โครงการเคเบิลใต้น้ำใยแก้วอ่าวไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 26, 2011 14:52 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการโครงการเคเบิลใต้น้ำใยแก้วอ่าวไทย โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณา ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ

ข้อเท็จจริง

กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ทก.) รายงานว่า บมจ. กสท โทรคมนาคม ได้เสนอโครงการเคเบิลใต้น้ำใยแก้วอ่าวไทย สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1. หลักการและเหตุผล

1.1 โครงการเคเบิลใต้น้ำใยแก้วอ่าวไทยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดสร้างโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำใยแก้ว ที่เป็นเส้นทางหลัก เพื่อขยายระบบสื่อสารในประเทศและเชื่อมต่อระหว่างประเทศ โดยเชื่อมโยงสถานีเคเบิลใต้น้ำใยแก้ว 2 สถานี ระหว่าง ชลี 2 จังหวัดสงขลา และ ชลี 3 จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นสถานีจุดขึ้นบก (Landing Point) ของโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำใยแก้วระหว่างประเทศและจุดเชื่อมโยงการสื่อสารโทรคมนาคมระหว่างภูมิภาคที่สำคัญเข้าสู่ประเทศไทย

1.2 โครงการดังกล่าวเป็นการขยายโครงข่ายสื่อสารภายในประเทศ โดยใช้เทคโนโลยี Dense Wavelength Division Multiplex (DWDM) ที่ทันสมัย และติดตั้งอุปกรณ์ทวนสัญญาณใต้น้ำ Repeater ที่ทำหน้าที่ขยายความเข้มของแสงให้สามารถส่งสัญญาณไปได้ระยะทางที่ไกลมากขึ้น สามารถให้บริการสื่อสารรองรับความจุไม่น้อยกว่า 160 Gbps สามารถรองรับการให้บริการโทรคมนาคมทุกรูปแบบ เพิ่มความมั่นคงและหลากหลายในการใช้โครงข่าย นอกจากนั้น ยังเป็นเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างเคเบิลใต้น้ำใยแก้วเส้นทางหลักกับแท่นสำรวจ และผลิตปิโตรเลียมของผู้ใช้บริการในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานในอ่าวไทย และสามารถรองรับบริการวงจรเช่าส่วนบุคคลความเร็วสูงสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานในอ่าวไทย ที่ต้องการการรักษาความปลอดภัยสูง ซึ่งพลังงานจากฐานการผลิตเหล่านี้เป็นเชื้อเพลิงหลักของโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทยและผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชน เช่น บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) เป็นต้น ซึ่งมีความสำคัญต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

2. เป้าหมาย

2.1 จัดสร้างโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำใยแก้วที่เป็นเส้นทางหลักในอ่าวไทย โดยมีสถานีจุดขึ้นบกที่สถานีเคเบิลใต้น้ำ ชลี 2 จังหวัดสงขลา และสถานีเคเบิลใต้น้ำ ชลี 3 จังหวัดชลบุรี และมีเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างเคเบิลใต้น้ำใยแก้วทางหลักกับแท่นสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของผู้ใช้บริการในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานในอ่าวไทย

2.2 ติดตั้งอุปกรณ์โทรคมนาคมเพื่อรองรับความจุไม่น้อยกว่า 160 Gbps โดยใช้เทคโนโลยี DWDM (การส่งข้อมูลบนเส้นไฟเบอร์ออฟติก)

3. ระยะเวลาดำเนินงาน

2 ปี (คาดว่าจะเริ่มดำเนินงานได้ประมาณไตรมาสที่ 4 ของปี พ.ศ. 2553 หลังจากที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติและพร้อมให้บริการได้ประมาณไตรมาสที่ 3 ปี พ.ศ. 2555)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 มกราคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ