นร้อยละ 121.4 และในเชิงมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 175.5 เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเงินบาทแข็งค่า

(4) สินค้าอุปโภคบริโภค นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.4 เนื่องจากราคานำเข้าสินค้าถูกลงจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น และเป็นช่วงเทศกาลปลายปีทำให้มีการซื้อเพิ่มขึ้น การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.3 ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.0

(5) สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.5 สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.7 รถยนต์นั่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.2 รถยนต์โดยสารและรถบรรทุก เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.3 ส่วนประกอบและอุปกรณ์จักรยานยนต์และรถจักรยาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.3

2.2 การนำเข้าในระยะ 11 เดือนของปี 2553 (ม.ค.-พ.ย.)

2.2.1 การนำเข้านำเข้ามูลค่า 166,101.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับระยะเดียวกันของ ปี 2552 เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.3 คิดในรูปเงินบาทมีมูลค่า 5,348,135.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.8

2.2.2 สินค้านำเข้าสำคัญ มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นทุกหมวดสินค้าดังนี้ สินค้าเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น ร้อยละ 27.8 สินค้าทุน เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.6 สินค้าวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูป เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.4 สินค้าอุปโภคบริโภค เพิ่มขึ้น ร้อยละ 29.0 และสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 80.0

3. ดุลการค้า

เดือนพฤศจิกายน 2553 ไทยเกินดุลมูลค่า 407.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดในรูปเงินบาทเกินดุลมูลค่า 5,523.3 ล้านบาท ส่งผลให้ในระยะ 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ไทยเกินดุลการค้าสะสมมูลค่า 11,875.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 312,888.6 ล้านบาท

4. เปรียบเทียบอัตราการขยายตัวของการส่งออกของไทยกับประเทศคู่แข่ง ปี 2553

มค.53 กพ.53 มีค.53 เมย.53 พค.53 มิย.53 กค.53 สค.53 กย.53 ตค.53 พย.53

ไทย         30.8   23.1    40.9    35.2   42.1    46.3   20.6   23.9   21.2   15.7   28.5
จีน          21.0   45.7    24.2    30.4   48.4    43.9   38.0   34.3   25.1   22.8   34.9
ไต้หวัน       75.8   32.6    50.1    47.8   57.9    34.1   38.5   26.6   17.5   21.9   21.8
เกาหลีใต้     45.8   30.3    34.3    29.8   40.5    30.2   27.5   26.6   17.5   21.9   21.8
เวียดนาม     34.8  -25.6     5.3    24.6   43.0    33.4   25.5   51.6   34.2   23.9   36.6
สิงคโปร์      37.0   19.2    29.3    30.0   29.0    28.3   16.6   25.5   18.8   19.6     Na
มาเลเซีย     37.0   18.4    36.4    26.6   21.9    17.2   13.5   10.6    6.9     Na     Na
ฟิลิปปินส์      42.4   42.5    43.7    28.2   37.3    33.7   35.9   36.6   46.1   26.4     Na

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 มกราคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ