ขอความเห็นชอบร่างข้อกำหนดว่าด้วยเขตก่อสร้าง (Construction Zone)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 16, 2011 14:50 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขอความเห็นชอบร่างข้อกำหนดว่าด้วยเขตก่อสร้าง (Construction Zone) สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพ

แห่งที่ 4 เชียงของ-ห้วยทราย

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างข้อกำหนดว่าด้วยเขตก่อสร้าง (Construction Zone) สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพแห่งที่ 4 เชียงของ-ห้วยทราย ก่อนอธิบดีกรมทางหลวงในฐานะประธานกรรมการประสานงานโครงการ (PCC) เป็นผู้ลงนามฝ่ายไทยตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงคมนาคมรายงานว่า

1. รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่ง สปป.ลาว ได้ลงนามความตกลงว่าด้วยการก่อสร้างสะพานมิตรภาพ แห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดพื้นฐานความเข้าใจและความร่วมมือที่จำเป็นสำหรับการก่อสร้างสะพาน

2. ตามข้อ 5 ของความตกลงฯ กำหนดให้กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบสำหรับโครงการฯ ฝ่ายไทย และกรมขัวทาง กระทรวงโยธาธิการและขนส่งเป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบสำหรับโครงการฯ ฝ่ายลาว และข้อ 11 ของความตกลงฯ กำหนดให้คณะกรรมการบริหารจัดการโครงการ (PMC) ทั้งสองฝ่ายกำหนดเขตก่อสร้างขึ้นตามความจำเป็นต่องานก่อสร้าง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การเคลื่อนย้ายบุคลากร ยานพาหนะ เครื่องจักร อุปกรณ์งานก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง ตลอดจนสิ่งของและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างและใช้งานอยู่ภายในพื้นที่ก่อสร้างดังกล่าว สามารถดำเนินการได้โดยสะดวกรวดเร็วและไม่เป็นอุปสรรคต่องานก่อสร้าง ซึ่งคณะกรรมการบริหารจัดการโครงการของ ทั้งสองฝ่ายจะเสนอให้ประธานกรรมการประสานงานโครงการของแต่ละฝ่ายร่วมลงนามในข้อกำหนดว่าด้วยเขตก่อสร้าง

3. กรมทางหลวงได้ลงนามสัญญาจ้างเหมาทำการก่อสร้างสะพานมิตรภาพแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) เมื่อเดือนมิถุนายน 2553 โดยกำหนดให้ผู้รับจ้างเริ่มงานวันที่ 11 มิถุนายน 2553 ดังนั้น จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ฝ่ายไทย และฝ่ายลาวจะต้องจัดทำข้อกำหนดฯ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายบุคลากร ยานพาหนะ เครื่องจักร อุปกรณ์งานก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง ตลอดจนสิ่งของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้าง

4. กรมทางหลวงได้ประสานงานกับกรมขัวทาง กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว เพื่อจัดทำร่างข้อกำหนดฯ เป็นสองภาษา (ภาษาไทยและภาษาลาว) ที่มีข้อความตรงกัน ซึ่งฝ่ายลาวได้พิจารณาร่างข้อกำหนดฯ ฉบับภาษาลาวตามขั้นตอนภายในเสร็จเรียบร้อยแล้ว

5. กรมทางหลวงได้ขอความร่วมมือจากกรมสนธิสัญญาและกฎหมายกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ในการพิจารณาให้ข้อคิดเห็นต่อร่างข้อกำหนดฯ ซึ่งกรมสนธิสัญญาและกฎหมายแจ้งผลการพิจารณาว่า ไม่มีข้อขัดข้องในสารัตถะของร่างข้อกำหนดฯ ดังกล่าว และเสนอให้ปรับปรุงข้อความบางส่วนใน “ข้อ 3 กฎหมายที่เกี่ยวข้อง” ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น สำหรับประเด็นที่ว่า ร่างข้อกำหนดฯ จะเข้าข่ายที่ต้องดำเนินการตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือไม่ กรมสนธิสัญญาและกฎหมายมีความเห็นว่าร่างข้อกำหนดฯ ดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดการบริหารจัดการภายในบริเวณเขตก่อสร้างฯ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามความตกลงฯ ที่ได้จัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 และมิได้ก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศแยกต่างหาก ดังนั้น แม้ว่าจะมีการลงนามในร่างข้อกำหนดฯ ก็ไม่ทำให้ร่างข้อกำหนดฯ เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่น่าจะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฯ แต่โดยที่ร่างข้อกำหนดฯ อาจมีผลผูกพันรัฐบาลไทยในเชิงนโยบาย จึงควรนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนลงนาม

6. ในส่วนของข้อเสนอของกรมสนธิสัญญาและกฎหมายที่ให้ปรับปรุงข้อความบางส่วนใน “ข้อ 3 กฎหมายที่เกี่ยวข้อง” ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น นั้น กรมทางหลวงได้มีหนังสือถึงกรมสนธิสัญญาและกฎหมายแจ้งว่า เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2553 คณะเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงได้หารือกับคณะเจ้าหน้าที่กรมขัวทาง กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว ฝ่ายลาวยืนยันที่จะใช้ข้อความเดิมซึ่งได้ผ่านการพิจารณาตามขั้นตอนภายในของฝ่ายลาวจนแล้วเสร็จ และข้อความที่ได้ปรับปรุงของฝ่ายไทยแม้จะมีความกระชับยิ่งขึ้น แต่ก็มิได้เปลี่ยนแปลงจากข้อความเดิมในสาระสำคัญแต่อย่างใด และข้อกำหนดฯ นี้จะทำขึ้นเป็นสองภาษา (ภาษาไทยและภาษาลาว) ที่มีข้อความตรงกัน หากฝ่ายไทยยืนยันให้มีการแก้ไขฝ่ายลาวจะต้องนำเสนอผ่านการพิจารณาตามขั้นตอนภายในของแต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง ซึ่งจะต้องใช้เวลามาก กรมทางหลวงพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อความที่ฝ่ายไทยและฝ่ายลาวได้ร่วมกันยกร่างขึ้นได้เคยนำมาใช้ในโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 มุกดาหาร-สะหวันนะเขต ซึ่งปัจจุบันได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ และโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 นครพนม-คำม่วน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และข้อความที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมายเสนอก็มิได้เปลี่ยนแปลงจากข้อความเดิมในสาระสำคัญแต่อย่างใด กรมทางหลวงจึงขอใช้ข้อความเดิมที่ฝ่ายไทยและฝ่ายลาวได้ร่วมกันยกร่าง ทั้งนี้ เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายสามารถลงนามร่างข้อกำหนดฯสำหรับโครงการฯ ได้โดยเร็ว เนื่องจากโครงการฯ ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2553 แต่ยังไม่สามารถเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวเพื่อการก่อสร้างได้ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจะต้องใช้ข้อกำหนดฉบับนี้เป็นเอกสารประกอบการพิจารณาเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราว และจะสิ้นสุดการบังคับใช้เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ

7. กรมสนธิสัญญาและกฎหมายแจ้งผลการพิจารณาว่า หากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้วสามารถยอมรับถ้อยคำในร่างข้อกำหนดดังกล่าวได้ และทั้งสองฝ่ายมีความเข้าใจถูกต้องตรงกัน กรมสนธิสัญญาและกฎหมายก็ไม่มีข้อขัดข้องประการใด

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ