ขออนุมัติเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นทางการ ครั้งที่ 12

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 2, 2011 16:40 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขออนุมัติเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นทางการ ครั้งที่ 12

การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม+3 ครั้งที่ 11 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นทางการ ครั้งที่ 12 การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม+3 ครั้งที่ 11 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้องในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2555 ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาและสถานที่จัดประชุม ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ สำหรับค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมเห็นควรให้ ทส. จัดทำรายละเอียดและเสนอ ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ตามความเหมาะสมและจำเป็นต่อไป ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของ สำนักงบประมาณ

สาระสำคัญของเรื่อง

ทส. รายงานว่า

1. การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นทางการ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้รัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมของอาเซียนได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหารือในประเด็นปัญหาที่สำคัญด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ เรื่องมลพิษหมอกควันข้ามแดน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ การจัดการทรัพยากรน้ำ การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองและธรรมาภิบาล สิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง สิ่งแวดล้อมศึกษา โดยประเทศที่เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ประเทศคู่เจรจาและเลขาธิการอาเซียน ซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่ารัฐมนตรี พร้อมด้วยผู้แทนระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (ระดับเทียบเท่าปลัดกระทรวง) และผู้แทนที่เกี่ยวข้องโดยการประชุมกับประเทศคู่เจรจาจะเป็นการประชุมเพื่อหารือถึงความก้าวหน้าและสถานะความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมกับประเทศคู่เจรจา+3 คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี ประเทศคู่เจรจาในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งมีประเทศเพิ่มเติมจากอาเซียน+3 คือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย และจากการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit : EAS) ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2553 ณ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้เพิ่มประเทศคู่เจรจา คือ สหพันธรัฐรัสเซียและสหรัฐอเมริกา ดังนั้น ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งที่เป็นการจัดประชุมอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ จึงมีการจัดประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมกับประเทศคู่เจรจา+3+6 สหพันธรัฐรัสเซียและสหรัฐอเมริกาต่อเนื่องควบคู่กันไปกับการจัดประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม

2. การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นทางการฯ มีกำหนดจัดทุกสองปี สลับกับการประชุม รัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไม่เป็นทางการ โดยประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศจะเวียนเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการเรียงตามลำดับตัวอักษรของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นทางการฯ แล้ว รวม 11 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดสาธารณรัฐสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นทางการ ครั้งที่ 11 การประชุมรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อม+3 ครั้งที่ 8 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 27 — 31 ตุลาคม 2552 และประเทศสมาชิกอาเซียนลำดับถัดไปคือประเทศไทย ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นทางการ ครั้งที่ 12 การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม+3 ครั้งที่ 11 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไปในปี พ.ศ. 2555

3. การจัดประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นทางการ ครั้งที่ 12 การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม+3 ครั้งที่ 11 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ช่วงเวลาที่เหมาะสมจะสามารถจัดได้ควรจะเป็นหลังจากการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม (ASEAN Senior Officials Meeting on the Environment : ASOEN) ประมาณ 3 — 4 สัปดาห์ โดยที่ผ่านมาการประชุม ASOEN จะจัดในช่วงต้นเดือนสิงหาคมของทุกปี ดังนั้น การจัดประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน 2555 จึงน่าจะมีความเหมาะสม ทั้งนี้ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกอาเซียน และสำนักเลขาธิการอาเซียนก่อน

4. การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นทางการ ครั้งที่ 12 การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม+3 ครั้งที่ 11 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้องในปี พ.ศ. 2555 สอดคล้องกับนโยบายการต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ได้แก่

4.1 ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อสร้างความแข็งแกร่งของอาเซียน และบรรลุการจัดตั้งประชาคมอาเซียนตามกฎบัตรอาเซียน โดยให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกร่วมกันเคารพสิทธิมนุษยชนและผลักดันให้อาเซียนมีบทบาทนำที่สร้างสรรค์ในเวทีระหว่างประเทศ รวมทั้งขยายความร่วมมือกับประเทศในเอเชียอื่น ๆ ภายใต้กรอบความร่วมมือต่าง ๆ ทั้งในภูมิภาคเอเชีย และระหว่างเอเชียกับภูมิภาคอื่น

4.2 กระชับความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับประเทศที่มีบทบาทสำคัญของโลก และประเทศคู่ค้าของไทยในภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อรักษาและขยายความร่วมมือทางการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ การค้า การเงิน การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมทั้งแสวงหาตลาดใหม่เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านทรัพยากร วัตถุดิบ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และองค์ความรู้ใหม่

4.3 ส่งเสริมการมีบทบาทร่วมกับประชาคมโลกในเรื่องการกำหนดบรรทัดฐานระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการค้าสินค้าเกษตรและกฎระเบียบด้านทรัพย์สินทางปัญญา การปกป้องรักษาและฟื้นฟูสันติภาพและความมั่นคง การส่งเสริมและคุ้มครองค่านิยมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน มนุษยธรรม การอนุรักษ์และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ตลอดจนร่วมมือในการแก้ไขประเด็นปัญหาข้ามชาติทุกด้านที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งส่งเสริมให้ไทยเป็นที่ตั้งของสำนักงานสาขาขององค์การระหว่างประเทศ และมีความร่วมมือทางวิชาการกับประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้น

4.4 สนับสนุนการเข้าร่วมในข้อตกลงระหว่างประเทศทั้งทวิภาคีและพหุภาคีที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ เร่งรัดการให้สัตยาบันในข้อตกลงที่ได้ลงนามไว้แล้ว และปรับปรุงแก้ไขข้อตกลงที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อประชาชนและสังคม

5. การประชุมดังกล่าวประกอบด้วย การประชุมเตรียมการระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส และการประชุมระดับรัฐมนตรี ด้านสิ่งแวดล้อม ดังนี้

5.1 การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นทางการ (The Senior Officials Meeting for the ASEAN Ministerial Meeting on the Environment : SOM AMME)

5.2 การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นทางการ (The ASEAN Ministerial Meeting on the Environment : AMME)

5.3 การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม+3 (The ASEAN Plus Three Environment Ministers Meeting : EMM)

5.4 การประชุมเตรียมการในระดับเจ้าหน้าที่สำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีเอเชียตะวันออกด้านสิ่งแวดล้อม (The Officials Meeting to prepare for the East Asia Summit Environment Ministers Meeting : SOM EAS)

5.5 การประชุมระดับรัฐมนตรีเอเชียตะวันออกด้านสิ่งแวดล้อม (EAS)

5.6 การประชุมคณะกรรมการภายใต้ประเทศภาคีข้อตกลงอาเซียนเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (The Meeting of the Committee under the Conference of the Parties to the ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution — COM)

5.7 การประชุมประเทศภาคีข้อตกลงอาเซียนเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (The Meeting of the Conference of the Parties to the ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution — COP)

6. การเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นทางการ ครั้งที่ 12 การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม+3 ครั้งที่ 11 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง นอกจากจะเป็นวาระที่ประเทศไทยจะต้องเป็นเจ้าภาพจัดประชุมตามข้อตกลงที่มีร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียนแล้ว ยังถือเป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่าประเทศไทยส่งเสริมและสนับสนุนการก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ในปี พ.ศ. 2558 รวมทั้งเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคอาเซียนและประเทศคู่เจรจา นอกจากนี้ประเทศไทยในฐานะประธานคณะทำงานอาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างและผลักดันให้เกิดความเข้าใจร่วมกันในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคอาเซียน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ