แผนเตรียมรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ประจำปีงบประมาณ 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 2, 2011 15:06 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบแผนเตรียมรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ประจำปีงบประมาณ 2554 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการภัยพิบัติด้านการเกษตรและเตรียมความพร้อมในการรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ดังนี้

1. โครงสร้างการบริหารจัดการภัยพิบัติด้านการเกษตรได้มีคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย มาตรการ แนวทางการดำเนินการ รวมถึงพิจารณาให้ความเห็นชอบบูรณาการแผนงาน/โครงการงบประมาณในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร พัฒนาระบบบริหารจัดการภัยพิบัติด้านการเกษตร ตลอดจนอำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรและการช่วยเหลือเกษตรกร โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการวางแผนและติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรซึ่งมีปลัดกระทรวงเกษตรและ สหกรณ์เป็นประธาน และคณะอนุกรรมการดังกล่าวได้แต่งตั้งคณะทำงาน 2 คณะ คือ คณะทำงานวางแผนเตรียมรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตรซึ่งมีรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน และคณะทำงานวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งซึ่งมีอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นประธาน รวมทั้งได้จัดตั้งศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรในส่วนกลางและระดับจังหวัด เพื่อให้การดำเนินงานป้องกันและช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยด้านการเกษตรของ กษ. เป็นระบบ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

2. กษ. ได้จัดทำแผนเตรียมรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตรประจำปีงบประมาณ 2554 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

2.1 วัตถุประสงค์ เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินการป้องกัน และลดผลกระทบจากปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรของหน่วยงานในสังกัด กษ. และเป็นกรอบให้ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรจัดทำแผนปฏิบัติการของจังหวัดในการเตรียมรับสถานการณ์ป้องกันและบรรเทาความเสียหายจากปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร และให้การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ

2.2 แนวทางการบริหารจัดการภัยพิบัติด้านการเกษตร ได้แบ่งแผนเตรียมรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่

  • ช่วงที่ 1 เดือนตุลาคม 2553 — มีนาคม 2554
  • ช่วงที่ 2 เดือนเมษายน 2554- กันยายน 2554

โดยได้วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยพร้อมทั้งกำหนดมาตรการในการป้องกันและช่วยเหลือผู้ประสบภัยเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ในแต่ละช่วง โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 3 ระยะ คือ

  • ก่อนเกิดภัย ประกอบด้วยการก่อสร้าง/ปรับปรุงแหล่งน้ำเพื่อป้องกันและบรรเทาภัย การพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการพยากรณ์และแจ้งเตือนภัย จัดทำข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัย การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย การเตรียมความพร้อมของหน่วยงาน การประชาสัมพันธ์และให้คำแนะนำทางวิชาการ
  • ขณะเกิดภัย ประกอบด้วยการติดตามและแจ้งเตือนภัย การประเมินผลกระทบและการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น การรายงานศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรระดับจังหวัด
  • หลังเกิดภัย ประกอบด้วยการให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเป็นเงินและการฟื้นฟู

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ