ระบบการประเมินผลภาคราชการแบบบูรณาการ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 26, 2011 16:24 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (ค.ต.ป.) ในการประชุม ค.ต.ป. ครั้งที่ 4/2553 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2553 และข้อเสนอของสำนักงบประมาณ (สงป.) และสำนักงาน ก.พ.ร. ที่เสนอต่อที่ประชุมปลัดกระทรวงเกี่ยวกับระบบการประเมินผลภาคราชการแบบบูรณาการ (Government Evaluation System (GES))

2. เมื่อดำเนินงานตามระบบประเมินผลดังกล่าวในส่วนราชการแล้ว ให้สำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาปรับใช้ในการประเมินผลของจังหวัดและองค์การมหาชนต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

เลขาธิการ ก.พ.ร. ในฐานะกรรมการและเลขานุการ ค.ต.ป. รายงานว่า

1. ในการประชุม ค.ต.ป. ครั้งที่ 4/2553 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2553 ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่อง การประเมินความคุ้มค่าการปฏิบัติภารกิจของภาครัฐตามมติคณะรัฐมนตรี (21 กันยายน 2553) รวมทั้งแนวทางการบูรณาการระบบการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการตามที่ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณและเลขาธิการ ก.พ.ร. ได้หารือร่วมกันแล้วมีมติ ดังนี้

1.1 เห็นควรให้มีการบูรณาการระบบการติดตามและประเมินผลภาครัฐให้มีความเป็นเอกภาพ ลดความซ้ำซ้อนและภาระงานเอกสาร เพื่อให้ส่วนราชการมุ่งเน้นเฉพาะตัวชี้วัดหลักที่มีความจำเป็นโดยมีกรอบการประเมินผลใน 2 มิติ ดังนี้

1.1.1 มิติภายนอก ประกอบด้วย

1) การประเมินผลกระทบ (โดยให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณาเลือกเฉพาะบางประเด็นที่มีความสำคัญในเชิงนโยบายและสมควรต้องมีการประเมินผล)

2) การประเมินผลสัมฤทธิ์ (ผลผลิต/ผลลัพธ์)

3) การประเมินผลประโยชน์ต่อค่าใช้จ่าย (Benefit-Coat Ratio) หรือการประเมินประสิทธิผลต่อค่า ใช้จ่าย (Cost-Effectiveness) โดยให้ สงป. พิจารณาเลือกเฉพาะบางโครงการที่สมควรต้องมีการประเมินผลในเรื่องดังกล่าว

4) ด้านคุณภาพความพึงพอใจของประชาชนที่มีต่อผลประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้บริการและที่มีต่อกระบวนงานให้บริการ

1.1.2 มิติภายใน ประกอบด้วยตัวชี้วัด 1) ด้านประสิทธิภาพ 2) ด้านการพัฒนาองค์กร

1.2 เห็นควรให้ยกเลิกตัวชี้วัดตามคำรับรองการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ จำนวน 5 ตัวชี้วัด ได้แก่

1) ตัวชี้วัดระดับความสำเร็จของการพัฒนาศูนย์บริการร่วมหรือเคาน์เตอร์บริการประชาชน

2) ตัวชี้วัดระดับความสำเร็จของร้อยละเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักในการรักษามาตรฐานระยะเวลาการให้บริการ

3) ตัวชี้วัดระดับความสำเร็จของการควบคุมภายใน

4) ตัวชี้วัดระดับความสำเร็จของการดำเนินการตามแผนพัฒนากฎหมายของส่วนราชการ

5) ตัวชี้วัดระดับความสำเร็จของร้อยละเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักในการบรรลุเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ รายจ่ายประจำปีของส่วนราชการระดับกรมหรือเทียบเท่า

1.3 เห็นชอบให้มีการวางระบบสารสนเทศฐานข้อมูลกลางขึ้นอันเป็นการเชื่อมโยงฐานข้อมูลกลางของประเทศ และฐานข้อมูลของส่วนราชการเข้าไว้ในฐานข้อมูลร่วมกัน เพื่อเป็นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความซ้ำซ้อนในการจัดทำรายงานของส่วนราชการที่เสนอต่อหน่วยงานกลางและทำให้แต่ละส่วนราชการมีความพร้อมในการรายงานข้อมูลสารสนเทศต่อสาธารณะ และการตรวจสอบของประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ

2. สรุปผลการประชุมจากที่ประชุมปลัดกระทรวงในการประชุมปลัดกระทรวงประจำเดือนธันวาคม 2553 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2553 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้พิจารณาระบบการประเมินผลภาคราชการแบบบูรณาการ GES ตามที่ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณและเลขาธิการ ก.พ. นำเสนอโดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

2.1 การออกแบบระบบการประเมินผลภาคราชการแบบบูรณาการ

2.1.1 วัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการยกระดับธรรมาภิบาลของแต่ละส่วนราชการให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล

2.1.2 หลักการและแนวทาง

1) ภาระรับผิดชอบต่อสาธารณะ (Public Accountability) โดยแต่ละส่วนราชการจะต้องมีความพร้อมต่อการตรวจสอบ ด้วยการจัดให้มีฐานข้อมูลสารสนเทศที่จำเป็นและเผยแพร่ต่อสาธารณะ เพื่อแสดงความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการ โดยเฉพาะผลสัมฤทธิ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อภายนอก รวมถึงขีดสมรรถนะและศักยภาพภายในหน่วยงาน

2) การสร้างความมั่นใจและไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดิน (Public Trust and Confidence) โดยมีการสอบทานความถูกต้องและประเมินผลการปฏิบัติราชการอย่างเป็นระบบ เพื่อใช้ประโยชน์ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายและการจัดสรรทรัพยากร

2.1.3 กรอบการประเมินผลภาคราชการแบบบูรณาการในคำรับรองการปฏิบัติราชการจะแบ่งออกเป็น 2 มิติ ดังต่อไปนี้คือ

1) มิติภายนอก (External Impacts) (ค่าน้ำหนักเท่ากับร้อยละ 70) ประกอบด้วยการประเมินใน 4 ด้าน ได้แก่ การประเมินผลกระทบ การประเมินประสิทธิผล (ผลลัพธ์และผลผลิต) การประเมินผลประโยชน์ต่อค่าใช้จ่ายหรือการประเมินประสิทธิผลต่อค่าใช้จ่าย และการประเมินคุณภาพ

2) มิติภายใน (Internal Management) (ค่าน้ำหนักเท่ากับร้อยละ 30) ประกอบด้วยการประเมินใน 2 ด้าน ได้แก่ การประเมินประสิทธิภาพและการพัฒนาองค์กร

2.2 การจัดระบบสารสนเทศฐานข้อมูลกลางของหน่วยงานภาครัฐ

2.2.1 หลักการ

1) เพื่อเป็นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบและ มีประสิทธิภาพ

2) เพื่อลดปัญหาความซ้ำซ้อนในการจัดทำรายงานของส่วนราชการที่นำเสนอต่อหน่วยงานกลาง

3) เพื่อให้ภาครัฐสามารถรายงานผลการดำเนินงานต่อสาธารณะได้อย่างเปิดเผย โปร่งใส และพร้อมต่อการตรวจสอบของประชาชนและทุกภาคส่วน

2.2.2 การออกแบบระบบสารสนเทศฐานข้อมูลกลางเป็นการเชื่อมโยงฐานข้อมูลกลางของประเทศ และฐานข้อมูลของส่วนราชการเข้าไว้ในฐานข้อมูลร่วมกัน และเป็นการออกแบบระบบโปรแกรมการจัดการฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการจัดการฐานข้อมูล

2.3 ประโยชน์ของระบบดังกล่าว คือ ทำให้มีการทำงานแบบ Work Collaboration ระบบการประเมินผลภาคราชการแบบบูรณาการจะคำนึงถึงการทำงานจริงของผู้ใช้เป็นหลัก สามารถลดความซ้ำซ้อนของการจัดทำรายงานเนื่องจากระบบการประเมินผลภาคราชการแบบบูรณาการนี้มีฐานข้อมูลเดียว และสามารถทำการตรวจสอบและประเมินผลผ่านระบบออนไลน์

2.4 แนวทางการใช้ประโยชน์จากระบบการประเมินผลภาคราชการแบบบูรณาการ ระบบการประเมินผลภาคราชการแบบบูรณาการสามารถนำผลการประเมินภาคราชการไปใช้ประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีการเลื่อนเงินเดือนและการจัดสรรเงินรางวัล

2.5 แนวทางการดำเนินงานต่อไป มีดังนี้

2.5.1 ให้นำระบบการประเมินผลภาคราชการแบบบูรณาการบางส่วน โดยเฉพาะผลการประเมินของปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 และ พ.ศ. 2553 มาประกอบการพิจารณาคำของบประมาณเพื่อจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555

2.5.2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำความตกลงร่วมกันในการพัฒนาและใช้ระบบการประเมินผลภาคราชการแบบบูรณาการ รวมทั้งชี้แจงให้ส่วนราชการต่างๆ ได้รับทราบ

2.5.3 ดำเนินการทดสอบและนำร่องการดำเนินงานตามระบบการประเมินผลภาคราชการแบบบูรณาการ

2.5.4 เริ่มดำเนินงานได้เต็มรูปแบบ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 มกราคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ