รายงานผลการเจรจาการบินระหว่างไทย-ออสเตรเลีย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 2, 2011 16:21 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งออสเตรเลีย เรื่อง รายงานผลการเจรจาการบินระหว่างไทย-ออสเตรเลีย ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอและให้นำเสนอรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอว่า

1. กรมโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง บริการภูมิภาค และปกครองท้องถิ่นของออสเตรเลีย ได้เสนอร่างมาตรฐานความ ตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศของออสเตรเลียฉบับใหม่ ให้ฝ่ายไทยพิจารณา กรมการบินพลเรือนพิจารณาแล้วเห็นควรเสนอให้มีการเจรจาการบินกับฝ่ายออสเตรเลีย เพื่อปรับปรุงแก้ไขความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างกัน รวมทั้งสิทธิการบินต่าง ๆ ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเป็นไปตามความต้องการของสายการบินของไทย

2. คณะผู้แทนไทยและคณะผู้แทนออสเตรเลียได้จัดทำบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding) ลงนามร่วมกันเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 โดยทั้งสองฝ่ายได้ตกลงปรับปรุงสิทธิความจุความถี่ เป็น 40 หน่วยความจุโบอิ้ง 747-400 ต่อสัปดาห์ และเพิ่มเป็น 45 หน่วยความจุโบอิ้ง 747-400 ต่อสัปดาห์ ในเดือนมีนาคม 2552 และได้ตกลงกำหนดสัมประสิทธิ์ของอากาศยานแบบ A380 เท่ากับ 1.5 หน่วยความจุโบอิ้ง 747-400 ต่อสัปดาห์ และแบบ B 787-900 เท่ากับ 0.95 หน่วยความจุโบอิ้ง 747-400 ต่อสัปดาห์ สำหรับสิทธิในเรื่องการใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกันนั้น ทั้งสองฝ่ายตกลงเพิ่มสิทธิสำหรับการใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกันกับสายการบินของประเทศที่สามเป็น 35 เที่ยวต่อสัปดาห์ และเพิ่มเป็น 40 เที่ยวต่อสัปดาห์ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2552 เป็นต้นไป นอกจากนั้น ทั้งสองฝ่ายยังได้ตกลงปรับปรุงสิทธิรับขนการจราจรพักค้างของตนเอง โดย สายการบินที่กำหนดของแต่ละฝ่ายจะสามารถใช้สิทธิรับขนการจราจรแวะพักค้างของตนเองได้ทุกคู่เมืองในอาณาเขตของอีกฝ่ายหนึ่งได้โดยไม่มีข้อจำกัด

3. ในคราวประชุมคณะกรรมการผู้แทนรัฐบาลเพื่อพิจารณาทำความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศกับรัฐบาล ต่างประเทศเป็นประจำ ครั้งที่ 3/2551 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2551 ได้มีมติรับทราบผลการเจรจาดังกล่าวแล้ว และจะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบบันทึกความเข้าใจฉบับดังกล่าว ก่อนนำเสนอรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

1. สิทธิความจุเที่ยวบินผู้โดยสาร ใช้กับเที่ยวบินบริการผู้โดยสารสำหรับสายการบินที่กำหนดของภาคีผู้ทำความตกลงแต่ละฝ่าย ดังนี้

1.1 มีผลใช้บังคับในทันที เทียบเท่ากับ 40 โบอิ้ง 747-400 ต่อสัปดาห์

1.2 มีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2552 เทียบเท่ากับ 45 โบอิ้ง 747-400 ต่อสัปดาห์ ในกรณีที่สายการบินของภาคีผู้ทำความตกลงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประสงค์ที่จะดำเนินบริการด้วยความจุที่มีผลทำให้ความจุรวมเกินสิทธิ ไปเป็นจำนวนเทียบเท่ากับ 0.3 โบอิ้ง 747 — 400 หรือ น้อยกว่า ให้เจ้าหน้าที่การเดินอากาศอนุญาตข้อแตกต่างเล็กน้อยดังกล่าวนั้น

2. สิทธิความจุเที่ยวบินเฉพาะสินค้า ภาคีผู้ทำความตกลงแต่ละฝ่ายดำเนินบริการเที่ยวบินขนส่งเฉพาะสินค้า ได้โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องความจุ / ความถี่ หรือแบบอากาศยาน ตามเส้นทางบินที่ระบุของตน ทั้งนี้ โดยให้มีผลบังคับในทันที

3. สิทธิรับขนการจราจร ภาคีผู้ทำความตกลงอีกฝ่ายหนึ่งอาจใช้สิทธิรับขนการจราจรได้อย่างเต็มที่ในแต่ละทิศทางได้ทุกจุด รวมถึงจุดระหว่างทางและจุดพ้น

4. สิทธิรับขนการจราจรพักค้างของตนเอง ภาคีผู้ทำความตกลงแต่ละฝ่ายอาจใช้สิทธิรับขนการจราจรพักค้างของตนเองระหว่างจุดต่างๆ ในอาณาเขตของภาคีผู้ทำความตกลงอีกฝ่ายหนึ่ง

5. การทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกัน/ความร่วมมือด้านการบิน ภาคีผู้ทำความตกลงแต่ละฝ่ายอาจเข้าร่วมดำเนินการในลักษณะของการทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกันระหว่างภาคีผู้ทำความตกลงทั้งสอง หรือโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกันกับภาคีผู้ทำความตกลงฝ่ายเดียวกัน หรือโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกันกับภาคีที่สาม

6. การกำหนดเงื่อนไขใช้บังคับกับการทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกันทั้งหมด

7. ความคล่องตัวในการดำเนินบริการ สายการบินที่กำหนดของภาคีผู้ทำความตกลงแต่ละฝ่ายอาจ

7.1 ดำเนินบริการทิศทางใดทิศทางหนึ่ง หรือทั้งสองทิศทาง

7.2 รวมชื่อเที่ยวบินที่แตกต่างกันไว้ภายในการทำการบินของอากาศยานลำหนึ่ง

7.3 ส่งผ่านการจราจรจากอากาศยานใดๆ ของตน ไปยังอากาศยานอื่นใดๆ ของตน ณ จุดใดๆ ตามเส้นทางบิน

8. การมีผลใช้บังคับ บันทึกความเข้าใจฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับนับจากวันนี้ (4 กรกฎาคม 2551) เป็นต้นไป และจะแทนที่บางข้อของบันทึกความเข้าใจฉบับลงนามวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2541

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ