ขอความเห็นชอบวาระแห่งชาติด้านวัคซีน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 19, 2011 15:20 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการต่อวาระแห่งชาติด้านวัคซีน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ซึ่งประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ และ 10 โครงการหลัก โดยให้กระทรวงสาธารณสุขรับความเห็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

สธ.รายงานว่า

1. วัคซีนเป็นเครื่องมือทางสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันและควบคุมโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนทั้งในภาวะปกติและภาวะที่มีการระบาด หากเปรียบเทียบผลการดำเนินการป้องกันโรคด้วยวัคซีนกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกพบว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จค่อนข้างสูง โดยได้ให้บริการวัคซีนพื้นฐานแก่ประชากรครอบคลุมกว่าร้อยละ 90 ของกลุ่มเป้าหมายทำให้โรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนในโครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคลดลงอย่างมาก

ในอดีตประเทศไทยเคยผลิตวัคซีนได้เองหลายชนิด ได้แก่ วัคซีนโรคฝีดาษ วัคซีนอหิวาตกโรค วัคซีนโรคไทฟอยด์ วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก วัคซีนบีซีจี วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี ทำให้ประเทศไทยอยู่ในแนวหน้าด้านการผลิตวัคซีนในระดับภูมิภาคในขณะนั้นแต่ปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนได้เพียง 2 ชนิด เท่านั้น ได้แก่ วัคซีนบีซีจีสำหรับป้องกันวัณโรคเด็ก โดยสถานเสาวภา สภากาชาดไทย และวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอีโดยองค์การเภสัชกรรม เนื่องจากวัคซีนเดิมที่เคยผลิตได้นั้นองค์การเภสัชกรรมต้องหยุดการผลิตเพื่อปรับปรุงสถานที่และกระบวนการผลิตวัคซีนให้เป็นไปตามมาตรฐานการผลิตที่ดี (GMP) ตลอดจนเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนให้ทันสมัย จึงมีการนำเข้าวัคซีนสำเร็จรูปหรือวัคซีนเข้มข้น (bulk of vaccine) บางชนิดเพื่อนำมาผสมสูตรและแบ่งบรรจุภายในประเทศ โดยแต่ละปีประเทศไทยใช้วัคซีนคิดเป็นมูลค่ารวม ประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งวัคซีนที่มีราคาแพงและมีแนวโน้มการใช้สูงขึ้น ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ (มูลค่ากว่าร้อยละ 80 ของมูลค่ารวม)

ปัจจุบันประเทศที่ต้องพึ่งพาวัคซีนจากต่างชาติมีความเสี่ยงที่จะต้องซื้อวัคซีนที่มีราคาแพงขึ้น ได้รับวัคซีนไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ ได้รับวัคซีนล่าช้าหรือไม่สามารถหาวัคซีนป้องกันโรคที่เป็นปัญหาสำคัญแต่ไม่มีผู้สนใจผลิตทำให้ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศลงทุนผลิตวัคซีนเอง เช่น อินเดีย และอินโดนีเซีย ที่เคยมีความสามารถด้านการผลิตอยู่ในระดับเดียวกับประเทศไทยแต่ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีความก้าวหน้าเท่าที่ควรและจำเป็นต้องพึ่งพาต่างประเทศมากขึ้น

ด้วยเหตุที่กระบวนการวิจัยพัฒนาและการผลิตวัคซีนมีความซับซ้อนต้องอาศัยความร่วมมือของบุคลากรและ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดวงจรวัคซีนอย่างสอดคล้องเชื่อมโยงกัน โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างพอเพียง และหน่วยงานกลางทำหน้าที่ประสานอย่างต่อเนื่อง ให้สามารถขับเคลื่อนและผลักดันนโยบายและแผนยุทธศาสตร์วัคซีนแห่งชาติได้อย่างจริงจัง เพื่อความสำเร็จคือ การพัฒนา การผลิต การควบคุมกำกับคุณภาพวัคซีนของประเทศรวมถึงการใช้วัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานสากล

2. คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2552 ได้เห็นชอบให้มีการผลักดันการดำเนินงานด้านวัคซีนที่สำคัญ โดยให้ “วัคซีน” เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้ประเทศสามารถวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนเพื่อการพึ่งตนเองได้

3. วาระแห่งชาติด้านวัคซีน มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

3.1 ยุทธศาสตร์สำคัญเพื่อให้การวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนในประเทศมีความก้าวหน้าโดยเร็ว ได้กำหนดในวาระแห่งชาติด้านวัคซีน จำนวน 4 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ผลักดันและขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์วัคซีนแห่งชาติ โดยหน่วยงานกลางด้านวัคซีนของประเทศ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านวัคซีนภายในประเทศให้มีองค์ความรู้เพียงพอ และมีทักษะเฉพาะด้านที่เหมาะสมกับภารกิจ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 จัดตั้งและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการวิจัยพัฒนา การผลิต และการควบคุมคุณภาพวัคซีนตั้งแต่การวิจัยพัฒนาจนถึงการใช้วัคซีน

ยุทธศาสตร์ที่ 4 สนับสนุนการวิจัยพัฒนาและการผลิตวัคซีนได้เองภายในประเทศทั้งวัคซีนพื้นฐานและวัคซีนที่จำเป็นต้องใช้สำหรับการป้องกันและควบคุมโรคในภาวะปกติและเมื่อเกิดการระบาด

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 มกราคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ