คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมสมัชชาใหญ่องค์การตำรวจสากล ครั้งที่ 79 ระหว่างวันที่ 8 — 11 พฤศจิกายน 2553 ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) เสนอ ใน 2 ประเด็น ดังนี้
1. การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกลุ่มอาชญากรรมเกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชป่า ครั้งที่ 23 ในปี 2554
2. การพิจารณาเกี่ยวกับการให้สิทธิพิเศษที่เหมาะสมในการตรวจลงตรา (วีซ่า) ให้กับหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ขององค์การตำรวจสากล
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ตช. รายงานว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (พลตำรวจเอก วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี) ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยไปเข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่องค์การตำรวจสากล ครั้งที่ 79 (79th General Assembly Session) ระหว่างวันที่ 8 — 11 พฤศจิกายน 2553 ณ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ ซึ่งเป็นการประชุมของประเทศสมาชิกองค์การตำรวจสากลที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อวางแนวทางและกำหนดนโยบายในการดำเนินงานขององค์การตำรวจสากลในการต่อสู้กับอาชญากรรมประเภทต่าง ๆ โดยการประชุมครั้งนี้ใช้ชื่อหัวข้อเรื่องว่า “การประสานงานระหว่างตำรวจเพื่อความปลอดภัยของโลกที่ดีขึ้น” (Connection Police for a Safer World) ผลการประชุมสรุปได้ ดังนี้
1.1 ผู้แทนของ ตช. ได้นำเรื่องจากการประชุมอาชญากรรมด้านสิ่งแวดล้อมขององค์การตำรวจสากล ครั้งที่ 7 ณ สำนักเลขาธิการองค์การตำรวจสากล เมือง Lyon ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 13 — 17 กันยายน 2553 ที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทย โดย ตช. (กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง) ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกลุ่มอาชญากรรมเกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชป่า ครั้งที่ 23 ในปี 2554 แจ้งต่อที่ประชุมให้ประเทศสมาชิกได้รับทราบ โดยในเรื่องนี้ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางได้มีการจัดเตรียมการประชุมและประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไว้ส่วนหนึ่งแล้ว
1.2 องค์การตำรวจสากลเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกพิจารณาการอำนวยความสะดวกในการผ่านแดน โดยขอให้ประเทศสมาชิกพิจารณาสิทธิพิเศษที่เหมาะสมในกระบวนการตรวจลงตรา (วีซ่า) ให้กับหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ขององค์การตำรวจสากล ซึ่งองค์การตำรวจสากลได้จัดทำขึ้นสำหรับหัวหน้าตำรวจสากลของแต่ละประเทศ รวมทั้งคณะกรรมการบริหารองค์การตำรวจสากล และอาจจะออกให้กับเจ้าหน้าที่ขององค์การตำรวจสากลต่อไปในอนาคต เพื่อใช้ในการเดินทางไปปฏิบัติงานขององค์การตำรวจสากล ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน มีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน และมีผลกระทบต่อความมั่นคงในการผ่านแดนของประเทศไทยต่อไปในอนาคต
1.3 การจัดตั้ง Interpol Global Complex (IGC) ที่ประเทศสิงคโปร์ จากที่คณะกรรมการบริหารของ Interpol ได้ให้การรับรองแผนงานการจัดตั้ง IGC เมื่อเดือนมิถุนายน 2553 ทางการสิงคโปร์ได้นำเสนอแผนงานนี้เพื่อขออนุมัติการดำเนินการจากประเทศสมาชิกในการประชุมสมัชชาใหญ่องค์การตำรวจสากล ครั้งที่ 79 โดย IGC จะให้การสนับสนุน Interpol ในด้านความชำนาญทางด้านอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ และย้ายสำนักงาน Interpol บางส่วนจากเมือง Lyon ประเทศฝรั่งเศส มาอยู่ที่ IGC
ประเทศสมาชิกส่วนมากได้ให้การสนับสนุนในการดำเนินการของ IGC เป็นอย่างดี ทั้งนี้ จะได้มีการจัดการประชุมคณะทำงานย่อยเพื่อพิจารณาการดำเนินงานของ IGC ต่อไป โดยในส่วนของประเทศไทย (ตช.) ได้เสนอตัวเข้าร่วมเป็นคณะทำงานดังกล่าวด้วย
1.4 การแต่งตั้งเลขาธิการองค์การตำรวจสากล เนื่องจากนาย Ronald K.Noble เลขาธิการองค์การตำรวจสากลได้ครบวาระการดำรงตำแหน่งในปี 2553 ซึ่งเป็นการครบวาระ ครั้งที่ 2 ติดต่อกัน จึงจำเป็นต้องมีการเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งดังกล่าว ปรากฏว่ามีเพียงนาย Noble ลงสมัครเพียงผู้เดียว ประกอบกับตลอดระยะเวลา 2 สมัยของการดำรงตำแหน่งที่ผ่านมา นาย Noble ได้สร้างผลงานไว้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศสมาชิกไว้วางใจในการสนับสนุนให้นาย Noble ดำรงตำแหน่งต่อไปอีกหนึ่งสมัย
1.5 การเลือกตั้งรองประธานคณะกรรมการบริหารองค์การตำรวจสากล (Vice President of Executive Committee) สำหรับภาคพื้นยุโรปแทนตำแหน่งที่ว่างลง โดยมีผู้ลงสมัครจำนวน 3 คน เป็นผู้แทนจากประเทศฝรั่งเศส นอร์เวย์ และเบลเยี่ยม ตช. ได้พิจารณาตามคำเสนอแนะของกระทรวงการต่างประเทศที่ให้พิจารณาจากคุณสมบัติของผู้สมัครและประโยชน์ที่ทางองค์การตำรวจสากลจะได้รับเป็นหลัก เนื่องจากประเทศทั้ง 3 มีความสัมพันธ์กับประเทศไทยอยู่ในระดับที่ดี ทั้งสิ้น โดย ตช. ได้ออกเสียงให้กับผู้แทนจากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งผลการเลือกตั้งปรากฏว่า ผู้แทนจากประเทศฝรั่งเศส (นาง Mirelle Ballestrazzi) ได้รับการคัดเลือกในตำแหน่งดังกล่าว
2. ตช. พิจารณาแล้วเห็นว่า การประชุมสมัชชาใหญ่องค์การตำรวจสากล ครั้งที่ 79 มีประเด็นและสาระสำคัญต่าง ๆ เกี่ยวข้องกับ ตช. โดยตรง รวมทั้งมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ประกอบการพิจารณาเพื่อเตรียมการการปฏิบัติของหน่วยงานหรือส่วนราชการต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการระหว่างประเทศทั้งในระดับนโยบายและปฏิบัติการ จึงเห็นสมควรให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
2.1 เป็นเจ้าของเรื่องพิจารณาเกี่ยวกับการยกเว้นการตรวจลงตรา (วีซ่า) ให้กับหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ขององค์การตำรวจสากล ตามข้อ 1.2 แม้ว่าในทางการปฏิบัติอาจเกี่ยวข้องโดยตรงกับสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง แต่ทางนโยบายและการพิจารณาที่เกี่ยวข้องจะมีความเกี่ยวพันกับหลายหน่วยงาน/ส่วนราชการ ทั้งหน่วยทางด้านนโยบายความมั่นคง (เช่น สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ) หน่วยดูแลด้านกฎหมาย (เช่น กระทรวงมหาดไทย ตช.)
2.2 เป็นเจ้าของเรื่องเกี่ยวกับการนำผลการเลือกตั้งรองประธานคณะกรรมการบริหารองค์การตำรวจสากล ตามข้อ 1.5 ไปขยายผลเพื่อให้เกิดประโยชน์ในมิติทางด้านต่างประเทศต่อไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554--จบ--