คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลดัชนีราคาและผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนมกราคม 2554 และแนวโน้มเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สาระสำคัญของเรื่อง
ภาพรวมราคาสินค้าเกษตรของเดือนมกราคม 2554 เปรียบเทียบกับเดือนเดียวกัน ของปีที่ผ่านมา พบว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตร สูงขึ้น ร้อยละ 26.34 ซึ่งสูงขึ้นในทุกกลุ่มสินค้า โดยสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา สับปะรดโรงงาน หอมแดง และปาล์มน้ำมัน โดยอ้อยโรงงาน ราคาสูงขึ้น เนื่องจาก ราคาน้ำมันดิบของโลกที่สูงขึ้น ทำให้อ้อยโรงงาน ที่เป็นพืชพลังงานทดแทนราคาขึ้น ประกอบกับผลผลิตของโลกลดลงจากภัยธรรมชาติ มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาสูงขึ้น เนื่องจาก ปัญหาขาดแคลนธัญพืชโลก ทำให้มีความต้องการใช้เพื่อทดแทนธัญพืชอื่นมากขึ้น ยางพารา ราคาสูงขึ้น เนื่องจาก ความต้องการของอุตสาหกรรมรถยนต์มีมากขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวประกอบกับราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น สับปะรดโรงงาน ราคาสูงขึ้น เนื่องจาก ราคาส่งออกผลิตภัณฑ์สับปะรดปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ประกอบกับผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง หอมแดง ราคาสูงขึ้น เนื่องจาก ผลผลิตเพิ่งออกสู่ตลาด ประกอบกับตลาดต่างประเทศมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น และปาล์มน้ำมัน ราคาสูงขึ้น เนื่องจาก ผลผลิตออกสู่ตลาดค่อนข้างลดลงมาก เป็นผลจากภาวะภัยแล้ง และน้ำท่วมประกอบกับความต้องการภายในประเทศยังคงมีมาก ส่วนสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ หอมหัวใหญ่ เนื่องจาก ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับ เดือนธันวาคมที่ผ่านมา ดัชนีราคา สูงขึ้น ร้อยละ 6.79 โดยสินค้าที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ อ้อยโรงงาน ราคาสูงขึ้น แม้ว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมาก แต่ราคาปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกที่สูงขึ้น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาสูงขึ้น เนื่องจาก ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงเพราะเป็นช่วงปลายฤดูกาล ยางพารา ราคาสูงขึ้น เนื่องจาก ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ และผู้ส่งออกแข่งขันกันรับซื้อยางเข้าสต๊อก ขณะที่ผลผลิตยางพาราไม่เพียงพอ จึงเสนอราคาซื้อขายในระดับสูง หอมแดง ราคาสูงขึ้น เนื่องจาก ตลาดต่างประเทศมีความต้องการมากขึ้น ปาล์มน้ำมัน ราคาสูงขึ้น เนื่องจาก ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง และไก่เนื้อ ราคาสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการบริโภคปรับตัวสูงขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศ ส่วนสินค้า ที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ สับปะรดโรงงาน ราคาลดลง เนื่องจาก โรงงานแปรรูปหลายแห่งหยุดในช่วงเทศกาลปีใหม่ ในเดือนกุมภาพันธ์ คาดว่าดัชนีราคาจะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจาก ราคายางพารามีแนวโน้มสูงขึ้น จากความต้องการที่ยังคงเพิ่มขึ้น ก่อนยางผลัดใบ ถึงแม้ราคาปาล์มน้ำมันจะมีแนวโน้มลดลงจากการนำเข้าน้ำมันปาล์ม
ภาพรวมด้านการผลิตสินค้าเกษตร เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ดัชนีผลผลิต สูงขึ้น ร้อยละ 3.25 สินค้าสำคัญที่ผลผลิตสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา สับปะรดโรงงาน กระเทียม หอมหัวใหญ่ และไก่เนื้อ ส่วนสินค้าที่ผลผลิต ลดลง ได้แก่ หอมแดง และปาล์มน้ำมัน และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ดัชนีผลผลิต ลดลง ร้อยละ 31.73 สินค้าสำคัญที่ผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรดโรงงาน สุกร ไก่เนื้อและไข่ไก่ ส่วนสินค้าที่ผลผลิต สูงขึ้น ได้แก่ อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง และยางพารา ในเดือนกุมภาพันธ์ คาดว่าผลผลิตในภาพรวมจะยังคงสูงขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา เพราะมีผลผลิตสินค้าสำคัญหลายชนิดออกสู่ตลาดมากขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรัง อ้อยโรงงาน หอมแดง หอมหัวใหญ่ กระเทียม และมันฝรั่ง
ผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากในเดือนกุมภาพันธ์ ได้แก่ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน หอมแดง หอมหัวใหญ่ กระเทียม และมันฝรั่ง คิดเป็นร้อยละ 20.23 27.34 15.98 31.91 23.06 และ 23.14 ของผลผลิตทั้งหมด ตามลำดับ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554--จบ--