คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการอำนวยการ กำกับ ติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) ครั้งที่ 1/2554 ตามที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
คชอ. ในการประชุม ครั้งที่ 1/2554 เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2554 ที่ประชุมได้มีการประชุมปรึกษาหารือและ มีมติในประเด็นต่างๆ ดังนี้
1. คชอ. ได้มีการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ จำนวน 5 เรื่อง ประกอบด้วย
1.1 การดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ครัวเรือนละ 5,000 บาท
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานข้อมูลการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ครัวเรือนละ 5,000 บาท ดังนี้
(1) กลุ่ม 38 จังหวัด จากกรอบตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2553 จำนวน 632,288 ครัวเรือน ปภ. ดำเนินการ 511,059 ครัวเรือน (ส่งธนาคารออมสิน 482,025 ครัวเรือน ระงับและส่งให้จังหวัดตรวจสอบใหม่ 6,386 ครัวเรือน อยู่ระหว่างตรวจสอบ 22,648 ครัวเรือน) จังหวัดต่างๆ ขอรับการช่วยเหลือครัวเรือนเพิ่มเติม จำนวน 15,401 ครัวเรือน ซึ่งเกินกรอบของจังหวัดแต่ไม่เกินกรอบคณะรัฐมนตรีในภาพรวม
(2) กลุ่ม 12 จังหวัดภาคใต้ จากกรอบตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2553 จำนวน 373,182 ครัวเรือน ปภ. ดำเนินการ 383,806 ครัวเรือน (ส่งธนาคารออมสิน 215,904 ครัวเรือน ระงับและส่งให้จังหวัดตรวจสอบใหม่ 33,341 ครัวเรือน อยู่ระหว่างตรวจสอบ 134,561 ครัวเรือน) จังหวัดต่างๆ ขอรับการช่วยเหลือครัวเรือนเพิ่มเติม จำนวน 141,471 ครัวเรือน ซึ่งเกินกรอบของจังหวัดและมติคณะรัฐมนตรีในภาพรวมจำนวน 152,095 ครัวเรือน
(3) กลุ่มจังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี จากกรอบตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 จำนวน 3,664 ครัวเรือน ปภ. ดำเนินการ 3,670 ครัวเรือน (ส่งธนาคารออมสิน 3,579 ครัวเรือน ระงับและส่งให้จังหวัดตรวจสอบใหม่ 31 ครัวเรือน อยู่ระหว่างตรวจสอบ 60 ครัวเรือน) จังหวัดต่างๆ ขอรับการช่วยเหลือครัวเรือนเพิ่มเติม จำนวน 319 ครัวเรือน ซึ่งเกินกรอบจังหวัดและกรอบมติคณะรัฐมนตรีในภาพรวมจำนวน 325 ครัวเรือน
ทั้งนี้ ประธาน คชอ. ให้ข้อสังเกตว่า กรณีน้ำท่วมซ้ำในพื้นที่เดิม จะได้รับการช่วยเหลือเพียงครั้งเดียว สำหรับพื้นที่ประสบอุทกภัย 4 จังหวัดภาคใต้ในขณะนี้ ขอให้ ปภ. ตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนด้วยว่ามีพื้นที่ใดที่ไม่เคยประสบ
อุทกภัยหรือไม่ เนื่องจากช่วงระยะเวลาการเกิดภัยไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 5,000 บาท ตามมติคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมา
คชอ. พิจารณาแล้วมีมติให้ ปภ. ดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของจำนวนครัวเรือนที่ ปภ. ระงับและส่งให้จังหวัดตรวจสอบใหม่ จำนวน 39,758 ครัวเรือน ให้เสร็จเรียบร้อย หากถูกต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ให้ ปภ. ดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือตามขั้นตอนแก่ผู้ประสบภัยโดยเร็วต่อไป สำหรับกรณีที่จังหวัดขอเพิ่มเติมจำนวนครัวเรือน ณ วันที่ 24 ธันวาคม 2553 ให้ ปภ. ตรวจสอบจำนวนครัวเรือนและรายชื่อที่ถูกต้องชัดเจนแล้วเสนอ คชอ. พิจารณาโดยด่วนต่อไป
2. การจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เสนอว่า ตามที่ ปภ. ได้รับอนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินการจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์นำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่เป็นกรณีเร่งด่วน ในกรอบวงเงินทั้งสิ้น 308,943,000 บาท ปภ. ได้ดำเนินการจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ไปแล้ว รวมเป็นเงิน 273,425,000 บาท คงเหลือกรอบวงเงินอีก 35,518,000 บาท ในการนี้ กระทรวงมหาดไทย โดย ปภ. พิจารณาเห็นว่า ปัจจุบันบางจังหวัดในภาคใต้ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยและบางจังหวัดต้องได้รับการฟื้นฟูหลังสถานการณ์น้ำท่วม จึงมีความจำเป็นเร่งด่วน ฉุกเฉิน ในการจัดหาอุปกรณ์ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยเฉพาะเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ เพื่อทำการเร่งระบายน้ำในพื้นที่ท่วมขัง เพื่อเข้าทำการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ทั้งนี้ เมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติแล้ว ปภ. จะทำการจัดกรอบอัตราครุภัณฑ์ที่จัดหาทั้งหมดในครั้งนี้ เพื่อจัดส่งไปยัง 18 ศูนย์เขต ทั่วประเทศ เพื่อเตรียมการช่วยเหลือในโอกาสต่อไป นอกจากนี้ ในอีก 2 เดือนข้างหน้า พื้นที่บางแห่งจะเข้าสู่ภาวะภัยแล้ง เครื่องสูบน้ำจะมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการสูบน้ำเพื่อส่งน้ำเข้าสู่พื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้ง จึงขออนุมัติการจัดซื้อเครื่องสูบน้ำ ขนาด 12 นิ้ว จำนวน 37 เครื่อง ภายในกรอบวงเงินที่เหลืออยู่ จำนวน 35,518,000 บาท
คชอ. พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้คณะรัฐมนตรีจะมีมติอนุมัติให้ ปภ. จัดซื้ออุปกรณ์โดยเบิกจ่ายจากเงินงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น แต่ก็ได้กำหนดไว้ว่าให้พิจารณาตามความจำเป็นและเหมาะสมด้วย ซึ่งข้อเสนอของ ปภ. ดังกล่าวข้างต้น ใช้เกณฑ์การพิจารณาจากจำนวน 18 ศูนย์เขตทั่วประเทศ จึงอาจเกินเหตุผลความจำเป็นที่จะนำไปใช้งานในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยในภาคใต้ขณะนี้ คชอ. จึงมีมติอนุมัติในหลักการให้ ปภ. จัดซื้อเครื่องสูบน้ำขนาด 12 นิ้ว โดยให้ ปภ. ไปหารือตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณ และเลขานุการ คชอ. เพื่อปรับลดจำนวนเครื่องสูบน้ำที่จะจัดซื้อเท่าที่จำเป็นและ เหมาะสมกับการใช้งานในพื้นที่ภาคใต้ที่กำลังประสบอุทกภัยในช่วงระยะเวลานี้ และให้เสนอเรื่องให้ประธาน คชอ. พิจารณาโดยด่วนต่อไป
3. การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนงาน โครงการ และงบประมาณในการช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายจากอุทกภัย
คชอ. ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนงาน โครงการ และงบประมาณในการช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายจากอุทกภัย ขึ้น โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) ประธาน คชอ. เป็นประธานอนุกรรมการ เพื่อทำหน้าที่ในการกลั่นกรองแผนงาน โครงการ และงบประมาณในการช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายจากอุทกภัย ตามที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอ เพื่อให้การบริหารแผนงาน โครงการ และงบประมาณเป็นไปอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล มีความโปร่งใส ไม่เกิดความซ้ำซ้อน และมีความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้รายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานว่า หน่วยงานต่างๆ ได้เสนอแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาอุทกภัยทั้งในส่วนของการขอใช้เงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีของปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 และ พ.ศ. 2553 การปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 งบ SP2 และงบกลาง ประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2554 ประมาณ 21,000 ล้านบาท และขอใช้งบประมาณ พ.ศ. 2555 ประมาณ 4,400 ล้านบาท ซึ่งฝ่ายเลขานุการฯ ได้ร่วมกันพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติโครงการฯ แนวทางและกรอบระยะเวลาการกลั่นกรองโครงการของคณะอนุกรรมการฯ และแบบฟอร์มการพิจารณากลั่นกรองฯ เสนอให้ประธาน คชอ. พิจารณาแล้ว และคณะอนุกรรมการฯ จะจัดการประชุมเพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์ฯ รวมทั้งแผนงาน/โครงการ ของหน่วยงานต่าง ๆ ในสัปดาห์หน้า
คชอ. พิจารณาจากข้อมูลที่สำนักงบประมาณรายงานว่าเงินงบกลาง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ในขณะนี้เหลืออยู่เพียงประมาณ 20,000 ล้านบาท แล้วเห็นว่า หากนำเงินงบกลางไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยตามที่หน่วยงานต่างๆ เสนอมาทั้งหมด ประมาณ 15,000 ล้านบาท รัฐบาลจะไม่มีเงินเพียงพอไว้ใช้จ่ายสำหรับความจำเป็นในกรณีอื่นๆ จนสิ้นสุดปีงบประมาณ 2554 โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้งที่คาดว่าจะมีพื้นที่ประสบภัยแล้งเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ในส่วนของแผนงาน/โครงการ ที่ขอใช้เงินงบกลาง จะต้องเป็นโครงการที่ไม่สามารถใช้เงินตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการฯ ได้ และต้องมีความจำเป็นเร่งด่วนและพร้อมที่จะดำเนินการได้ในทันทีและแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2554 ทั้งนี้ ให้คณะอนุกรรมการฯ ดำเนินการพิจารณา กลั่นกรองแผนงาน/โครงการ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2554 เพื่อนำเสนอให้ คชอ. พิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
4. การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการตรวจสอบการจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบอุทกภัย
คชอ. ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบการจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบอุทกภัย ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง และปัตตานี ซึ่งมีการแจ้งขอรับความช่วยเหลือเพิ่มเติมเกินกว่ากรอบที่ได้รับอนุมัติเป็นจำนวนมาก โดยมีรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (นายธีรภัทร สันติเมทนีดล) เป็นประธาน โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้รายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานว่า ทั้ง 3 จังหวัดดังกล่าว ยังคงแจ้งยืนยันจำนวนครัวเรือนตามที่แจ้ง ปภ. ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้กำหนดแนวทางการตรวจสอบโดยการนำจำนวนครัวเรือนที่ขอรับความช่วยเหลือมาวิเคราะห์ร่วมกับปริมาณน้ำฝน ช่วงระยะเวลาที่เกิดภัย ภัยที่ประสบ (อุทกภัยหรือวาตภัย) เพื่อประเมินความเป็นไปได้ในเบื้องต้น พร้อมกับได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้น 3 ชุด เพื่อลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ 3 จังหวัด โดยใช้แบบสอบถามในการตรวจสอบข้อมูล ทั้งระดับตำบล/หมู่บ้าน ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด และกำหนดให้คณะทำงานฯ ดำเนินการตรวจสอบให้แล้วภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ในบางพื้นที่จำนวนครัวเรือนที่แจ้งขอรับความช่วยเหลือเกินกว่าข้อมูลครัวเรือนตาม กชช. 2 ค
ประธาน คชอ. ให้ข้อเสนอแนะว่า การตรวจสอบข้อมูลควรแยกเป็นรายพื้นที่ ถ้าพื้นที่ใดข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมมีความชัดเจนว่า เป็นพื้นที่น้ำท่วมและผู้ประสบภัยยังไม่ได้รับความช่วยเหลือให้ดำเนินการตามขั้นตอนไปได้ก่อน แต่ในพื้นที่ใดหากมีข้อสงสัยว่าประสบภัยจริงหรือไม่ หรือมียอดจำนวนครัวเรือนผิดปกติให้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นรายพื้นที่ สำหรับกรณีวาตภัยและน้ำป่าไหลหลากซึ่งไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมได้ อาจต้องใช้วิธีการลงพื้นที่ตรวจสอบแทน รวมทั้งขอให้ตรวจสอบรายชื่อผู้ลงนามรับรองให้รอบคอบ เนื่องจากได้รับรายงานข้อมูลว่าในบางพื้นที่ท้องถิ่นไม่ลงนามรับรองจำนวนครัวเรือนที่ประสบอุทกภัย
คชอ. พิจารณาแล้วเห็นชอบให้คณะอนุกรรมการฯ รับข้อเสนอแนะของประธาน คชอ. ไปดำเนินการต่อไป
5. ผลดำเนินการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รายงานข้อมูลการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนี้
(1) การจ่ายเงินช่วยเหลือด้านการเกษตร ที่จ่ายเงินผ่าน ธ.ก.ส.
(1.1) ด้านพืช พื้นที่เสียหายสิ้นเชิง (ณ วันที่ 11 มกราคม 2554) จำนวน 7.45 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 6.07 ล้านไร่ พืชไร่ 0.96 ล้านไร่ พืชสวนและอื่นๆ 0.42 ล้านไร่ เกษตรกร 712,518 ราย คิดเป็นวงเงินช่วยเหลือทั้งสิ้น 17,060.03 ล้านบาท
(1.2) ด้านประมง (ณ วันที่ 12 มกราคม 2554) พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 151,800 ไร่ แบ่งเป็น บ่อปลา 131,056 ไร่ บ่อกุ้ง ปู หอย 20,744 ไร่ กระชัง/บ่อซีเมนต์ 409,289 ตารางเมตร เกษตรกร 120,854 ราย คิดเป็นวงเงินช่วยเหลือทั้งสิ้น 718.98 ล้านบาท
(1.3) ด้านปศุสัตว์ (ข้อมูล ณ วันที่ 10 มกราคม 2554) สัตว์ตายและสูญหาย 2,415,336 ตัว แปลงหญ้า 9,576.75 ไร่ เกษตรกร 25,603 ราย คิดเป็นวงเงินช่วยเหลือ 181.37 ล้านบาท
โดยในการช่วยเหลือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว 79,025 ราย ในวงเงิน 199.57 ล้านบาท และส่งเอกสารให้ ธกส. เพื่อขออนุมัติเงินงวดช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว จำนวน 604,327 ราย ในวงเงิน 14,763.16 ล้านบาท ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้โอนเงินให้สาขาแล้ว 509,718 ราย วงเงิน 12,427.17 ล้านบาท และสาขาได้โอนเข้าบัญชีเกษตรกรแล้ว 55,438 ราย วงเงิน 1,330.72 ล้านบาท อย่างไรก็ดี เนื่องจากจากความเสียหายภายหลังจากที่ดำเนินการสำรวจจริง เกินกว่ากรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ รวมทั้งในส่วนของความเสียหายในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งยังไม่ได้ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2553 จึงขอเสนอให้ คชอ. พิจารณาการขยายระยะเวลาการช่วยเหลือเกษตรกรในภาคใต้ ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2554 และขอใช้เงินงบกลางเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเพิ่มเติมประมาณ 3,500 ล้านบาท และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
(2) การแจกจ่ายพันธุ์ข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประมาณการให้ความช่วยเหลือเมล็ดพันธุ์ข้าวประมาณ 24,460 ตัน โดยแบ่งการช่วยเหลือเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ปลูกได้ทันทีหลังน้ำลด ประมาณ 16,390 ตัน และระยะที่ 2 ปลูกในช่วงฤดูปกติ จำนวน 8,070 ตัน โดยกรมการข้าวได้สำรองเมล็ดพันธุ์ข้าวไม่ไวต่อแสง เพื่อช่วยเหลือในระยะแรก รวม 9 ชนิดพันธุ์ จำนวน 16,390 ตัน และได้จัดส่งเมล็ดพันธุ์ข้าวไปแล้ว จำนวน 3,250.74 ตัน
(3) การช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม จากการสำรวจความเสียหาย ข้อมูล ณ วันที่ 10 มกราคม 2554 พบว่า สวนยางพาราที่เสียสภาพสวนทั้งสิ้น 24,839.35 ไร่ เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน 10,401 ราย คิดเป็นเงินช่วยเหลือทั้งสิ้น จำนวน 177.42 ล้านบาท แบ่งช่วยเหลืออัตราไร่ละ 6,007 บาท เป็นเงิน 149.21 ล้านบาท และค่าปลูกซ่อมและค้ำยันต้นยาง จำนวน 509,232 ต้น เป็นเงิน 28.21 ล้านบาท ซึ่งได้ส่งเอกสารให้ ธ.ก.ส. เพื่อขออนุมัติเงินงวดจากสำนักงานงบประมาณต่อไป
สำหรับกรณีสวนยางพาราเสียหายแต่ไม่เสียสภาพสวนซึ่งเป็นสวนที่อยู่นอกเหนือการสงเคราะห์ของกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ซึ่งต้นยางที่เสียหายไม่สามารถปลูกซ่อม ค้ำยันได้ และเกษตรกรไม่ประสงค์จะปลูกแทน มีจำนวน 16,867 ราย 1,520,583 ต้น สกย. ได้เสนอแนวทางการให้ความช่วยเหลือโดยคำนวณจากระยะปลูก 3 x 8 เมตร ต่อ 1 ไร่ มีต้นยางพารา 67 ต้น หารด้วยอัตราการช่วยเหลือไร่ละ 6,007 บาท คิดเป็นเงินช่วยเหลือต้นละ 90 บาท คิดเป็นวงเงินที่จะให้ความช่วยเหลือจำนวน 136,852,470 บาท โดยใช้งบประมาณจากเงินงบกลางฯ
(4) การสำรวจสวนยางที่อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนหรือหวงห้ามอื่นๆ มีทั้งสิ้น 10,224.55 ไร่ เกษตรกร 1,225 ราย แยกเป็น อยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลสาบสงขลา และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง จำนวน 255 ราย พื้นที่ 3,389 ไร่ อยู่ในเขตที่ดินสาธารณประโยชน์จังหวัดพัทลุง จำนวน 610 ราย พื้นที่ 5,845 ไร่ และอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สงขลา กระบี่ และสตูล จำนวน 360 ราย พื้นที่ 990.55 ไร่
ซึ่งในการประชุมหารือร่วม 3 ฝ่าย ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย มีความเห็นพ้องกันว่า ควรดำเนินการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยเพื่อให้เป็นไปตามหลักมนุษยธรรม
(5) การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน กรณีสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดพัทลุง จำกัด ร้องเรียนว่าผลกระทบส่วนใหญ่ที่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาได้รับ คือ ต้นปาล์มน้ำมันชะงักการเจริญเติบโตและการติดดอกออกผล เกษตรกรจึงขาดรายได้จากการขายปาล์มน้ำมัน และส่งผลกระทบให้เกษตรกรไม่มีเงินทุนที่จะฟื้นฟูสวนปาล์มหลังน้ำลดได้ ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์อยู่ระหว่างการเสนอมาตรการช่วยเหลือให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยจะเป็นมาตรการเดียวกันกับ ธ.ก.ส. คือ กรณีสมาชิกเสียชีวิต ให้ตัดหนี้ออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญ โดยขอให้รัฐบาลช่วยรับภาระแทน กรณีสมาชิกประสบภัยไม่มีรายได้ส่งชำระหนี้ ให้ขยายระยะเวลาชำระหนี้เดิมออกไปเป็นเวลา 3 ปี โดยงดคิดดอกเบี้ยและค่าปรับจากสมาชิก ส่วนการฟื้นฟูสวนปาล์มจะให้สมาชิกกู้สัญญาใหม่ รายละไม่เกิน 100,000 บาท โดยขอให้รัฐบาลเป็นผู้รับภาระชดเชยดอกเบี้ยแทนเกษตรกร
คชอ. พิจารณาแล้วมีมติในเรื่องการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบภัย ดังนี้
1. กรณีการขอใช้เงินงบกลางเพิ่มเติมในส่วนของความเสียหายภายหลังดำเนินการสำรวจจริงรวมทั้งประมาณการความเสียหายในภาคใต้ เนื่องจากเป็นการให้ความช่วยเหลือตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 และ 16 พฤศจิกายน 2553 จึงเห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปทำความตกลงวงเงินกับสำนักงบประมาณแล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
สำหรับประเด็นการขอขยายระยะเวลาการช่วยเหลือเกษตรกรเห็นควรรอให้สิ้นสุดการเกิดภัยพิบัติก่อน และเมื่อสิ้นสุดการเกิดภัยพิบัติแล้ว หากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาเห็นว่า ควรจะต้องมีการช่วยเหลือเกษตรกรเพิ่มเติม จึงให้เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมต่อไป
2. เห็นชอบการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่สวนยางเสียหายแต่ไม่เสียสภาพสวน จำนวน 1,520,583 ต้นในอัตราต้นละ 90 บาท วงเงินทั้งสิ้น 136,852,470 บาท และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
3. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแนวทางการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่สวนยางที่อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนหรือหวงห้ามอื่นๆ จำนวน 10,224.55 ไร่ ตามที่รายงานให้ คชอ. ทราบ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา
4. มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกรชาวสวนปาล์มที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ เกี่ยวกับแนวทางการให้ความช่วยเหลือของกรมส่งเสริมสหกรณ์
5. มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประสานงานกับนายวิทเยนทร์ มุตตามระ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย กรมประชาสัมพันธ์ และกระทรวง มหาดไทย ดำเนินการในเรื่องของการประชาสัมพันธ์การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านการเกษตรให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง
อนึ่ง เนื่องจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขอให้ คชอ. เป็นผู้นำเสนอเรื่องการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา จึงขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำความตกลงวงเงินกับสำนักงบประมาณแล้วทำหนังสือเสนอต่อประธาน คชอ. เพื่อจะได้นำเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดต่อคณะรัฐมนตรี
2. คชอ. ได้รับทราบเรื่องต่างๆ จำนวน 2 เรื่อง ประกอบด้วย
2.1 การช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีที่อยู่อาศัยเสียหาย
ประธาน คชอ. ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า จากการลงพื้นที่ในอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา พบว่ามีผู้ประสบภัยที่อยู่อาศัยเสียหายจำนวน 25 หลัง ซึ่งหน่วยทหารได้เข้าไปดำเนินการสร้างทดแทนให้แล้ว จำนวน 8 หลัง แต่บ้านที่สร้างให้นั้นไม่มีห้องน้ำ อาจเนื่องจากข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ จึงเห็นควรที่จะใช้เงินกองทุนผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี เข้าไปช่วยเหลือเพิ่มเติม ซึ่งจะได้มีการนัดประชุมเพื่อขออนุมัติใช้เงินกองทุนฯ ในสัปดาห์หน้า โดยหลักการเบื้องต้นเห็นควรแบ่งการช่วยเหลือออกเป็น 3 กลุ่ม คือ (1) บ้านที่สร้างเสร็จแล้วแต่ไม่มีห้องน้ำ ให้ทำห้องน้ำต่อเติม งบประมาณหลังละ 50,000 บาท (2) บ้านสำหรับผู้อยู่อาศัย 2 — 5 คน งบประมาณหลังละ 150,000 บาท และ (3) บ้านสำหรับผู้อยู่อาศัยตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป งบประมาณหลังละ 200,000 บาท โดยจะใช้แบบบ้านที่มูลนิธิปูนซิเมนต์ไทยเป็นผู้ออกแบบให้ นอกจากนี้ ได้รับแจ้งจากกระทรวงการคลังว่า มีเงินประมาณ 40,000,000 บาท ที่จะเข้าไปช่วยเหลือด้านการก่อสร้างที่อยู่อาศัย ขอให้ คชอ. แจ้งพื้นที่ที่ต้องการให้เข้าไปดำเนินการ จึงขอให้ ปภ. ร่วมกับหน่วยทหารสำรวจข้อมูลที่อยู่อาศัยที่เสียหายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ทั้งจำนวน พื้นที่ และภาพถ่าย เพื่อจะได้แจ้งข้อมูลให้กระทรวงการคลังไปดำเนินการช่วยเหลือต่อไป สำหรับอำเภออื่นของสงขลา และจังหวัดอื่นๆ ได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี (นายจำเริญ ยุติธรรมสกุล) พลตำรวจโท อุดม ชัยมงคลรัตน์ และ ปภ. ดำเนินการสำรวจข้อมูลทั้งหมด เพื่อที่จะได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศ ในพระบรมราขูปถัมภ์ กำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือต่อไป และในส่วนของจังหวัดต่างๆ ที่มีภัยเกิดขึ้น หากมีข้อร้องเรียนกรณีบ้านเสียหายขอให้ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีแจ้งข้อมูลให้ประธาน คชอ. ทราบด้วย นอกจากนี้ สิ่งที่ คชอ. ยังไม่ได้ดำเนินการคือ การฟื้นฟูห้องสมุดของโรงเรียน ซึ่งทราบข้อมูลว่า ขณะนี้ทางบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ประกาศว่ามีห้องสมุดเสียหายประมาณ 3,000 แห่ง และกำลังรับบริจาคเพื่อนำไปช่วยเหลือ จึงขอให้กระทรวง ศึกษาธิการประสานข้อมูลว่า บริษัท มติชนฯ ได้เข้าไปช่วยเหลือเป็นจำนวนเท่าใด ครบถ้วนหรือไม่ และประสานงานกับนายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ กรรมการ คชอ. รวมทั้งในส่วนของศูนย์เด็กเล็กด้วย เพื่อที่จะได้กำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือต่อไป เช่น การใช้เงินกองทุนผู้ประสบสาธารณภัยฯ บางส่วนไปจัดซื้อหนังสือ รวมทั้งการรับบริจาคเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ในส่วนของภาคประชาชนได้แจ้งข้อมูลให้ คชอ. ทราบเพิ่มเติมว่า ในส่วนของพื้นที่ต้นน้ำในเขตจังหวัดนราธิวาส มีบ้านเรือนของประชาชนถูกน้ำป่าพัดพาพังเสียหายบางส่วนประมาณ 20,000 หลังคาเรือน ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ ประธาน คชอ. จึงได้มอบหมายให้ ปภ. ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป
2.1 สถานการณ์น้ำ
คชอ. ได้รับทราบสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดสงขลา พัทลุง นราธิวาส ปัตตานี และยะลา มีพื้นที่เสียหาย 27 อำเภอ 94 ตำบล 392 หมู่บ้าน 13,606 ครัวเรือน มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยสภาพอากาศถึงวันที่ 18 มกราคม 2553 ในภาคใต้จะยังคงมีฝน แต่จะไม่เป็นบริเวณกว้าง ปริมาณน้ำฝนประมาณ 80 — 100 มิลลิเมตร/วัน ซึ่งอาจจะส่งผลให้มีน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่แคบเล็กน้อย แต่จะหมดฝนในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ และมีฝนเล็กน้อยในช่วงเดือนเมษายน และมีฝนชุกอีกครั้งในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม โดยกรมอุตุนิยมวิทยาและกรมชลประทานจะได้ดำเนินการบริหารจัดการ น้ำร่วมกันอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ประธาน คชอ. ได้ขอให้ฝ่ายเลขานุการ คชอ. จัดส่งถุงยังชีพไปให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในภาคใต้ด้วย
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 มกราคม 2554--จบ--