รายงานผลการดำเนินงานของประเทศไทยตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 2, 2011 16:30 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้

1. เห็นชอบรายงานผลการดำเนินงานของประเทศไทยตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ในทุกรูปแบบ (International Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination — CERD) ฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

2. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการเสนอรายงานผลการดำเนินงานของประเทศไทยตามอนุสัญญาดังกล่าว ฉบับภาษาอังกฤษ (ฉบับสมบูรณ์) ต่อคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติขององค์การสหประชาชาติ

สาระสำคัญของเรื่อง

ยธ. รายงานว่า

1. อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (International Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination — CERD) เป็นหนึ่งในสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งรับรองโดยข้อมติสมัชชาสหประชาชาติที่ 2106 ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ สมัยที่ 20 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2508 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2512 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านและขจัดการเหยียดผิวและการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ

2. ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ โดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2546 ซึ่งทำให้อนุสัญญาดังกล่าวมีผลใช้บังคับกับประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2546

3. การเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนส่งผลให้รัฐบาลไทยต้องปฏิบัติตามพันธกรณี 4 ประการ ดังนี้

3.1 การประกันให้เกิดสิทธิต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญาฯ

3.2 การปฏิบัติให้เกิดสิทธิต่าง ๆ ตามที่รับรองไว้ในอนุสัญญาฯ ด้วยความก้าวหน้า

3.3 การเผยแพร่หลักการของสิทธิตามอนุสัญญาฯ อย่างกว้างขวาง

3.4 การจัดทำรายงานผลการปฏิบัติให้เกิดสิทธิและความก้าวหน้าของประเทศในฐานะรัฐภาคีของอนุสัญญาฯ เสนอต่อคณะกรรมการที่องค์การสหประชาชาติแต่งตั้งขึ้นตามสนธิสัญญาฯ ในกรณีนี้ คือ คณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ตรวจสอบรายงานการดำเนินการของรัฐภาคีตามที่กำหนดไว้ในข้อ 9 ของอนุสัญญาฯ

4. ยธ. โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ร่วมกับผู้แทนจากทุกภาคส่วนในทุกภูมิภาคทั่วประเทศได้จัดทำรายงาน ผลการดำเนินงานของประเทศไทยตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2549 — 2551 โดยการดำเนินการเผยแพร่ เรียนรู้ และสร้างความเข้าใจในหลักการของอนุสัญญาฯ เก็บข้อมูลในระดับพื้นที่ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศเพื่อร่วมกำหนดกรอบแนวทางการจัดทำรายงาน วางเค้าโครงรายงาน ระดับข้อมูลโดยการสะท้อนปัญหาการดำเนินงาน ให้ข้อคิด ข้อเสนอแนะในการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานของประเทศไทยตามอนุสัญญาฯ รวมทั้งได้จัดการประชุมระดับชาติเพื่อนำเสนอรายงานผลการดำเนินงานของประเทศไทยฯ ต่อสาธารณชนเพื่อรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะในภาพรวมจากประชาชนและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเพื่อให้ได้รายงานผลการดำเนินงานของประเทศไทยฯ ฉบับสมบูรณ์

5. การจัดทำรายงานผลการดำเนินงานของประเทศไทยตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ ฉบับภาษาไทย และภาษาอังกฤษ เพื่อเตรียมนำเสนอต่อคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติขององค์การสหประชาชาติได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีเนื้อหาของรายงานผลการดำเนินงานของประเทศไทย ประกอบด้วย 3 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ 1 ข้อมูลเกี่ยวกับประชากรและกลุ่มชาติพันธุ์ของประเทศ

ส่วนที่ 2 การวิเคราะห์ข้อบัญญัติและกลไกต่างๆ ที่ประเทศไทยมีอยู่เพื่อรองรับส่วนที่เป็นสาระบัญญัติ โดยเฉพาะในประเด็นที่คณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติขององค์การสหประชาชาติกำหนดไว้

ส่วนที่ 3 เอกสารหลักของรายงานประเทศไทยตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน

6. ยธ. พิจารณาแล้วเห็นว่า รายงานผลดังกล่าวเป็นการนำเสนอผลการดำเนินงานเชิงบวกของประเทศไทยต่อการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงมาตรการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภาพรวมของประเทศไทย ดังนั้น การนำเสนอรายงานผลการดเนินงานของประเทศไทยฯ ดังกล่าวต่อคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติขององค์การสหประชาชาติจะเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ทบทวนการดำเนินงาน และสถานการณ์ของประเทศไทยเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อีกทั้งเป็นการเน้นย้ำเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในฐานะรัฐภาคีที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาฯ ซึ่งจะแสดงให้เห็นภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในฐานะรัฐสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ และผู้นำอาเซียนในการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ