คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอ ดังนี้
1. รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการ กรอ. ครั้งที่ 7/2553
2. เห็นชอบผลการพิจารณาและมติของคณะกรรมการ กรอ. รวม 7 เรื่อง ดังนี้
2.1 การพิจารณาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการก่อสร้าง
2.2 แนวทางการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทยปี 2554
2.3 ผลการสัมมนาเรื่อง “ทิศทางคุณวุฒิวิชาชีพแรงงานไทย...สู่สากล”
2.4 ความเห็นต่อร่างกฎกระทรวงแรงงานว่าด้วยการกำหนดจำนวนที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐจะต้องรับคนพิการเข้าทำงานและจำนวนเงินที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. .... ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550
2.5 ข้อคิดเห็นต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด
2.6 ความคืบหน้าแนวทางแก้ไขปัญหาการนำเข้าสินค้าวัตถุอันตราย ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
2.7 ผลการจัดอันดับ Doing Business 2011
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ได้มีการประชุมครั้งที่ 7/2553 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2553 เวลา 14.30-17.30 น. ณ ห้องประชุมสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. การพิจารณาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการก่อสร้าง สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการ กรอ. พิจารณา โดยมีข้อเสนอเพื่อพิจารณา ความเห็นและประเด็นอภิปราย และมติคณะกรรมการ กรอ. ดังนี้
1.1 ข้อเสนอเพื่อพิจารณา
สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เสนอคณะกรรมการ กรอ. พิจารณา เรื่องการพิจารณาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการก่อสร้าง เพื่อขอให้เป็นมติคณะรัฐมนตรีในการขยายระยะเวลาสัญญาโครงการก่อสร้างออกไปทุกจังหวัดที่ประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เพื่อส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ ถือไปปฏิบัติโดยไม่ใช้ดุลยพินิจ โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขประกอบการพิจารณา ดังนี้
1.1.1 การพิจารณาให้ความช่วยเหลือนี้ใช้กับสัญญาจ้างก่อสร้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ
1.1.2 เป็นการให้ความช่วยเหลือเฉพาะในเขตจังหวัดที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ช่วงระหว่างวันที่ 11 มีนาคม ถึง 31 พฤษภาคม 2553
1.1.3 ให้ขยายระยะเวลาออกไปอีกจำนวน 45 วัน โดยมิต้องใช้ดุลยพินิจ
1.1.4 ผู้ประกอบการก่อสร้างที่มีสิทธิได้รับการพิจารณาขยายระยะเวลาก่อสร้างข้างต้น เป็นผู้รับจ้างที่ได้ลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างกับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ โดยให้มีผลบังคับใช้กับสัญญา ดังนี้
1) สัญญาจ้างก่อสร้างที่ได้ลงนามไว้กับทางราชการก่อนวันที่ 11 มีนาคม 2553 ซึ่งสัญญาดังกล่าวยังมีนิติสัมพันธ์อยู่ และยังมิได้มีการส่งมอบงานงวดสุดท้าย เมื่อผู้รับจ้างมีคำขอให้ขยายระยะเวลาสัญญาออกไปอีก 45 วัน ในกรณีอายุสัญญาก่อสร้างน้อยกว่า 45 วัน ก็ให้ขยายเวลาได้เท่ากับอายุสัญญาเดิม
2) สัญญาจ้างก่อสร้างที่ได้ลงนามไว้กับทางราชการระหว่างวันที่ 11 มีนาคม ถึง 31 พฤษภาคม 2553 เมื่อผู้รับจ้างมีคำขอ ให้ขยายระยะเวลาสัญญาออกไปอีก 45 วัน ในกรณีอายุสัญญาก่อสร้างน้อยกว่า 45 วัน ก็ให้ขยายเวลาได้เท่ากับอายุสัญญาเดิม
1.1.5 กรณีที่เข้าข่ายได้รับการช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว หากการขยายระยะเวลาออกไป มีผลให้ผู้รับจ้างถูกปรับ ก็ให้งด ลดค่าปรับ หรือคืนเงินค่าปรับ ตามความเป็นจริงแล้วแต่กรณี
1.2 มติคณะกรรมการ กรอ.
1.2.1 เห็นชอบในหลักการของหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพิจารณาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการก่อสร้าง ในเขตพื้นที่จังหวัดที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งออกตามความในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในช่วงระหว่างเดือนเมษายน — พฤษภาคม 2553 ตามที่สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์เสนอ
1.2.2 มอบหมายให้กรมบัญชีกลาง ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ พิจารณารายละเอียดข้อเสนอของสมาคมฯ ให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะเงื่อนไขระยะเวลาสัญญาจ้างก่อสร้างที่จะมีผลบังคับใช้ตามข้อเสนอ 1.4 พร้อมทั้งเร่งรัดการจัดประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่สมาคมฯ เสนอ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
2. แนวทางการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทยปี 2554 สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ได้เสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการ กรอ. พิจารณา โดยมีข้อเสนอเพื่อพิจารณา ความเห็นและประเด็นอภิปราย และมติคณะกรรมการ กรอ. ดังนี้
2.1 ข้อเสนอเพื่อพิจารณา
สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เสนอคณะกรรมการ กรอ. พิจารณา ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในปี 2554 ให้คณะกรรมการ กรอ. พิจารณาให้การสนับสนุนเชิงนโยบาย ดังนี้
2.1.1 สร้างจุดขายใหม่ของประเทศไทย โดยตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็น Hospitality & Wellness Center of the World ครอบคลุมธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ได้แก่ การพำนักระยะยาว (Long Stay) ธุรกิจสุขภาพ และอาหาร โดยให้มีการศึกษาเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ในเรื่องนี้
2.1.2 เสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนในกิจการทางการท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ เช่น ธุรกิจด้านสุขภาพ ธุรกิจด้านนันทนาการ และสวนสนุก และธุรกิจที่มีลักษณะเชิงสร้างสรรค์ เป็นต้น โดยการกำหนดนโยบาย และมาตรการในทิศทางที่จะกระตุ้น และส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน ได้แก่ การปรับกฎ ระเบียบการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยเฉพาะการใช้ระบบภาษีให้เอื้อต่อการลงทุนในกิจการทางการท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย
2.1.3 เร่งรัดและสนับสนุนการจัดทำระบบข้อมูลที่มีความสำคัญต่อการท่องเที่ยว เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจทางนโยบายของภาครัฐ และการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน และเพื่อเป็นการเตือนภัยล่วงหน้าทางการท่องเที่ยว โดย
1) มอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เร่งรัดจัดทำข้อมูลนักท่องเที่ยวภายในประเทศ (ไทยเที่ยวไทย) ที่มีความสมบูรณ์ รวดเร็ว ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง
2) สนับสนุนให้ สทท. ร่วมกับสถาบันการศึกษาจัดทำระบบการพยากรณ์ และคาดการณ์สถานการณ์ทางการท่องเที่ยว (Tourism Forecast) อย่างต่อเนื่อง
3) จัดทำข้อมูล เพื่อส่งสัญญาณให้ผู้ประกอบการใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การศึกษาด้านอุปสงค์ และอุปทานของธุรกิจโรงแรม และที่พัก ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจนวด และสปาในแต่ละพื้นที่ เป็นต้น โดย กก. ร่วมกับ สทท.
2.1.4 ส่งเสริมการพัฒนามาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพด้านการท่องเที่ยว โดยให้ สทท. เข้าร่วมเป็นกรรมการโดยตำแหน่งใน “คณะกรรมการบริหารสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ” ภายใต้ (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ที่กระทรวงศึกษาธิการจะจัดตั้งขึ้น ซึ่งมีตัวแทนของภาคเอกชน (คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน) เข้าร่วมอยู่ด้วย เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับการยกระดับความสามารถ และทักษะ มีการรับรองมาตรฐานทั้งในประเทศ และมาตรฐานสากล พร้อมกับการเปิดเสรีภาคบริการในระดับต่างๆ
2.1.5 กระตุ้น และส่งเสริม “ไทยเที่ยวไทย” อย่างต่อเนื่อง โดยสนับสนุนมาตรการส่งเสริมการตลาดในทุกระดับและมาตรการจูงใจด้านภาษี ได้แก่ การอนุญาตให้นำค่าใช้จ่ายในการซื้อทัวร์ หรือโรงแรมที่พักไปหักค่าลดหย่อนในวงเงิน 15,000 บาท รวมทั้งสนับสนุนการจัดประชุมสัมมนาในประเทศ และนำค่าใช้จ่ายไปหักค่าลดหย่อนได้สองเท่า
2.2 มติคณะกรรมการ กรอ.
2.2.1 เห็นชอบในหลักการตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ตามที่สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเสนอ โดยให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารับข้อเสนอแนะไปพิจารณาปรับปรุงใน (ร่าง) แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ. 2555-2559 ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา
2.2.2 เห็นชอบให้ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เข้าร่วมเป็นกรรมการโดยตำแหน่งในคณะกรรมการบริหารสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ภายใต้ (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) โดยให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับไปพิจารณาในขั้นของการตรวจ (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาฯ ดังกล่าว
2.2.3 มอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หารือร่วมกับกระทรวงการคลัง และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อพิจารณาทบทวนความเหมาะสมและความจำเป็นของมาตรการจูงใจด้านภาษีที่ใช้เพื่อการกระตุ้นตลาดการท่องเที่ยวในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ว่าสมควรดำเนินการต่อไปหรือไม่
3. ผลการสัมมนาเรื่อง “ทิศทางคุณวุฒิวิชาชีพแรงงานไทย...สู่สากล” คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้เสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการ กรอ. พิจารณา โดยมีข้อเสนอเพื่อพิจารณา ความเห็นและประเด็นอภิปราย และมติคณะกรรมการ กรอ. ดังนี้
3.1 ข้อเสนอเพื่อพิจารณา
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เสนอคณะกรรมการ กรอ. พิจารณาผลการสัมมนาเรื่อง “ทิศทางคุณวุฒิวิชาชีพแรงงานไทย...สู่สากล” ซึ่งคณะกรรมการ กกร. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2553 โดยมีข้อเสนอให้มีการบูรณาการการดำเนินงานเรื่องคุณวุฒิวิชาชีพ ระหว่าง กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ องค์กรภาคเอกชน 3 สถาบัน ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย รวมทั้งสมาคมวิชาชีพ/กลุ่มอาชีพที่เกี่ยวข้อง เพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มภาระและความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน ตลอดจนเพื่อให้สามารถนำคุณวุฒิวิชาชีพใช้เป็นเครื่องมือวัดสมรรถนะของแรงงานอย่างจริงจัง และเป็นที่ยอมรับของแรงงานและผู้ประกอบการโดยรวม
3.2 มติคณะกรรมการ กรอ.
3.2.1 มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน และกระทรวง ศึกษาธิการ ร่วมกับองค์กรภาคเอกชน 3 สถาบันได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย และสมาคมวิชาชีพ/กลุ่มอาชีพที่เกี่ยวข้อง พัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพเชิงบูรณาการ เพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มภาระและลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน และเป็นที่ยอมรับของแรงงานและผู้ประกอบการ
3.2.2 มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เร่งพิจารณา (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) พ.ศ. ..... ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
4. ความเห็นต่อร่างกฎกระทรวงแรงงานว่าด้วยการกำหนดจำนวนที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐจะต้องรับคนพิการเข้าทำงานและจำนวนเงินที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. .... ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้เสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการ กรอ. พิจารณา โดยมี ข้อเสนอเพื่อพิจารณา สาระสำคัญ ความเห็นและประเด็นอภิปราย และมติคณะกรรมการ กรอ. ดังนี้
4.1 ข้อเสนอเพื่อพิจารณา
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เสนอให้คณะกรรมการ กรอ. พิจารณาความเห็นต่อร่างกฎกระทรวงแรงงานว่าด้วยการกำหนดจำนวนที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐจะต้องรับคนพิการเข้าทำงานและจำนวนเงินที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสรมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการพ.ศ. .... ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ใน 2 เรื่อง ดังนี้
4.1.1 ขอให้ชะลอการบังคับใช้กฎกระทรวงแรงงานฯ (ออกตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มาตรา 33) ออกไปจนกว่าจะมีการสำรวจจำนวนคนพิการที่สามารถเข้าสู่ภาคแรงงาน (อายุระหว่าง 20-60 ปี) เพื่อกำหนดอัตราส่วนการรับคนพิการเข้าทำงานที่สอดคล้องกับความเป็นจริง ทั้งนี้การสำรวจดังกล่าวอาจจัดทำทุกๆ 3 หรือ 5 ปี
4.1.2 หากไม่สามารถดำเนินการตามข้อ 2.4.1.1 ได้ ขอให้พิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวง โดยเพิ่มเติมข้อความ “หากสถานประกอบการใดยังไม่มีคนพิการทำงานหรือมีไม่ครบตามอัตราที่กำหนดให้แจ้งสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ทราบภายในวันที่ 30 มกราคม ของแต่ละปี และประกาศรับสมัครคนพิการเข้าทำงาน โดยกำหนดระยะเวลารับสมัครไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ถ้าไม่มีคนพิการมาสมัครงานภายในเวลาที่กำหนด และสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ยังไม่ส่งคนพิการมาสมัครภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการนั้นได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามสำหรับปีนั้น” เช่นเดียวกับกฎกระทรวงปี 2537
4.2 สาระสำคัญ
4.2.1 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2553 อนุมัติหลักการ (ร่าง) กฎกระทรวงฯ กำหนดจำนวนที่นายจ้างหรือเจ้าของ สถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐจะต้องรับคนพิการเข้าทำงาน และจำนวนเงินที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ จะต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตามข้อกำหนดมาตรา 33 และมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และให้กระทรวงแรงงานปรับอัตราส่วนการรับคนพิการเข้าทำงาน จาก 200 : 1 เป็น 100 : 1 และพิจารณาความเหมาะสมของระยะเวลาในการใช้บังคับกฎกระทรวงดังกล่าว โดยอาจให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน หรือ 180 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ปัจจุบัน (ร่าง) กฎกระทรวงฯ อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
4.2.2 อย่างไรก็ตาม ไม่ได้กำหนดข้อยกเว้นที่ไม่มีคนพิการมาสมัครงานภายในเวลาที่กำหนด และสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ยังไม่ส่งคนพิการมาสมัครภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประการนั้น ดังเช่นที่เคยกำหนดไว้ ในกฎกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม (พ.ศ. 2537) ออกตามความ ในพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534
4.2.3 ภาคเอกชนพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า ภาคเอกชนยอมรับการให้คนพิการเข้ามาทำงานทั้งในอัตราส่วนลูกจ้างทุกสองร้อยคนต่อคนพิการหนึ่งคนหรือทุกหนึ่งร้อยคนต่อคนพิการหนึ่งคน แต่ปัญหาที่ต้องเผชิญคือความไม่เพียงพอของคนพิการที่สามารถทำงานได้ และหากหน่วยงานใดไม่สามารถรับคนพิการเข้าทำงานต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในอัตราประมาณ 50,000 บาทต่อหัว ดังนั้น จึงต้องการให้มีการสำรวจจำนวนคนพิการที่สามารถเข้าทำงานได้ให้เป็นมาตรฐานทุก 3-5 ปี และถ้าไม่สามารถหาคนพิการเข้าทำงานได้ ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ รวมทั้งภาคเอกชนควร เข้าไปมีส่วนร่วมในคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการด้วย
4.3 มติคณะกรรมการ กรอ.
4.3.1 มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับองค์กรภาคเอกชน 3 สถาบัน ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ดำเนินการสำรวจจำนวนคนพิการที่สามารถเข้าสู่ภาคแรงงาน เพื่อกำหนดแนวทางดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการร่วมกัน
4.3.2 มอบหมายให้สำนักงาน ก.พ. เร่งประสานหน่วยงานภาครัฐในการรับคนพิการเข้าทำงานตามสัดส่วนที่กำหนดสำหรับหน่วยงานภาครัฐด้วย
5. ข้อคิดเห็นต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้เสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการ กรอ. พิจารณา โดยมีสาระสำคัญ ความเห็นและประเด็นอภิปราย และมติคณะกรรมการ กรอ. ดังนี้
5.1 สาระสำคัญ
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เสนอข้อคิดเห็นต่อเรื่อง การขยายตัวของอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด ดังนี้
5.1.1 ให้มีการนำมาตรการปรับลดตามหลักการ 80:20 มาใช้กับสารสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ด้วย เนื่องจากที่ผ่านการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมในพื้นที่มาบตาพุดโดยใช้มาตรการปรับลดอัตราการระบายมลพิษตามหลักการ 80:20 ทำให้ขณะนี้ในเรื่องของมลพิษที่เกิดจากสาร NOx และ SO2 มีแนวโน้มลดลง แต่ยังมีสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) บางตัวที่ยังเกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ เบนซีน 1,3 บิวทาไดอีน และ 1,2 ไดคลอโรอีเทน ซึ่งเป็นการเกินมาตรฐานในบางช่วงเวลาและบางกรณี
5.1.2 ให้มีการนำแนวคิด Emission Trading ระหว่างโครงการหรือระหว่างบริษัทในพื้นที่มาบตาพุดมาใช้ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยควบคุมค่ามลพิษในพื้นที่มาบตาพุดให้ลดลงได้รวมทั้งเสนอให้มีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ เช่น ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสหรัฐอเมริกา (USEPA) เป็นต้น มาให้ความช่วยเหลือในเรื่องการคิดแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหามลพิษในพื้นที่มาบตาพุด ทั้งนี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาถูกต้องตรงตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง
5.1.3 กำหนดให้มีมาตรการจูงใจและลดขั้นตอนของระเบียบปฏิบัติสำหรับโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดมลพิษให้มีความรวดเร็วมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกอบการมีความตั้งใจที่จะให้ความร่วมมือในการลดมลพิษโดยจะ ปรับปรุงโรงงานหรือกระบวนการผลิตด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุด แต่การดำเนินการทำได้ล่าช้าเพราะต้องผ่านกระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานาน นอกจากนั้น เห็นควรสนับสนุนให้มีการออกกฎหมายสำหรับควบคุมสารอินทรีย์ระเหยง่ายจากแหล่งกำเนิดซึ่งจะทำให้สภาพอากาศในพื้นที่ดีขึ้น
5.2 มติคณะกรรมการ กรอ.
รับทราบข้อเสนอของภาคเอกชน และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติ เร่งรัดดำเนินการศึกษาเรื่องศักยภาพของพื้นที่มาบตาพุดในการรองรับอุตสาหกรรมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
6. ความคืบหน้าแนวทางแก้ไขปัญหาการนำเข้าสินค้าวัตถุอันตราย ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ประธานผู้แทนการค้าไทย ได้รายงานความคืบหน้าเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการ กรอ. ทราบ โดยมีสาระสำคัญ ความเห็นและประเด็นอภิปราย และมติคณะกรรมการ กรอ. ดังนี้
6.1 สาระสำคัญ
ประธานผู้แทนการค้าไทยได้รายงานผลการดำเนินงานเรื่อง แนวทางแก้ไขปัญหาการนำเข้าสินค้าวัตถุอันตราย ที่ได้จากประสานข้อมูลกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดังนี้
6.1.1 ภายหลังจากที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศเรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2552 โดยยกเลิกให้สารซัลเฟอร์ที่ใช้ในการอุตสาหกรรมเป็นวัตถุอันตรายทำให้สามารถนำเข้าสารซัลเฟอร์สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่หลังจากนั้นมีผู้ร้องเรียนต่อศาลปกครองกลางจนทำให้เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2552 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยทุเลาการใช้บังคับตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม
6.1.2 ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีความเห็นว่าการออกประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2552 มีผลทำให้สารซัลเฟอร์ไม่ใช่สารที่เป็นวัตถุอันตรายต่อไปและไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย แต่เนื่องจากขณะนี้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาโดยให้ชะลอการบังคับใช้ประกาศดังกล่าว ดังนั้นหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งดำเนินการโดยไม่รอคำตัดสินของศาลก่อนก็อาจจะมีความผิดได้ทำให้ปัญหายังคงไม่ได้รับการแก้ไข กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการคดีพิเศษเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว เพื่อหาทางออกร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคเอกชน ซึ่งมีความเห็นร่วมกันว่าเพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไขเห็นควรใช้วิธีการเปรียบเทียบปรับกับผู้ประกอบการนำเข้าเป็นรายใบขนสินค้าใบละ 25,000 บาท แต่ติดปัญหาที่กรมศุลกากรมีความเห็นว่าควรจะรอคำวินิจฉัยจากศาลปกครองกลางก่อน
6.2 มติคณะกรรมการ กรอ.
รับทราบความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการนำเข้าสินค้าวัตถุอันตราย ตามที่ประธานผู้แทนการค้าไทยรายงาน และมอบหมายให้กระทรวงการคลังรับไปพิจารณารายละเอียดของปัญหาเพื่อหาแนวทางแก้ไขให้ได้ข้อยุติต่อไป
7. ผลการสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 28 คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ได้รายงานเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการ กรอ. ทราบ โดยมีสาระสำคัญ และมติคณะกรรมการ กรอ. ดังนี้
7.1 สาระสำคัญ
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน รายงานผลการสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 28 ซึ่งหอการค้าไทยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 พฤศจิกายน 2553 ณ จังหวัดขอนแก่น การสัมมนาครั้งนี้ประกอบด้วย การปาฐกถาพิเศษและการประชุมกลุ่มย่อย 3 กลุ่ม เพื่อแปลงวิสัยทัศน์ไปสู่การปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง โดย กลุ่มที่ 1 ให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยมองที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงประเทศ กลุ่มที่ 2 ให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและนำไปสู่การปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริง และกลุ่มที่ 3 ให้ความสำคัญกับการมุ่งขจัดคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นปัจจัยฉุดรั้งการพัฒนาประเทศ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
7.1.1 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 เป็นกุญแจสำคัญของการเปลี่ยนแปลง ผลการประชุมสรุปได้ดังนี้
1) รายงานผลการดำเนินกิจกรรมภายใต้ยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจของหอการค้าไทย 6 ยุทธศาสตร์หลัก ใน 7 กลุ่มธุรกิจ และ 18 กลุ่มจังหวัด โดยในปี 2553 หอการค้าไทยดำเนินกิจกรรมที่เน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ รวมทั้งสิ้น 189 โครงการ และในปี 2554 จะให้ความสำคัญกับกิจกรรมต่อเนื่องจากปี 2553 รวมทั้งเน้นส่งเสริมจริยธรรมและธรรมาภิบาล และรักษาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้น
2) ความเห็นที่ประชุม เห็นด้วยกับแนวทางยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 และการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจของหอการค้าไทย ซึ่งมีความสอดคล้องและสนับสนุนแผนฯ 11 และเห็นควรมีแนวทางการขับเคลื่อนการแปลงแผนฯ 11 สู่ภาคปฏิบัติที่สำคัญดังนี้ (1) บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและกระทรวงต่างๆ ให้ขับเคลื่อนไปสู่จุดหมายเดียวกัน (2) ให้หอการค้าไทย หอการค้าจังหวัด และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมมือกันจัดทำยุทธศาสตร์จังหวัด (3) ดำเนินงานแผนเชิงรุกเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ผ่านโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์ และการค้าชายแดน และ (4) ผลักดันการลงทุนของเอกชนในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในสมาคมเศรษฐกิจอาเซียน
7.1.2 การมุ่งขจัดคอร์รัปชัน เพื่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน
1) รายงานผลการดำเนินกิจกรรมสนับสนุนการขจัดคอร์รัปชัน ได้แก่ ประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และร่วมกับองค์กรเอกชนอีก 4 หน่วยงาน ประกาศเจตนารมณ์เป็นแนวร่วมต่อต้านการทุจริตของภาคเอกชนไทย อีกทั้งสนับสนุนอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ปี 2003 ตลอดจนร่วมกับหอการค้าต่างประเทศทำการศึกษา Hong Kong Model ในการกำจัดคอร์รัปชัน นอกจากนี้ ได้มีการสร้างเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน เช่น จัดทำดัชนีวัดคอร์รัปชันของประเทศไทย เป็นต้น
2) ความเห็นที่ประชุม เห็นควรให้มีการบูรณาการหน่วยงานที่ทำงานในเรื่องเดียวกัน และเป็นศูนย์กลางที่มีอำนาจเต็มในการดำเนินงาน และให้ทุกฝ่ายสร้างจิตสำนึกและเครือข่ายในทุกระดับ รวมทั้งภาครัฐควรปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินงานให้สั้น กระชับ ชัดเจน ลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ในขณะที่หอการค้าไทยจะร่วมกับภาครัฐเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรทั้งในและต่างประเทศ
7.1.3 ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ
1) โครงการนำร่อง มี 2 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการ 1 บริษัท 1 ชุมชน มีทั้งสิ้น 33 โครงการ มีบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ 3 บริษัท และมีชุมชนที่ได้รับประโยชน์จากโครงการ จำนวน 50 ชุมชน 23 จังหวัด และวางเป้าหมายที่จะขยายผลให้ครบทุกจังหวัด และ (2) โครงการ 1 ไร่ 1 แสน ได้ดำเนินโครงการที่บ้านหนองแต้ บ้านบ่อ และบ้านกุดเชียงมี อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 19 ราย 19 ไร่ และจะขยายผลให้ครอบคลุมพื้นที่อย่างน้อย 20,000 ไร่ ในปี 2554
2) ความเห็นที่ประชุม เห็นควรให้มีการขยายแหล่งน้ำของชุมชนท้องถิ่นที่มีอยู่แล้วให้สามารถใช้งานทางการเกษตรอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาในพื้นที่ร่วมทำการวิจัยกับภาคเอกชนเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ที่สนองความต้องการของพื้นที่ ตลอดจนให้สิทธิพิเศษทางภาษีหรือจัดให้เป็นพื้นที่พิเศษแก่จังหวัดหรืออำเภอยากจน เพื่อดึงดูดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
7.2 มติคณะกรรมการ กรอ.
รับทราบผลการสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 28 โดยนายกรัฐมนตรีแจ้งเพิ่มเติมว่าได้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชนในเรื่องนี้แล้วในการประชุมร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนในโครงการปฏิรูปประเทศไทย และคาดว่าจะมีการขยายความร่วมมือในวงกว้างขึ้นในระยะต่อไป
8. ความคืบหน้าการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ สศช. ได้รายงานความคืบหน้าเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการ กรอ. ทราบ โดยมีรายงานความก้าวหน้า ความเห็นและประเด็นอภิปราย และมติคณะกรรมการ กรอ. ดังนี้
8.1 รายงานความก้าวหน้า
สศช. รายงานความคืบหน้าการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเป็นเรื่องสืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการ กรอ. ครั้งที่ 8/2552 วันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 และครั้งที่ 5/2553 วันที่ 17 กันยายน 2553 ว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และนักวิชาการ ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ กรอ. และได้นำเสนอเรื่อง การทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2552 เรื่อง การทำสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชน ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2553 ดังนี้
8.1.1 รับทราบผลการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และนักวิชาการเกี่ยวกับการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2552 (เรื่อง การทำสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชน) และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก โดยร่วมกับกระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรด้านกฎหมายของหน่วยงานต่างๆ และการพัฒนาระบบการบริหารจัดการสัญญาที่มีประสิทธิภาพ ตามที่ สศช. เสนอ
8.1.2 ในส่วนของการปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2552 มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมเร่งรัดการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2553 (เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....) ที่ให้กระทรวงยุติธรรมรับไปพิจารณาหาแนวทางการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ และมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดจากการจัดทำสัญญา การบริหารสัญญา และการตั้งอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทของสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน ให้แล้วเสร็จโดยเร็วภายใน 2 เดือน แล้วให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
8.2 มติคณะกรรมการ กรอ.
รับทราบความคืบหน้าการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ติดตามความก้าวหน้าและนำเสนอคณะกรรมการ กรอ. ต่อไป
9. การปฏิรูปโครงสร้างในเอเปค สศช. ได้รายงานเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการ กรอ. ทราบ โดยมีสาระสำคัญ ความเห็นและประเด็นอภิปราย และมติคณะกรรมการ กรอ. ดังนี้
9.1 สาระสำคัญ
สศช. รายงานเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างในเอเปค ซึ่งเป็นเรื่องสืบเนื่องจากการที่ผู้นำเอเปคได้ให้การรับรอง ยุทธศาสตร์การปฏิรูปโครงสร้างรูปแบบใหม่ (The APEC New Strategy for Structural Reform: ANSSR) เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2553 เนื่องจากแผนงานเอเปคด้านการปฏิรูปโครงสร้างเดิม (APEC Work Plan on Leaders’ Agenda to Implement Structural Reform — LAISR 2010) กำลังจะหมดอายุลงในปี 2553 โดยขยายความครอบคลุมมากขึ้นไปกว่า 5 สาขาเดิม (behind-the-border) ซึ่งประกอบไปด้วย (1) การปฏิรูปกฎระเบียบ (2) นโยบายการแข่งขัน (3) บรรษัทภิบาล (4) ธรรมาภิบาลภาครัฐ และ (5) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของโครงสร้างพื้นฐานทางกฎหมายเศรษฐกิจ ดังนี้
9.1.1 เอเปคได้กำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์การปฏิรูปโครงสร้างรูปแบบใหม่ ในปี 2558 ดังนี้
1) กำหนดให้ผู้นำเอเปคร่วมให้สัตยาบัน ณ เมือง Yokohama เพื่อยืนยันถึงความสำคัญของการปฏิรูปโครงสร้างในประเทศตนเอง เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ก่อให้เกิดการเจริญเติบโตที่มีความเข้มแข็ง ยั่งยืน และมีความสมดุล รวมทั้งก่อให้เกิด (1) การเปิดตลาดมากขึ้น มีความโปร่งใส มีการแข่งขัน และเป็นระบบ (2) ระบบควบคุมกำกับตลาดการเงินที่มีประสิทธิภาพ (3) สร้างโอกาสในตลาดแรงงานและการศึกษา (4) การพัฒนา SME ได้อย่างยั่งยืน และสร้างโอกาสแก่สตรีและ กลุ่มผู้ด้อยโอกาส และ (5) มีระบบเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคมที่มีประสิทธิภาพ
2) แต่ละเขตเศรษฐกิจจะต้องให้สัตยาบันในการกำหนดลำดับสำคัญของการปฏิรูปโครงสร้างภายในปี 2554 ตามความพร้อมของตน แต่ไม่จำกัดเพียงแค่ลำดับสำคัญของการปฏิรูปโครงสร้างทั้ง 5 ประเด็นข้างต้น นอกจากนี้ ยังต้องจัดทำรายงานถึงนโยบายและมาตรการที่ก่อให้เกิดความก้าวหน้าในการดำเนินงาน ภายในปี 2558
3) จัดกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพ เพื่อช่วยสมาชิกในการปฏิรูปโครงสร้าง ดังนี้ (1) พัฒนาศักยภาพในสาขาเฉพาะ (อาทิ โครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน การขนส่ง พลังงาน) งานความร่วมมือทางวิชาการ (ECOTECH) (2) พัฒนาศักยภาพในประเด็นเฉพาะ (อาทิ การปฏิรูปกฎระเบียบ ธรรมาภิบาลภาครัฐ) งานภายใต้ ECOTECH และกิจกรรมอื่น (3) โครงการเฉพาะที่จัดขึ้นตามความต้องการ โดยสนับสนุนจาก ECOTECH และ (4) ตั้งเป้าหมายจัดให้มีการประชุมระดับรัฐมนตรี เพื่อได้รับการสนับสนุนในระดับสูงในเรื่องการปฏิรูปโครงสร้าง
9.1.2 แนวทางการดำเนินงานของไทยในระยะต่อไป โดยไทยจะต้องพิจารณาการกำหนดลำดับความสำคัญของการปฏิรูปโครงสร้างของไทย เพื่อแจ้งให้แก่เอเปคได้ทราบเป็นท่าทีของไทยในการกำหนดเป็นสัตยาบัน ในปี 2554 และเพื่อใช้เป็นประเด็นประกอบการจัดทำรายงานความก้าวหน้าในการปฏิรูปโครงสร้างของไทย ในปี 2558 โดยฝ่ายเลขานุการได้กำหนดลำดับความสำคัญเบื้องต้นในการปฏิรูปโครงสร้างของไทย ดังนี้
1) การปฏิรูปทางการเงิน ซึ่งไทยได้เริ่มทำมาตั้งแต่หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจทางการเงินในปี 2540 ซึ่งจะมีแนวทางและผลของการปฏิรูปที่ชัดเจน และต่อเนื่อง ซึ่งก่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน หรือ
2) การปฏิรูปทางการศึกษา ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การเจริญเติบโตของเอเปค ที่ให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตอย่างเท่าเทียม สมดุล ยั่งยืน บนพื้นฐานนวัตกรรมและมั่นคง ซึ่งเอเปคเห็นว่าการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาให้เกิดความเจริญเติบโตอย่างเท่าเทียมกัน และเป็นรากฐานการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 และกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 ก็ได้เน้นถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
โดย สศช. จะแจ้งผลการจัดสาขาที่มีลำดับความสำคัญในการปฏิรูปโครงสร้างของไทยต่อเอเปคใน ปี 2554 และ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานการจัดทำรายงานความก้าวหน้าด้านการปฏิรูปโครงสร้างในลำดับที่มีความสำคัญของไทย เพื่อเสนอแก่เอเปค ในปี 2558
9.2 มติคณะกรรมการ กรอ.
รับทราบความคืบหน้าการปฏิรูปโครงสร้างในเอเปค
10.ผลการจัดอันดับ Doing Business 2011 สศช. ได้รายงานเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการ กรอ. ทราบ โดยมีสาระสำคัญ ความเห็นและประเด็นอภิปราย และมติคณะกรรมการ กรอ. ดังนี้
10.1 สาระสำคัญ
สศช. ฝ่ายเลขานุการฯ รายงานผลการจัดอันดับ Doing Business 2011 ของธนาคารโลก ดังนี้
10.1.1 ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 19 จาก 183 ประเทศ ลดลงจากปีที่แล้วที่อยู่ในอันดับที่ 16 (เดิมประกาศให้ไทยอยู่อันดับที่ 12 เมื่อมีการปรับฐานการคำนวณใหม่โดยยกเลิกตัวชี้วัดด้านการจ้างงานออกไป ทำให้เทียบเท่ากับอันดับที่ 16) จาก 183 ประเทศ คิดเป็นการปรับลดอันดับลง 3 อันดับ โดยสาขาที่มีอันดับปรับดีขึ้น ได้แก่ การขอใบอนุญาตก่อสร้าง และการปิดกิจการ และสาขาที่อันดับปรับลดลง ได้แก่ การเริ่มต้นธุรกิจ การจดทะเบียนทรัพย์สิน การได้รับสินเชื่อ การชำระภาษี
10.1.2 สาเหตุที่อันดับของไทยลดลง เนื่องจากธนาคารโลกได้ทำการปรับฐานการคำนวณใหม่ โดยสาเหตุของตัวชี้วัดที่ส่งผลให้อันดับของไทยปรับลดลงจากเดิม ได้แก่
1) การเริ่มต้นธุรกิจ เนื่องจากประเทศอื่นมีการพัฒนาโดยนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้อย่างครอบคลุมทุกกระบวนการ ทำให้มีการพัฒนาในอัตราที่รวดเร็วกว่าไทย
2) สรุปผลการดำเนินงานของธนาคารโลก ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการนับผลการดำเนินงานตามปีปฏิทิน หรือตามปีงบประมาณ ทำให้ผลการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลการเริ่มต้นธุรกิจสู่หน่วยงานพันธมิตร (e-Starting Business) ซึ่งไทยได้เริ่มดำเนินการในเรื่อง Single Point (จุดให้บริการที่ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล ขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษี และเลขทะเบียนนายจ้าง ได้ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า แบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ) ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2553 รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุน (One Start One Stop Investment Center : OSOS) มิได้ถูกใช้ประกอบการจัดอันดับในรอบนี้ แต่ได้ถูกกำหนดให้นำผลสำเร็จของการดำเนินการทั้งสองเรื่องดังกล่าว ไปประกอบการจัดอันดับของไทยในปี 2555 ซึ่งน่าจะทำให้อันดับของไทยในปีหน้าขยับตัวดีขึ้น
3) การจดทะเบียนทรัพย์สิน เนื่องจากรัฐบาลได้ประกาศยกเลิกนโยบายการลดอัตราค่าธรรมเนียมในการโอนทรัพย์สินในปี 2553 ส่งผลให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น และทำให้อันดับของไทยลดลง
4) ด้านการได้รับสินเชื่อ ไทยขาดข้อมูลจากผู้ค้าปลีกและบริษัทผู้ให้บริการสาธารณูปโภค ทำให้ผู้ประกอบการไม่ได้ข้อมูลที่ครอบคลุมในการตัดสินใจทำธุรกรรมต่าง ๆ
5) การชำระภาษี เนื่องจากไทยยังมีจำนวนครั้งในการชำระภาษี และจำนวนภาษีที่ต้องชำระ หลากหลายประเภทเป็นจำนวนมาก และแยกหน่วยงานในการจัดเก็บ (23 ครั้งต่อปี และ 264 ชั่วโมงต่อปี) ก่อให้เกิดความยุ่งยาก ในการประกอบธุรกิจ
6) หลายประเทศพัฒนาการให้บริการอย่างจริงจังและต่อเนื่องในอัตราเร่ง จนมีผลให้อันดับของไทยลดลง
10.2 มติคณะกรรมการ กรอ.
รับทราบผลการวิจัยเรื่อง Doing Business 2011 โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติดำเนินการ ดังนี้
10.2.1 จัดทำการวิเคราะห์ในระดับดัชนีของการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ของธนาคารโลก รวมทั้งความสามารถในการแข่งขันที่จัดทำโดย International Institute of Management Development (IMD) และ World Economic Forum (WEF) พร้อมทั้งเสนอแนวทางในการปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน โดยให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการให้การสนับสนุนข้อมูลด้านการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business)
10.2.2 เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับองค์กรภาคเอกชน 3 สถาบัน ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ในการให้ความรู้ความเข้าใจกับภาคเอกชน เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญในการให้ข้อมูลแก่หน่วยงานจัดอันดับต่างๆ ที่ถูกต้องและเป็นไปทิศทางเดียวกัน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 มกราคม 2554--จบ--