รายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 16, 2011 14:17 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง รายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง การดำเนินการตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ในโอกาสที่พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะบุคคลเข้าเฝ้าฯ (กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี)

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) รายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง การดำเนินการตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสที่พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะบุคคลเข้าเฝ้าฯ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2553 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช

สาระสำคัญของเรื่อง

วท. ได้รายงานผลความคืบหน้าในการดำเนินการฯ ของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (สสนก.) สรุปได้ดังนี้

1. การจัดการน้ำชุมชน ได้ดำเนินโครงการ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการสร้างแม่ข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในพื้นที่ 15 ชุมชน และจะขยายเป็น 20 หมู่บ้าน ในปีงบประมาณ 2554 และโครงการจัดการน้ำชุมชนเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ในพื้นที่นอกเขตชลประทานโดยชุมชนอย่างยั่งยืน 84 แห่ง เพื่อให้ชุมชนมีน้ำต้นทุนสำหรับอุปโภค บริโภค และทำการเกษตร สามารถบริหารจัดการน้ำชุมชน เพิ่มผลผลิตและเพิ่มรายได้ รวมทั้งลดปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งในพื้นที่ รวมไปถึงการพัฒนาระบบขยายผลการพัฒนาแบบตัวคูณที่ชาวบ้านเรียนรู้จากชาวบ้าน ซึ่งเป็นไปตามแนวพระราชดำริ ทั้งนี้ มีตัวอย่างการดำเนินงานที่สนองแนวพระราชดำริในเรื่องนี้ คือ ชุมชนบ้านเปร็ดใน อ.เมือง จ.ตราด ได้นำความรู้เรื่องการทำฝายชะลอน้ำจากการสัมมนาเครือข่ายการบริหารจัดการน้ำชุมชนมาประยุกต์ใช้ เพื่อทดลองกักเก็บน้ำจืดไว้ในพื้นที่ให้นานที่สุด และเป็นแนวกันน้ำเค็มรุกล้ำพื้นที่เกษตรและแหล่งน้ำจืดของชาวสวน และเริ่มดำเนินการกักเก็บในช่วงสุดท้ายของฤดูฝน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ชุมชนสามารถกักเก็บน้ำจืดในพื้นที่ได้นานขึ้น เพียงพอสำหรับการใช้น้ำเพื่อการเกษตรในฤดูแล้ง

2. การศึกษาวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ประสานกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อขยายขอบเขตการวิจัยและจัดทำฐานข้อมูลให้ครอบคลุมเรื่องแสงโดยได้รับทุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติให้ดำเนินการศึกษาการผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม ภายใต้โครงการประเมินสมดุลรังสีดวงอาทิตย์อันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม ภายใต้โครงการประเมินสมดุลรังสีดวงอาทิตย์อันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพสิ่งปกคลุมดินในจังหวัดเพชรบุรีและพื้นที่ที่สัมพันธ์กัน นอกจากนี้งานวิจัยบางส่วนก็ได้รับทุนและความร่วมมือจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และมีความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ในปี 2554 จำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ โครงการจัดทำฐานข้อมูลลมของประเทศไทย งานวิจัยด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรน้ำ และงานศึกษาและวิเคราะห์ความเสี่ยงน้ำท่วมน้ำแล้งเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการเกษตรในพื้นที่ศึกษาลุ่มแม่น้ำโขง

3. การบริหารจัดการน้ำ การปิด เปิด ระบายหรือรับน้ำ ได้มีการดำเนินการ ดังนี้

3.1 โครงการแก้มลิงอเนกประสงค์ คลองสนามชัย - มหาชัย กรุงเทพมหานคร - สมุทรสาคร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชานุมัติให้ สสนก. ดำเนินงานภายใต้การกำกับดูแลและสนับสนุนงบประมาณของมูลนิธิชัยพัฒนามีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารบานระบายน้ำ และผันน้ำเข้าแก้มลิงตามจังหวัดขึ้นลงของน้ำทะเลช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วม น้ำเค็มรุก น้ำเสีย และการตื้นเขินของลำคลอง โดยปัจจุบันมีความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการร้อยละ 90 นอกจากนี้ยังมีการดำเนินงานจัดทำแปลงเพาะพันธุ์กล้าไม้ป่าชายเลนเพื่อใช้ในการดำเนินงานฟื้นฟู คลองหลวง และคลองสหกรณ์สาย 3 การปรับปรุงประตูระบายน้ำที่มีอยู่เดิม และก่อสร้างประตูระบายน้ำขนาดเล็กเพิ่มเติม รวมถึงติดตั้งระบบโทรมาตรเพื่อติดตามระดับน้ำในแก้มลิงเอกชน ซึ่งทำให้สามารถบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ได้ มากกว่า 500,000 ลบ.ม.

3.2 โครงการศึกษาและจัดทำระบบบริหารจัดการน้ำจังหวัดนครนายก สสนก. ได้ดำเนินงานร่วมกับกรมชลประทาน กษ. เพื่อศึกษาข้อมูลด้านน้ำสำหรับติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องและทันต่อเหตุการณ์ นอกจากนี้ยังมีแผนการดำเนินงานในระยะที่ 2 เพื่อต่อยอดการศึกษาผลักดันให้เกิดภาพบริหารจัดการในพื้นที่ระดับชุมชนและดำเนินการศึกษาระบบผังน้ำเพื่อเชื่อมต่อกับลุ่มน้ำบางประกงต่อไป

3.3 การดำเนินงานเกี่ยวกับแหล่งน้ำใต้ดิน สสนก. ดำเนินการร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กรมทรัพยากรน้ำบาดาล มหาวิทยาลัยขอนแก่น และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภายใต้โครงการประยุกต์ใช้ไอโซโทปและเคมีเทคนิคเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาล พื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนบน ส่วนที่ 1 และ 2 จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้ไอโซโทปในการศึกษาการไหลของน้ำใต้ดินหรือน้ำในดิน รวมทั้งประเมินปริมาณและคุณภาพของแหล่งน้ำผิวดินและแหล่งน้ำบาดาลโดยการประยุกต์ใช้แบบจำลองน้ำผิวดินและแบบจำลองน้ำบาดาล เพื่อใช้อธิบายวงจรน้ำใต้ดินต้นน้ำชีและประยุกต์ใช้ไอโซโทปศึกษาแหล่งที่มาและการกระจายตัวของน้ำฝน และกระบวนการเติมน้ำใต้ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำยม — น่าน และจะเริ่มดำเนินการระยะที่ 2 เพื่อขยายผลการใช้เทคโนโลยี Isotope Hydrology ในการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำใต้ดินและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเชิงวิเคราะห์ สำหรับวัดผลด้านไอโซโทปและด้านเคมีที่เกี่ยวข้อง

3.4 การบริหารจัดการพื้นที่มีการกัดเซาะชายฝั่ง สสนก. ได้ดำเนินการติดตามระดับน้ำทะเลบริเวณอ่าวไทยและได้ดำเนินการเพิ่มเติมในการติดตามอุณหภูมิพื้นผิวทะเล รวมทั้งการจัดทำแบบจำลองลม โดยนำผลดังกล่าวมาวิเคราะห์ประกอบกับภาพถ่ายจากดาวเทียม การกัดเซาะชายฝั่งของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เพื่อนำไปสู่มาตรการเพิ่มแนวป้องกันการปะทะและกัดเซาะชายฝั่งทะเล (Soft Break)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ