มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการใช้ทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 16, 2011 13:55 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการใช้ทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน และอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

ข้อเท็จจริง

กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอว่า

1. พระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 ได้เปิดโอกาสให้มีการนำทรัสต์มาใช้กับธุรกรรมในตลาดทุน โดยการดำเนินการของทรัสต์จะมีลักษณะทั้งที่เป็น Passive Trust และ Active Trust และขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อยู่ระหว่างจัดเตรียมกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อรองรับการนำทรัสต์ไปใช้กับธุรกรรมที่เกิดขึ้นในตลาดทุน ในการนี้ ก.ล.ต. ขอให้กรมสรรพากรดำเนินการเกี่ยวกับภาษีสำหรับทรัสต์ เพื่อรองรับให้การดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

2. แผนพัฒนาตลาดทุนไทยในส่วนของการปรับปรุงกฎหมายเพื่อสนับสนุนการลงทุนผ่านตัวกลาง ได้กำหนดให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้ระบบการจัดเก็บภาษีมีความเป็นกลางไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโดยตรงหรือลงทุนผ่านตัวกลาง เช่น กองทุนรวมหรือทรัสต์ หรือให้ภาระภาษีมีความเท่าเทียมกันระหว่างผู้ลงทุนไทยหรือผู้ลงทุนต่างชาติ โดยกำหนดให้แก้ไขปรับปรุงกฎหมายในส่วนของการใช้ทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน ดังนี้

2.1 ให้บุคคลธรรมดาที่ลงทุนผ่านทรัสต์เพื่อลงทุนในหุ้นได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับส่วนแบ่งกำไร ที่จ่ายจากเงินปันผลและกำไรจากส่วนต่างของราคาหุ้น

2.2 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนผ่านทรัสต์ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้เฉพาะส่วนแบ่งกำไรที่จ่ายจากเงินปันผล สำหรับส่วนแบ่งกำไรที่จ่ายจากผลประโยชน์อื่น ๆ ให้เสียภาษีตามปกติ

3. กค. พิจารณาแล้ว เห็นสมควรให้มีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อรองรับพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุนฯ ซึ่งจะเป็นการป้องกันการเกิดภาระภาษีซ้ำซ้อนในการดำเนินธุรกรรมและช่วยสนับสนุนการใช้ทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา

1. ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่ผู้ก่อตั้งทรัสต์และทรัสต์ สำหรับเงินได้ รายรับ และการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการโอนหรือก่อทรัพยสิทธิหรือสิทธิใดๆ ในทรัพย์สินระหว่างผู้ก่อตั้งทรัสต์และ ทรัสตีหรือระหว่างทรัสตีกับทรัสตีตามสัญญาก่อตั้งทรัสต์ (ร่างมาตรา 4)

2. ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ทรัสตี สำหรับเงินได้จากกองทรัสต์ แต่ไม่รวมถึงค่าธรรมเนียมหรือผลประโยชน์อื่นใดที่ ทรัสตีได้รับจากการให้บริการเป็นทรัสตีตามสัญญาก่อตั้งทรัสต์ (ร่างมาตรา 5)

3. ยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินชดเชยเงินปันผลหรือเงินปันผลที่ได้จากบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย ให้แก่ผู้ก่อตั้ง ทรัสต์ ซึ่งเป็น

3.1 บริษัทที่ได้ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ที่ได้รับโอนกลับคืนมา ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งหุ้นที่ได้มีการโอนไปยังทรัสตี เป็นจำนวนกึ่งหนึ่งของเงินชดเชยเงินปันผลหรือเงินปันผล

3.2 บริษัท ตาม 3.1 ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนหรือเป็นบริษัทที่ถือหุ้นในบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง โดยบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทนั้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม เป็นจำนวนเท่ากับเงินชดเชยเงินปันผลหรือเงินปันผล

ทั้งนี้ บริษัทตาม 3.1 และ 3.2 ต้องถือหุ้นที่ก่อให้เกิดเงินชดเชยเงินปันผลหรือเงินปันผลไว้ไม่น้อยกว่าสามเดือนนับแต่วันที่ได้หุ้นนั้นมาจนถึงวันที่มีเงินได้ดังกล่าวและยังคงถือหุ้นนั้นต่อไปอีกไม่น้อยกว่าสามเดือนนับแต่วันที่มีเงินได้ โดยให้นับระยะเวลาที่ได้โอนหุ้นไปยังกองทรัสต์รวมด้วย (ร่างมาตรา 6)

4. ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ผู้รับประโยชน์ สำหรับเงินชดเชยเงินปันผล ซึ่งได้รับตามสัญญาก่อตั้งทรัสต์ โดยผู้รับประโยชน์ต้องยอมให้ทรัสตีหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 10 ของเงินชดเชยเงินปันผลที่ได้รับ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ผู้รับประโยชน์ไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืน หรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน (ร่างมาตรา 7)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ