คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ..... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
ข้อเท็จจริง
สคก. รายงานว่าได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ..... เสร็จแล้ว โดยได้แก้ไขคำนิยามคำว่า “คนไทยพลัดถิ่น” ซึ่งตามร่างเดิมกำหนดเป็นเงื่อนไขว่าต้องอพยพเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นเวลานานนั้น ยังไม่ชัดเจนแน่นอนว่าต้องใช้ระยะเวลาเท่าใด ประกอบกับผู้แทน สมช.ได้ชี้แจงว่า การพิจารณาหลักเกณฑ์ของผู้มีเชื้อสายไทยจะไม่ใช้หลักเกณฑ์เรื่องระยะเวลาเป็นหลัก แต่พิจารณาจากการเป็นผู้มีเชื้อสายไทย สคก. จึงแก้ไขเงื่อนไขดังกล่าว เป็นว่าต้องอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลาหนึ่งและมีวิถีชีวิตเป็นคนไทย ซึ่งจะมีหลักเกณฑ์กำหนดรายละเอียดโดยคณะรัฐมนตรีหรือกฏกระทรวง แล้วแต่กรณีต่อไป ซึ่งจะสามารถใช้กับบุคคลที่มีเชื้อสายไทยกลุ่มต่างๆ ที่อยู่ในเงื่อนไขเดียวกันด้วย จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติตามข้อ 1 มาเพื่อดำเนินการต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้น (ร่างมาตรา 2) และกำหนดให้ดำเนินการออกกฎกระทรวงตามมาตรา 9/5 และมาตรา 9/7 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขพระราชบัญญัติฉบับนี้ ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับพร้อมกับพระราชบัญญัติฯ อันจะทำให้การรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นสามารถสามารถดำเนินการได้โดยเร็ว (ร่างมาตรา 6)
2. กำหนดบทนิยามคำว่า “คนไทยพลัดถิ่น” เพื่อแสดงลักษณะของผู้ซึ่งจะได้รับการรับรองเป็นคนไทยพลัดถิ่น (ร่างมาตรา 3) ได้แก่
(1) ผู้ซึ่งมีเชื้อสายไทยที่ต้องกลายเป็นคนในบังคับของประเทศอื่น โดยเหตุอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยในอดีต ซึ่งปัจจุบันผู้นั้นมิได้ถือสัญชาติของประเทศอื่น และได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นระยะเวลาหนึ่ง และมีวิถีชีวิตเป็นคนไทย โดยได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎร ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกำหนด หรือ
(2) ผู้ซึ่งมีลักษณะอื่นทำนองเดียวกันตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งเป็นการกำหนดเพื่อให้สามารถพิสูจน์บุคคลเชื้อสายไทยในกรณีอื่นที่ยังไม่ได้สำรวจจัดทำทะเบียนตาม (1) แต่ในการกำหนดลักษณะของคนไทยพลัดถิ่นโดยกฎกระทรวงดังกล่าวจะต้องเป็นไปในทำนองเดียวกับเงื่อนไขการเป็นคนไทยพลัดถิ่นที่บัญญัติในคำนิยามนี้ ซึ่งเป็นไปตามหลักการตีความกฎหมายที่เป็นสากลซึ่งในภาษาลาติน คือ หลัก ejusdem generis (หมายถึง การตีความกฎหมายจะต้องสอดคล้องและรับกันกับความหมายหรือจุดประสงค์ หรือเจตนารมณ์ของถ้อยคำในตัวบทกฎหมายที่อยู่ในมาตราเดียวกัน หมวดหมู่เดียวกัน เรื่องเดียวกัน หรืออยู่ในกฎหมายฉบับเดียวกัน)
(3) กำหนดให้มีคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ประกอบด้วย กรรมการ ซึ่งเป็นผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 7 คน มีอำนาจหน้าที่พิจารณาและให้การรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ตลอดจนเสนอแนะและให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวงหรือการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับคนไทยพลัดถิ่น (ร่างมาตรา 4 ให้เพิ่มมาตรา 9/1 - มาตรา 9/3)
(4) กำหนดให้นำบทบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการที่มีอำนาจดำเนินการพิจารณาปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ การพ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และการประชุมของคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นโดยอนุโลม (ร่างมาตรา 4 ให้เพิ่มมาตรา 9/4)
(5) กำหนดให้ผู้ซึ่งคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ได้รับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นได้รับสัญชาติไทยโดยการเกิด และกำหนดให้บุตรของคนไทยพลัดถิ่นดังกล่าวที่ไม่ได้ถือสัญชาติของประเทศอื่นหรือได้สัญชาติไทยแล้ว ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดด้วย ซึ่งเป็นไปตามหลักสืบสายโลหิตและหลักที่ห้ามถือสองสัญชาติ (ร่างมาตรา 4 ให้เพิ่มมาตรา 9/6 - มาตรา 9/7)
(6) กำหนดให้ถือว่าคนไทยพลัดถิ่นที่ได้แปลงสัญชาติเป็นไทย หรือได้สัญชาติไทยแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นคนไทยพลัดถิ่นที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ และให้มีสถานะเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดด้วย (ร่างมาตรา 5)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554--จบ--