คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการนำคณะเอกอัครราชทูตเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงการต่างประเทศ รายงานว่า
เมื่อวันที่ 16 — 17 ตุลาคม 2553 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้นำคณะเอกอัครราชทูตกลุ่มประเทศผู้ให้ความร่วมมือ (donor countries) และเอกอัครราชทูตที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งประจำประเทศไทย รวม 9 ประเทศ ได้แก่ บาห์เรน เยอรมนี แคนาดา อิตาลี นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ ออสเตรเลีย อียิปต์ และญี่ปุ่น เดินทางไปเยือน จชต. เพื่อรับทราบสถานการณ์ในพื้นที่ และพบปะแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับหน่วยงานของภาครัฐและภาคประชาสังคม เกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือกับต่างประเทศในด้านการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสังคมและการศึกษา ใน จชต. สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. กำหนดการสำคัญ
1.1 พบปะผู้อำนวยการ ศอ.บต. (นายภาณุ อุทัยรัตน์) และแม่ทัพภาคที่ 4 (พลโท อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์) เพื่อรับทราบสถานการณ์ทั่วไปและการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ได้พบปะคณะกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส และได้หารือเรื่องสถานะความเป็นอยู่ของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และแนวทางการสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาสำหรับ จชต.
1.2 เยี่ยมชมโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 10 อ.เมือง จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ดำเนินโครงการนำร่องการเรียนการสอนทวิภาษา (ไทย — มลายู) ของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งได้พบปะกับสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้
1.3 เยี่ยมชมโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ และรับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์ด้านการแพทย์ใน จชต. และได้รับทราบว่า ยังมีความขาดแคลนแพทย์ โดยเฉพาะสูตินรีแพทย์ และทันตแพทย์ ซึ่งทำให้ประชาชนไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างเต็มที่
1.4 พบปะผู้แทนองค์กรอิสระที่ทำงานด้านการเยียวยาเด็กและสตรีที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ ได้แก่ กลุ่มลูกเหรียง กลุ่ม We-Peace และกลุ่มสตรีตำบลลำใหม่ โดยคณะเอกอัครราชทูตฯ ยินดีที่จะพิจารณาให้การสนับสนุนการดำเนินงานด้านสังคมและการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ
1.5 พบปะราษฎร บ้านโคกโก อ.เมือง จ.นราธิวาส และเยี่ยมชมโครงการแพทย์สัญจรของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ณ หมู่บ้านดังกล่าว และพบปะราษฎรบ้านปาเระ อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นชุมชนตัวอย่างด้านการบริหารจัดการชุมชนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
1.6 เยี่ยมชมศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ. เมือง จ.นราธิวาส ซึ่งคณะเอกอัครราชทูตฯ แสดงความชื่นชมโครงการต่างๆ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการวิจัยแก้ปัญหาดินเปรี้ยวเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร
2. ผลการเยือนฯ
2.1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ระดับสูงในพื้นที่ได้สรุปสาระสำคัญของนโยบายและการดำเนินงานของรัฐบาลในการแก้ไขสถานการณ์ จชต. ซึ่งเน้นการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีและเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ โดยหน่วยงานในพื้นที่และชุมชนต่าง ๆ แจ้งข้อเสนอแนะนำมาเรียนคณะรัฐมนตรี ดังนี้
- ขอให้รัฐบาลเร่งปรับปรุงและพัฒนามาตรฐานการศึกษาใน จชต. ให้สามารถแข่งขันกับเยาวชนจากภาคอื่นๆ ได้ และหากไม่สามารถทำได้ในเร็ววัน ก็ขอให้มีการอะลุ่มอล่วยเป็นพิเศษให้กับเยาวชน จชต. ในการสอบ แข่งขันต่างๆ
- ขอให้จัดการอบรมทักษะการสอนให้ครู จชต. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสอนภาษาต่างประเทศ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์
- ขอให้รัฐบาลช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์ใน จชต. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทันตแพทย์ และสูตินรีแพทย์ และขอให้เพิ่มอัตราจำนวนแพทย์ฝึกหัดในโรงพยาบาล จชต.
- ขอให้รัฐมนตรีและคณะทูตมาเยี่ยมเยียนบ่อย ๆ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจและเพื่อรับฟังข้อเสนอแนะ/ปัญหาจากประชาชนโดยตรง
- ขอให้ช่วยประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชนทั่วประเทศไทยว่าชุมชนไทยพุทธและมุสลิมใน จชต. สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข มิได้มีความขัดแย้งทางด้านศาสนามาสร้างความแตกแยกระหว่างชุมชน
2.2 คณะเอกอัครราชทูตฯ ได้ขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้จัดการเยือนดังกล่าว ซึ่งทำให้รับทราบข้อมูลโดยตรงจากภาครัฐและประชาชน และเห็นว่าสถานการณ์ในพื้นที่ได้พัฒนาในทางที่ดีขึ้นตามลำดับ จชต. มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม อีกทั้งยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ เหมาะที่จะพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและวัฒนธรรม หากเพียงแต่ประชาชนใน จชต. ร่วมมือกับทางราชการในการดูแลไม่ให้เกิดการก่อความไม่สงบ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป
2.3 คณะเอกอัครราชทูตฯ รับทราบว่า ผู้นำศาสนาและผู้นำชุมชนในพื้นที่ให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาการศึกษาเป็นอย่างมาก โดยเห็นว่าเป็นหัวใจของการแกัไขปัญหาในระยะยาว และพร้อมที่จะสนับสนุนให้เยาวชนได้ศึกษาในสาขาสามัญ (อาทิ แพทย์ วิศวกรรม การบริหารจัดการ ฯลฯ) อย่างไรก็ดี คณะเอกอัครราชทูตฯ ย้ำว่า นานาประเทศพร้อมที่จะให้ทุนการศึกษาแก่ประเทศไทย โดยมิได้แบ่งแยกหรือมีเงื่อนไขพิเศษแก่เยาวชน จชต. เป็นการเฉพาะ
2.4 คณะเอกอัครราชทูตฯ เห็นว่า รัฐบาลได้ดำเนินการด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่มากกว่าที่ปรากฏเป็นข่าว และมีความตั้งใจและจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาโดยการนำการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาสู่ จชต. ในการนี้คณะเอกอัครราชทูตฯ บางประเทศ เช่น เยอรมนี ออสเตรเลีย แคนาดา ยินดีที่จะพิจารณาให้การสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่จะสามารถสนับสนุนแนวนโยบายด้านการพัฒนาของรัฐบาลได้ อาทิ ทุนการศึกษาแก่นักเรียน จชต. หลักสูตรอบรมครูด้านภาษาต่างประเทศ คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ การสัมมนา interfaith dialogue โครงการสัมมนาด้านการเสริมสร้างประชาธิปไตยและธรรมาภิบาล และโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวและนักประชาสัมพันธ์ท้องถิ่น
3. ข้อเสนอแนะ
3.1 กระทรวงการต่างประเทศจะประมวลความร่วมมือกับประเทศต่างๆ เกี่ยวกับ จชต. และกำกับดูแลให้ความร่วมมือต่าง ๆ ตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อประโยชน์ในการเสริมสร้างสันติภาพและการพัฒนาอย่างยั่งยืนใน จชต. โดยไม่เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของไทย
3.2 ในเรื่องการศึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ขอให้ประเทศต่างๆ กำหนดมาตรการวัดระดับความรู้ด้านภาษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาอารบิกและภาษาอังกฤษ ก่อนที่จะอนุญาตให้เดินทางไปศึกษาในต่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการหาสถานศึกษาไม่ได้เมื่อไปต่างประเทศแล้ว รวมทั้งปัญหาผลการเรียนตกต่ำเนื่องจากความไม่ชำนาญทางภาษา ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะประสานงานกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ จชต. และจะร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตต่างๆ จัดให้มีการสอนภาษาต่างประเทศอย่างเข้มข้นให้กับเยาวชน จชต. ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศด้วย
3.3 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เสนอให้มีการร่วมมือกับมิตรประเทศนำวิทยาการและผลการศึกษาการพัฒนาการเกษตรของประเทศไทย อาทิ การปลูกพืชทดแทน การแก้ปัญหาดินเปรี้ยว และหลักเศรษฐกิจพอเพียง ไปเผยแพร่ยังต่างประเทศ ซึ่งในเรื่องนี้ กระทรวงการต่างประเทศจะดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันส่งเสริมต่อไป
3.4 ควรเปิดพื้นที่ จชต. ต่อตลาดการท่องเที่ยวและการลงทุนในเชิงรุกมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบดีขึ้นมากแล้ว ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจซึ่งประชาชนในพื้นที่สัมผัสได้โดยตรงจากตลาดการท่องเที่ยวและการลงทุนน่าจะทำให้ประชาชนหันมาต่อต้านการก่อความไม่สงบมากขึ้น กอรปกับคณะเอกอัครราชทูตฯ ได้แสดงความสนใจส่งเสริมการท่องเที่ยวใน จชต. มากขึ้น ในการนี้อาจสนับสนุนให้มีการจัดการท่องเที่ยวแบบ managed tourism เพื่อเป็นการเปิดตลาดการท่องเที่ยว จชต. โดยแม่ทัพภาคที่ 4 รับจะให้ กอ.รมน. ภาค 4 ดูแลรักษาความปลอดภัยแก่คณะนักท่องเที่ยว โดยอาจเริ่มจากเทศกาลสำคัญต่างๆ หากประสบความสำเร็จในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทย ก็อาจพิจารณาจัดการท่องเที่ยวในลักษณะเดียวกันให้กับคณะนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย
3.5 โดยสรุป การจัดให้คณะเอกอัครราชทูตต่างประเทศ เดินทางไปเยือน จชต. เพื่อรับทราบสถานการณ์ในพื้นที่ด้วยตนเองโดยการจัดกำหนดการให้มีการพบปะแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับหน่วยงานพลเรือน หน่วยงานความมั่นคง ผู้นำชุมชน และภาคประชาสังคม ในลักษณะที่มีความสมดุล เป็นวิธีการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐบาลให้กับประชาคมระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะดำเนินการนำคณะทูต/องค์การระหว่างประเทศ ไปเยือนพื้นที่ จชต. โดยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่อย่างใกล้ชิดต่อไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554--จบ--