ขออนุมัติลงนามและดำเนินการให้สนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 16, 2011 14:59 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขออนุมัติลงนามและดำเนินการให้สนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านว่าด้วยการโอนตัว

ผู้ต้องคำพิพากษาและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา (สนธิสัญญาโอนตัวนักโทษ) มีผลใช้บังคับ

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอดังนี้

1. เห็นชอบร่างสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านว่าด้วยการโอนตัวผู้ต้องคำพิพากษาและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา (สนธิสัญญาโอนตัวนักโทษ) และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแล้วแต่กรณี ลงนามสนธิสัญญาฯ

2. ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการให้สนธิสัญญาฯ มีผลใช้บังคับในโอกาสอันเหมาะสมตามแต่จะตกลงกับฝ่ายอิหร่านต่อไป

3. หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างสนธิสัญญาฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญก่อนมีการลงนาม ขอให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง

สาระสำคัญในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

ร่างสนธิสัญญาฯ มีเนื้อหาสาระเช่นเดียวกับสนธิสัญญาประเภทนี้ที่ประเทศไทยจัดทำกับประเทศต่างๆ โดยกำหนดเงื่อนไขและขั้นตอนในการขอโอนและการรับโอนตัวผู้ต้องคำพิพากษาระหว่างรัฐภาคี สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. ผู้ต้องคำพิพากษาที่ถูกพิพากษาลงโทษในดินแดนของภาคีฝ่ายหนึ่งอาจถูกโอนตัวไปยังดินแดนของภาคีอีกฝ่ายหนึ่งได้เพื่อรับโทษที่เหลืออยู่ซึ่งตนถูกพิพากษาต่อไป

2. ผู้ต้องคำพิพากษาอาจถูกโอนตัวได้ถ้าถูกพิพากษาลงโทษจำคุกกักขัง หรือการทำให้สูญเสียอิสรภาพในรูปแบบอื่นใด

3. หากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำอันเป็นมูลเหตุของการมีคำพิพากษาให้ลงโทษเป็นความผิดทางอาญาตามกฎหมายของรัฐผู้รับ

4. ผู้ต้องคำพิพากษาที่อาจถูกโอนตัวต้องเป็นคนชาติของรัฐผู้รับและมิได้เป็นคนชาติของรัฐผู้โอน

5. รัฐผู้โอน รัฐผู้รับ และผู้ต้องคำพิพากษาต่างตกลงต่อการโอนตัว

6. ผู้ต้องคำพิพากษาซึ่งกระทำความผิดต่อความมั่นคงภายในและภายนอกของรัฐ ต่อประมุขของรัฐ หรือสมาชิกครอบครัวของประมุขของรัฐ หรือต่อกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสมบัติที่มีค่าทางศิลปะของชาติ จะไม่ได้รับการโอนตัว

7. หากกฎหมายของรัฐผู้รับโอนกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำในการจำคุก กักขัง หรือการทำให้สูญเสียอิสรภาพในรูปแบบอื่นใด ผู้ต้องคำพิพากษาที่อาจถูกโอนตัวจะต้องได้รับโทษในรัฐผู้โอนมาแล้วเป็นระยะเวลาขั้นต่ำตามที่กำหนด

8. ผู้ต้องคำพิพากษายังคงเหลือระยะเวลาในการรับโทษตามคำพิพากษาอีกอย่างน้อย 1 ปี ในขณะที่ได้รับคำร้องขอให้โอนตัว

9. รัฐผู้โอนยังคงไว้ซึ่งเขตอำนาจแต่ผู้เดียวกับคำพิพากษาของรัฐผู้โอน รวมทั้งโทษตามคำพิพากษาที่กำหนดโดยศาลของรัฐผู้โอนในการที่จะแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกคำพิพากษาของศาลตน

10. การบังคับโทษตามคำพิพากษาต่อภายหลังการโอนตัว ให้เป็นไปตามกฎหมายและวิธีการของรัฐผู้รับ

11. สนธิสัญญาฉบับนี้จะเริ่มมีผลใช้บังคับในวันที่สามสิบนับจากวันที่ภาคีฝ่ายที่ได้รับแจ้งล่าสุดได้รับแจ้งผ่านช่องทางการทูตว่าภาคีอีกฝ่ายหนึ่งได้ปฏิบัติตามมาตรการที่จำเป็นตามกฎหมายภายในของตนเพื่อการมีผลใช้บังคับของสนธิสัญญานี้

ผลประโยชน์ที่จะได้รับ

เมื่อมีผลใช้บังคับสนธิสัญญาฉบับนี้จะส่งผลให้นักโทษไทยซึ่งจำคุกอยู่ที่สาธารณรัฐอิสลามอิหร่านอาจได้รับการโอนตัวให้กลับมารับโทษตามคำพิพากษาของศาลอิหร่านต่อที่ประเทศไทยหากเข้าข่ายหลักเกณฑ์ตามที่สนธิสัญญาฯ กำหนด และนักโทษอิหร่านซึ่งจำคุกอยู่ในประเทศไทยอาจได้รับการโอนตัวไปรับโทษตามคำพิพากษาของศาลไทยที่ประเทศอิหร่านหากเข้าข่ายหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาฯ และพระราชบัญญัติเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินการตามคำพิพากษาคดีอาญา พ.ศ. 2527 (แก้ไข พ.ศ. 2530)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ