ความคืบหน้าการวางแผนรองรับความเสี่ยงเนื่องจากการดำเนินนโยบายในการซื้อหรือแทรกแซงราคายาง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 16, 2011 14:02 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ความคืบหน้าในการวางแผนรองรับความเสี่ยงอันเนื่องมาจากการดำเนินนโยบายในการรับซื้อหรือแทรกแซงราคายาง

และแผนการจัดหาแหล่งทุน

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่คณะกรรมการประสานงานและขับเคลื่อนการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี (ปคค.) รายงานความคืบหน้าในการวางแผนรองรับความเสี่ยงอันเนื่องมาจากการดำเนินนโยบายในการรับซื้อหรือแทรกแซงราคายางและแผนการจัดหาแหล่งทุน ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

ปคค. ได้ติดตามความคืบหน้าในการวางแผนรองรับความเสี่ยงอันเนื่องมาจากการดำเนินนโยบายในการรับซื้อหรือแทรกแซงราคายางและแผนการจัดหาแหล่งทุนซึ่งเป็นการดำเนินการตามความเห็นของกระทรวงการคลัง (กค.) ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติในข้อ 2.1 จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ในคราวประชุม ปคค. ครั้งที่ 1/2554 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2554 ซึ่ง กษ. โดยองค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) ได้รายงาน ดังนี้

1. ความก้าวหน้าในการดำเนินการโครงการพัฒนาตลาดและแปรรูปยางเพื่อเพิ่มมูลค่าตามนโยบายรัฐบาล อ.ส.ย. ได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโรงงานยางแท่ง STR 20 พร้อมเครื่องจักรอุปกรณ์ จำนวน 3 แห่ง ที่จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดนครพนม และศูนย์รับซื้อผลผลิตยางพารา จำนวน 6 ศูนย์ ที่จังหวัดพะเยา จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดเลย และจังหวัดนครพนม โดยสามารถทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างได้ภายในวันที่ 30 กันยายน 2553 และคาดว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างเสร็จและทดลองเดินเครื่องได้ ภายในเดือนกันยายน 2554 และจะดำเนินการผลิตตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 เป็นต้นไป

2. การวางแผนรองรับความเสี่ยงในการดำเนินนโยบายในการซื้อหรือแทรกแซงราคา อ.ส.ย. ได้วางแผนรองรับความเสี่ยงไว้ 2 กรณี คือ (1) ในกรณีแทรกแซงราคาตามนโยบายรัฐบาล ราคาซื้อขายจะเป็นไปตามที่รัฐบาลกำหนด (2) ในกรณีที่ อ.ส.ย. ซื้อเพื่อดำเนินการตามภารกิจปกติ อ.ส.ย. กำหนดราคาซื้อตามภาวะราคายางและกลไกตลาด โดยซื้อผ่านระบบเครือข่ายเกษตรกร สถาบันเกษตรกรด้านยางพาราครบวงจรที่ อ.ส.ย. ได้จัดตั้งไว้แล้วทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางบางส่วน และรับซื้อที่ศูนย์รับซื้อผลผลิตยางพาราทั้ง 6 ศูนย์ข้างต้น นอกจากนี้ อ.ส.ย. ได้กำหนดเป้าหมายการจัดหาวัตถุดิบและการผลิตยางแท่ง STR 20 โดยเฉพาะปีงบประมาณ 2554 จะดำเนินการรับซื้อผลผลิตยางตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2554 ถึงเดือนกันยายน 2554 เพื่อเป็นการเตรียมวัตถุดิบไว้สำหรับเริ่มทำการผลิตตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 เป็นต้นไป โดยปีต่อ ๆ ไปมีเป้าหมายการจัดหาวัตถุดิบในแต่ละโรงงาน จำนวน 23,400 ตัน ซึ่งจะสามารถผลิตยางแท่ง STR 20 ได้จำนวน 22,000 ตัน

3. แผนการจัดหาแหล่งเงินทุน เพื่อใช้เป็นเงินหมุนเวียนในการดำเนินงานโรงงานยางแท่ง STR 20 ปีละ 20,000 ตัน มีประมาณการค่าใช้จ่ายปีละ 2,600 ล้านบาท โดยมีแผนการจัดหาแหล่งเงินทุนจาก (1) เงินทุนหมุนเวียนของ อ.ส.ย. ประมาณ 150 ล้านบาท (2) เงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรหรือธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่ง อ.ส.ย. จะขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีประมาณเดือนกรกฎาคม 2554

4. แผนการดำเนินงานด้านการตลาด ผลผลิตยางแท่ง STR 20 จากโรงงานทั้ง 3 สาขา จำนวน 60,000 ตันต่อปี อ.ส.ย. กำหนดเป้าหมายการขายในประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และอินเดีย ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 โดยใช้ทั้งระบบขายตรงและผ่านตัวแทน (Broker) ส่วนที่เหลือขายภายในประเทศ โดยพิจารณาจากผลประโยชน์ตอบแทนเป็นหลัก

ทั้งนี้ โครงการนี้ อ.ส.ย. จะสามารถรับซื้อผลผลิตยางพาราได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของผลผลิตรวมทั้งประเทศ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ