การดำเนินโครงการพิเศษสายศรีรัช — วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 26, 2011 14:55 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การดำเนินโครงการพิเศษสายศรีรัช — วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้วยวิธีการเพิ่มบทบาทภาคเอกชน

(Public Private Partnerships : PPPs) ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการ

ในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ และให้กระทรวงคมนาคม การทางพิเศษแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นและข้อสังเกตของกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1. เห็นชอบในหลักการโครงการทางพิเศษสายศรีรัช — วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร โดยการให้เอกชน เข้าร่วมลงทุนในรูปแบบ Build — Transfer — Operate กรอบวงเงินลงทุนประมาณ 27,022 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) ประมาณการวงเงินลงทุนของภาคเอกชน จำนวน 17,458 ล้านบาท และ (2) ประมาณการวงเงินลงทุนของภาครัฐ โดยเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ ที่ดินของโครงการ จำนวน 9,564 ล้านบาท ตามที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เสนอ โดยให้ดำเนินการตามขั้นตอนพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นการขยายโครงข่ายทางพิเศษให้มีความครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเพิ่มขึ้น และสามารถรองรับและเพิ่มทางเลือกในการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างฝั่งธนบุรีและกรุงเทพมหานครของประชาชนที่อาศัยอยู่ในฝั่งพื้นที่ธนบุรี รวมทั้งจะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรบนสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และโครงข่ายถนนพื้นราบในพื้นที่โดยรอบโครงการดังกล่าวได้ในระดับหนึ่ง

2. มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม (คค.) และ กทพ. รับความเห็นของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปดำเนินการอย่างเคร่งครัดต่อไป

3. เห็นควรให้หน่วยงานเจ้าของโครงการที่มีความประสงค์ที่จะให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการลงทุนในโครงการตามขั้นตอนพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ในระยะต่อไป ดำเนินการทดสอบความสนใจของนักลงทุน (Market Sounding) เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการ และกำหนดรูปแบบการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนที่มีความเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป

4. มอบหมายให้สำนักงบประมาณ (สงป.) และกรมบัญชีกลางร่วมกันพิจารณาแนวทางการตรวจสอบการดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป โดยอาจพิจารณาปรับใช้เครื่องมือวัดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ของส่วนราชการ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2553 และเห็นควรกำหนดให้มีการตรวจสอบการดำเนินโครงการตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมความพร้อมของโครงการ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อเป้าหมายของโครงการต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

สศช. รายงานว่า คค. ได้เสนอเรื่อง การดำเนินโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้วยวิธีการเพิ่มบทบาทภาคเอกชน (Public Private Partnerships : PPPs) ของ กทพ. ให้ สศช. พิจารณาตามขั้นตอน พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ซึ่งในคราวประชุมคณะกรรมการฯ เมื่อวันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553 มีมติเห็นชอบในหลักการของโครงการดังกล่าวและมอบหมายให้ สศช. นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามกฎหมาย โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. คค. นำเสนอการดำเนินโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร วงเงินลงทุน 27,022 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย ค่าก่อสร้าง จำนวน 17,137 ล้านบาท ค่าทบทวนแบบและควบคุมงาน จำนวน 321 ล้านบาท และขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลสำหรับค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 9,564 ล้านบาท ภายใต้รูปแบบการลงทุน Build — Transfer — Operate โดยมีสาระสำคัญของโครงการ ดังนี้

1.1 ลักษณะทางกายภาพของโครงการ

(1) วัตถุประสงค์ เพื่อขยายโครงข่ายของทางพิเศษในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในทางทิศตะวันตก โดยขยายขอบข่ายการให้บริการจากทางพิเศษศรีรัช ไปทางทิศตะวันตกของกรุงเทพมหานครสิ้นสุดที่ถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันตก เพื่อแบ่งเบาปริมาณจราจรบนถนนระดับดินและระบายการจราจรทางด้านทิศตะวันตกระหว่างกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

(2) แนวเส้นทาง โครงการทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร เป็นการก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ร่วมกับระบบขนส่งมวลชนสายสีแดงช่วงบางซื่อ — ตลิ่งชัน ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงข่ายบนเขตทางรถไฟที่มีอยู่เดิมเป็นส่วนใหญ่ มีระยะทางทั้งสิ้น 16.7 กิโลเมตร โดยมีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากถนนกาญจนาภิเษก บริเวณ โรงกรองน้ำมหาสวัสดิ์ไปทางทิศตะวันออกตามแนวเขตทางรถไฟสายใต้เดิมข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะพานพระรามหก และไปสิ้นสุดที่ทางพิเศษศรีรัชส่วน A บริเวณด้านเหนือของสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต 2)

(3) อัตราค่าผ่านทาง จัดเก็บค่าผ่านทางแบบระบบเปิด โดยปีแรกที่เปิดให้บริการ (ปี 2559) คิดอัตราค่าผ่านทาง รถ 4 ล้อ เท่ากับ 50 บาท/คัน และปรับเพิ่มทุก 5 ปี ตามค่าเฉลี่ยดัชนีผู้บริโภค

(4) วงเงินลงทุน 27,022 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าก่อสร้าง 17,137 ล้านบาท ค่าทบทวนแบบและควบคุมงาน 321 ล้านบาท และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 9,564 ล้านบาท

1.2 ความเหมาะสมทางเศรษฐกิจของโครงการ โครงการมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิเท่ากับ 20,011 ล้านบาท (อัตราคิดลดร้อยละ 12) และมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) ร้อยละ 22.23

1.3 ความเหมาะสมทางการเงินของโครงการ กรณีรัฐอุดหนุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินจะทำให้โครงการมี ผลตอบแทนทางการเงินคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิเท่ากับ 5,768 ล้านบาท (อัตราคิดลดร้อยละ 6.18) และมีอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) ร้อยละ 8.94

1.4 ความเหมาะสมของการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน กรณีให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ BTO จะทำให้เอกชนมีผลตอบแทนทางการเงินคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิเท่ากับ 802 ล้านบาท และมี FIRR ร้อยละ 6.89

1.5 แผนดำเนินงาน คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนเมษายน 2559

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 มกราคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ