ขอความเห็นชอบแนวทางดำเนินการในโครงการปรับโครงสร้างหนี้ตามมติคณะรัฐมนตรีของ ธ.ก.ส.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 2, 2011 15:04 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอดังนี้

1. รับทราบรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

2. เห็นชอบแนวทางดำเนินการในโครงการปรับโครงสร้างหนี้ตามมติคณะรัฐมนตรีของ ธ.ก.ส. ตามที่เสนอ

ข้อเสนอ ธ.ก.ส. เกี่ยวกับแนวทางดำเนินการในโครงการปรับโครงสร้างหนี้ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ในการประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ครั้งที่ 1/2554 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2554 ได้อนุมัติให้ ธ.ก.ส. แก้ไขข้อบังคับฉบับที่ 44 ว่าด้วยการให้เกษตรกรกู้เงินเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรโดยเพิ่มเติมการปรับโครงสร้างหนี้กรณีที่มีการสูญเสียโดยการลดต้นเงิน ซึ่งมีข้อเสนอดังนี้

1. การนำข้อบังคับ ธ.ก.ส. ที่แก้ไขเพิ่มเติมไปถือปฏิบัติกับเกษตรกรที่เป็นสมาชิก กฟก. ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 22 มิถุนายน 2553 ให้ถือว่าการดำเนินการส่วนนี้ให้ถือเป็นงบการเงินตามธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account) ภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลัง เพื่อดูแลความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการปรับโครงสร้างหนี้ให้เกษตรกรดังกล่าว

2. กรณีเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่อาจจะเป็นหรือไม่เป็นสมาชิก กฟก. แต่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนหนี้กับ กฟก. ซึ่งมติ คณะรัฐมนตรีวันที่ 7 เมษายน 2553 ให้ ธ.ก.ส. ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552 ให้ ธ.ก.ส. เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ตามแนวทางของ ธ.ก.ส. ที่ปรับปรุงแก้ไขข้อบังคับเพิ่มเติม

3. กรณีการแก้ไขหนี้ค้างชำระให้แก่เกษตรกรโดย กฟก. นั้น ธ.ก.ส เสนอข้อคิดเห็น ดังนี้

3.1 สำนักงาน กฟก. ควรหารือกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ในการแก้ไขหนี้ของลูกหนี้ เพื่อให้มีการกลั่นกรองความเหมาะสมของเกษตรกรที่สมควรได้รับการแก้ไขตามพระราชบัญญัติ กฟก. พ.ศ. 2542

3.2 กฟก. ต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายและแผนงานการจัดการหนี้กับลูกหนี้ของสถาบันการเงินให้ถูกต้องเหมาะสมตามพระราชบัญญัติ กฟก. เพื่อให้ระบบสถาบันการเงินไม่ได้รับผลกระทบและเป็นการรักษาวินัยทางการเงินของลูกหนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการคลังรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ดังนี้

ธ.ก.ส. ธนาคารกรุงไทยฯ และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้มีประเด็นข้อกฎหมายที่ขอหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาและคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีคำวินิจฉัยแจ้งให้กระทรวงการคลังทราบ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2553 โดยสรุปได้ ดังนี้

1. ธ.ก.ส. มีประเด็นว่าธนาคารไม่สามารถจำหน่ายหนี้สูญตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ หากการลดหนี้นั้นเป็นการลดหนี้ให้กับลูกหนี้ที่มีหลักประกันที่ยังมีทรัพย์สินที่จะบังคับชำระหนี้ได้ จึงมีประเด็นที่จะขอให้หารือคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า ธ.ก.ส. จะอนุมัติการปรับโครงสร้างหนี้ของเกษตรกรที่จะทำให้ธนาคารได้รับคืนเงินต้นต่ำกว่ามูลค่าหลักประกันได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา: ธ.ก.ส. ไม่อาจปรับโครงสร้างหนี้โดยการลดเงินต้นตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวได้ โดยให้เหตุผลว่าการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. ต้องอยู่ภายใต้ขอบวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง ธ.ก.ส. และอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติด้วย (ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติ ธ.ก.ส. พ.ศ. 2509 บัญญัติให้การให้กู้เงินหรือการให้สินเชื่อต้องเป็นไปตามข้อบังคับของธนาคารและตามข้อ 33 ของข้อบังคับ ธ.ก.ส. ฉบับที่ 44 ว่าด้วยการให้เกษตรกรกู้เงิน ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2542 ที่ใช้บังคับในปัจจุบันได้กำหนดวิธีการในการปรับโครงสร้างหนี้ว่าอาจทำได้โดยขยายระยะเวลาการชำระหนี้ ยอมรับเอาทรัพย์สินเป็นการชำระหนี้ หรือลดดอกเบี้ยค้างเท่านั้น) ดังนั้น ในการดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ ธ.ก.ส. ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าว ดังนั้น ธ.ก.ส. จึงไม่อาจปรับโครงสร้างหนี้โดยการลดเงินต้นต่ำกว่ามูลค่าหลักประกันตามมติคณะรัฐมนตรีได้ และเมื่อวินิจฉัยแล้วว่า ธ.ก.ส. ไม่อาจปรับโครงสร้างหนี้โดยการลดเงินต้นต่ำกว่ามูลค่าหลักประกันตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวได้

ต่อมาคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ได้มีมติเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2554 อนุมัติให้แก้ไขข้อบังคับของ ธ.ก.ส. เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรโดยเพิ่มเติมการปรับโครงสร้างหนี้กรณีที่มีการสูญเสียโดยการลดต้นเงิน พร้อมทั้งมีข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาด้วย

2. ธนาคารกรุงไทยฯ: มีประเด็นว่าการดำเนินงานของธนาคารกรุงไทยฯ อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 รวมทั้งต้องถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การปรับโครงสร้างหนี้ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย และหากธนาคารกรุงไทยฯ ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2553 แล้วก่อให้เกิดความเสียหายแก่ธนาคารกรุงไทยฯ และเป็นเหตุให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยมีสิทธิตามกฎหมายที่จะฟ้องกรรมการธนาคารกรุงไทยฯ ทั้งทางแพ่งและทางอาญาได้ จึงขอหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า กรรมการธนาคารกรุงไทยฯ จะสามารถนำมติคณะรัฐมนตรีและประโยชน์ของรัฐโดยรวมขึ้นต่อสู้เพื่อให้หลุดพ้นความผิดตามกฎหมายได้หรือไม่

ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา: หากธนาคารกรุงไทยฯ ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีแล้วเกิดความเสียหาย เป็นเหตุทำให้กรรมการธนาคารกรุงไทยฯ ถูกฟ้องร้อง คณะกรรมการธนาคารกรุงไทยฯ จะนำมติคณะรัฐมนตรีและประโยชน์ของรัฐโดยรวมขึ้นต่อสู้ได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล

ขณะนี้ธนาคารกรุงไทยฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

3. ธอส. : มีประเด็นว่ากรณีคณะกรรมการธนาคารได้อนุมัติโครงการปรับโครงสร้างหนี้ของเกษตรกร ตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยมติคณะรัฐมนตรีและ ธอส. ได้รับความเสียหาย เนื่องจากได้รับชำระหนี้ต่ำกว่ามูลค่าหลักประกัน โดยไม่พิจารณาความสามารถของลูกหนี้ การดำเนินการดังกล่าวของคณะกรรมการ ธอส. จะถือว่าเป็นการกระทำละเลยโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุให้คณะกรรมการ ธอส. จะต้องรับผิดชอบในความเสียหายตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 หรือไม่อย่างไร

ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา: ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา

สำหรับธนาคารออมสินไม่มีประเด็นข้อกฎหมายที่ขอหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาเนื่องจากธนาคารออมสินสามารถดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2553 ได้ และขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ