การรายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง การจัดทำหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่าง FAO กับรัฐบาลไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 26, 2011 16:54 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การรายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง การจัดทำหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่าง FAO กับรัฐบาลไทย

ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม FAO COFI Sub-Committee on Aquaculture สมัยที่ 5

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง การจัดทำหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กับรัฐบาลไทย ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะอนุกรรมการด้าน การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (FAO COFI Sub-Committee on Aquaculture) สมัยที่ 5 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) โดยกรมประมงรายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2553 ดังนี้

1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับมอบอำนาจเต็ม (Full Power) จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลไทยกับ FAO ในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุม FAO COFI Sub-Committee on Aquaculture สมัยที่ 5

2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลไทยกับ FAO ยอมรับการเป็นเจ้าภาพจัดประชุม FAO COFI Sub-Committee on Aquaculture สมัยที่ 5 และดำเนินการตามบันทึกความรับผิดชอบของรัฐบาลไทยและ FAO สำหรับการประชุมดังกล่าว

3) กษ. ได้จัดการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (FAO COFI Sub-Committee on Aquaculture) สมัยที่ 5 ระหว่างวันที่ 27 กันยายน - 1 ตุลาคม 2553 ณ โรงแรม Hilton Arcadia Phuket Resort and Spa จังหวัดภูเก็ต มีผู้เข้าร่วมประชุมเป็นผู้แทนจากประเทศสมาชิก FAO 59 ประเทศ และผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ ผู้เข้าร่วมประชุมรวมทั้งสิ้น 218 คน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผู้แทนระดับบริหาร ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรเอกชนและองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร และได้ดำเนินการตามหนังสือแลกเปลี่ยนและบันทึกความรับผิดชอบฯ เป็นที่เรียบร้อย โดยมีสรุปผลการประชุมฯ ดังนี้

3.1) ได้มีการรายงานผลการปฏิบัติงานของ FAO ตามข้อเสนอแนะของการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำครั้งที่ 4

3.2) FAO ได้มีการพัฒนารูปแบบของแบบสอบถามเพื่อการประเมินผลการปฏิบัติตามหลักจรรยาบรรณการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างมีความรับผิดชอบ

3.3) คณะอนุกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้การรับรองแนวทางปฏิบัติการตรวจสอบรับรองการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (Guidelines on Aquaculture Certification) ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มจากประเทศไทยโดยการร้องขอต่อการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ 3 ในปี 2549 และได้รับการขานรับจนนำมาสู่การจัดประชุมผู้เชี่ยวชาญเพื่อยกร่างแนวทางปฏิบัติฯ ครั้งแรกที่ประเทศไทยเมื่อเดือนมีนาคม 2550 หลังจากนั้นได้มีการนำร่างดังกล่าวไปพิจารณาในการประชุมผู้เชี่ยวชาญ การประชุมวิชาการและอนุกรรมการฯ รวม 7 ครั้ง สุดท้ายได้รับการรับรองแนวทางปฏิบัติฯ ในการประชุมคณะอนุกรรมการฯ สมัยที่ 5 นี้ ที่ประเทศไทย

3.4) ที่ประชุมได้มีอภิปรายเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (Aquaculture Biosecurity) และรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

3.5) ประเทศไทยขอให้ FAO จัดสัมมนาระดับภูมิภาคเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การแก้ไขผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

3.6) ประเทศสมาชิกมีข้อสังเกตว่า หากความต้องการบริโภคสัตว์น้ำมีปริมาณมากขึ้น การขยายการเลี้ยงปลาไปนอกชายฝั่ง (offshore) ก็จะเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำได้

3.7) ประเทศสมาชิกเสนอให้ FAO ให้ความช่วยเหลือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บข้อมูลสถิติ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน แม่นยำ ทันต่อเหตุการณ์ เพื่อให้สามารถนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

การดำเนินการดังกล่าวข้างต้นได้ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 9,734,000 บาท โดยเป็นงบประมาณจากงบกลางจำนวน 9,012,000 บาท และงบประมาณจากกรมประมง จำนวน 722,000 บาท

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 มกราคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ