รายงานผลการดำเนินงานในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพประจำไตรมาส 4 ปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 9, 2011 14:47 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการดำเนินงานในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพประจำไตรมาส 4 ปี 2552 และรายงานประจำปี 2552 พร้อมงบการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2552 ของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) ที่ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แล้ว ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรายงานว่า บสท. ได้เสนอผลการดำเนินงานในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพประจำไตรมาส 4 ปี 2552 ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2552 และงบการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2552 ดังนี้

1. การบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ

บสท. บริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจนได้ข้อยุติทั้งสิ้น 15,204 ราย มีมูลค่าทางบัญชีรวม 775,025 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น

1.1 สินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่บริหารจัดการจนได้ข้อยุติโดยการปรับโครงสร้างหนี้หรือฟื้นฟูกิจการในศาลล้มละลายกลาง จำนวน 6,857 ราย มีมูลค่าทางบัญชี 399,553 ล้านบาท

1.2 สินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ได้ข้อยุติโดยการบังคับหลักประกันหรือพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จำนวน 8,346 ราย มีมูลค่าทางบัญชี 375,051 ล้านบาท

1.3 สินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ตัดจำหน่ายเป็นหนี้สูญมีจำนวน 1 ราย มูลค่าทางบัญชี 421 ล้านบาท

2. การบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย (Non-Performing Asset : NPA)

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552 บสท. ได้รับโอนทรัพย์สินรอการขายด้วยมูลค่าตีโอนชำระหนี้และรับโอนตามมาตรา 76 รวมทั้งสิ้น 132,047 ล้านบาท แบ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์มูลค่า 109,832 ล้านบาท และสังหาริมทรัพย์มูลค่า 22,215 ล้านบาท

3. ความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนงานเตรียมการเพื่อเลิกดำเนินกิจการโดยยุบเลิก บสท. เมื่อสิ้นปีที่สิบ

3.1 ประมาณการตัวเลขประมาณการสินทรัพย์ หนี้สิน กำไร (ขาดทุน) ของ บสท. ณ สิ้นปีที่สิบ

การบริหารจัดการสินทรัพย์                        ประมาณการ ปี 2552     ผลการดำเนินงาน        ประมาณการสินทรัพย์
                                                                  ม.ค.-ธ.ค.52             หนี้สินคงเหลือ
                                                                                         ณ 30 มิ.ย.54
การชำระเงินตามแผนปรับโครงสร้างหนี้                        11,640            16,309                 29,200
การจำหน่ายทรัพย์สินรอการขาย (NPA)                         6,000            11,190                114,112
การไถ่ถอนตั๋วสัญญาใช้เงิน                                  15,100            21,690                 57,683

3.2 ความคืบหน้าในการเจรจาโอนขายสินทรัพย์คงเหลือของ บสท.

3.2.1 ความเห็นของสถาบันผู้โอนเกี่ยวกับการจัดการสินทรัพย์คงเหลือของ บสท. จากสถาบันผู้โอนเดิมทั้ง 23 สถาบัน ได้ข้อยุติว่า สถาบันการเงินทั้งภาครัฐและภาคเอกชนส่วนใหญ่ให้ความเห็นชอบการโอนขายสินทรัพย์คงเหลือของ บสท.

3.2.2 แนวทางการบริหารจัดการสินทรัพย์คงเหลือของ บสท. เพื่อการยุบเลิก บสท. และกรอบระยะเวลาการดำเนินการ

1) การดำเนินการเพื่อเตรียมขายสินทรัพย์คงเหลือประเภทสิทธิเรียกร้อง

2) การบริหารจัดการลูกหนี้ที่ไม่ให้ความร่วมมือในการปรับโครงสร้างหนี้

3) การบริหารจัดการและการจัดจำหน่ายทรัพย์สินรอการขาย

3.2.3 การเตรียมการด้านเอกสาร

3.2.4 การเตรียมการด้านบุคลากร อาคารสถานที่ เครื่องใช้สำนักงาน และสัญญาว่าจ้างบริการเก็บรักษาเอกสาร

3.2.5 การดำเนินการเกี่ยวกับปัญหาด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแผนงานเพื่อเตรียมการยุบเลิก บสท.

4. การดำเนินงานด้านอื่น ๆ ของ บสท.

4.1 ความคืบหน้าโครงการสมาชิกนักขาย : ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552 มีผู้ที่สนใจทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ทั้งสิ้น 1,357 ราย ผู้ร่วมโครงการสามารถขายสินทรัพย์รอการขายและทำสัญญาซื้อขายทรัพย์สินแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 2,367 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ปี 2552 จำนวน 394 ล้านบาท

4.2 บสท. จัดกิจกรรมขาย NPA สานต่อความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐ : บสท. ประสานความร่วมมือกับบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท ในการนำที่ดินกว่า 26 ไร่ มูลค่า 260 ล้านบาท จำหน่ายให้กับเทศบาลนครนนทบุรี เพื่อนำไปใช้เป็นสถานที่จอดพาหนะที่ใช้ในการให้บริการชุมชนและสังคม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการนำทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้กลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม

4.3 บสท. จัดงานมหกรรม ลงทุนอย่างฉลาด สร้างโอกาสสู่ความมั่นคงกับทรัพย์สิน บสท : เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์ทรัพย์สินของ บสท. อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของ บสท. ให้เป็นที่รู้จักต่อกลุ่มเป้าหมายและสาธารณชนได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

4.4 บสท. จัดกิจกรรม Road Show สำหรับนักลงทุนทั่วไปตามภูมิภาคต่าง ๆ : โดยการจำหน่ายทรัพย์สินทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการขยายขอบเขตการรับรู้ในการขายทรัพย์สินรอการขายของ บสท. และเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่มลูกค้ารายใหญ่

4.5 การพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์สารสนเทศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น : ได้มีการพัฒนาระบบงานรับชำระหนี้ตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ (RB II) เพื่อให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับแนวทางการทำงานและเอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินงานของ บสท. โดยกำหนดเป็นแผนการพัฒนาปรับปรุงระบบงานต่างๆ เพื่อให้เชื่อมโยงและสอดคล้องสัมพันธ์กันตามแผนการดำเนินงานด้าน IT

5. อุปสรรคในการดำเนินงานของ บสท.

5.1 ปัจจัยความขัดแย้งทางการเมืองและความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง เป็นวิกฤตการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และภาพลักษณ์ของประเทศไทยอย่างรุนแรง

5.2 การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิด A (H1N1) 2009 ทำให้การท่องเที่ยวที่ยังอยู่ในภาวะหดตัวจากผลกระทบของเศรษฐกิจที่ถดถอย

5.3 ธนาคารพาณิชย์มีความเข้มงวดและระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อให้ภาคธุรกิจมากขึ้น ส่งผลให้ลูกหนี้ได้รับการอนุมัติเงินทุนหมุนเวียนสำหรับดำเนินกิจการยากขึ้น

5.4 ข้อจำกัดของกระบวนการทางกฎหมายต่างๆ

6. ผลสำเร็จที่คาดว่าจะได้รับของ บสท.

6.1 กลยุทธ์ด้านการส่งเสริมการตลาดในการจำหน่ายทรัพย์สินรอการขาย

บสท. จะดำเนินกลยุทธ์ด้านการส่งเสริมการตลาดเชิงรุกที่สำคัญในปี 2553 อย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายการรับรู้เกี่ยวกับกิจกรรมการขายทรัพย์สินและจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย อาทิ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในงานมหกรรม “ลงทุนอย่างฉลาด สร้างโอกาสสู่ความมั่นคงกับทรัพย์สิน บสท.” การจัดงานมหกรรมใหญ่ในไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์ทรัพย์สินของ บสท. เป็นต้น

6.2 การจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อเตรียมการยุบเลิก บสท.

ในปี 2552 บสท. ดำเนินงานตามแผนงานเพื่อการยุบเลิก โดยเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2552 กระทรวงการคลังประกาศให้ บสท. เป็นสถาบันการเงินตามมาตรา 3 (3) แห่งพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2554 ในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้การเตรียมการยุบเลิก บสท. เป็นไปตามมาตรฐานที่ยอมรับโดยทั่วไป บสท. จึงประกาศให้มีการสอบราคาจัดจ้างที่ปรึกษาในการจัดกองสินทรัพย์คงเหลือประเภทสิทธิเรียกร้อง เพื่อประมูลขายที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านการเงิน เพื่อให้การดำเนินการของ บสท. มีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับของสังคม ทั้งนี้ บสท. กำหนดให้ที่ปรึกษาเริ่มดำเนินงานตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2553 เป็นต้นไป

7. สตง. เห็นว่า งบการเงินของ บสท. แสดงฐานะการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552 และ 2551 ผลการดำเนินงาน (เฉพาะทุนประเดิม) การเปลี่ยนแปลงสำหรับรายรับหรือรายจ่ายสุทธิรอปันส่วนไปยังทรัพย์สินรับโอน และกระแสเงินสดสำหรับปีสิ้นสุดวันเดียวกันของแต่ละปีของ บสท. โดยถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญตามเกณฑ์การจัดทำงบการเงินที่กำหนด

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ